สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
ถาม-ตอบ

ปรอทปนมาทางนมแม่ได้หรือไม่

ทำlab ปิโตรเคมี แล้วตัวอย่างที่วิเคราะห์มีค่า ปรอทประมาณ20 ppbไม่ทราบว่าจะปนมาในนมแม่หรือไม่ (สวม ppe และหน้ากากกันสารปรอท )

โดย:  supatta   [16 ต.ค. 2556 21:11]
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก:  เมนูนานาสาระ และหมวด พิษวิทยา  /  โลหะหนัก  /  สารเคมีในสถานประกอบการและความปลอดภัยในการทำงาน
ข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจะแสดงในกรอบสีเขียว ส่วนข้อคิดเห็นหรือความเห็นจากผู้อื่นจะแสดงในกรอบปกติ
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

เรียน คุณSupatta,

ผมขออนุญาตินำเสนอข้อมูลด้านพิษวิทยาของปรอท จากศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา โดยคุณ จิราภรณ์ อ่ำพันธ์ (ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พิษณุโลก) ดังนี้ครับ

ปรอทเป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิปกติ สามารถทำให้เป็นของแข็งได้แต่เปราะที่อุณหภูมิปกติ ปรอทสามารถระเหิดกลายเป็นไอได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่ายขึ้น

ประโยชน์ของปรอท
     - ใช้ในการทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ ปั๊มดูดอากาศ และเครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิต
     - ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เช่น สวิตช์อัตโนมัติสำหรับตู้เย็นและไฟฟ้ากระแสตรง
     - สารประกอบของปรอทใช้ในการทำวัตถุระเบิด
     - ซัลไฟด์ของปรอทใช้ทำสีแดงในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา
     - ออกไซด์ของปรอทใช้ในการทำสี เพื่อป้องกันมิให้แตกและลอกง่าย สำหรับนำไปใช้ทาใต้ท้องเรือ
     - ปรอทเป็นตัวทำละลายที่ดีสำหรับโลหะบางชนิด สารละลายที่ได้เรียกว่าอะมาลกัม ดีบุกอะมาลกัมใช้ในการทำกระจกเงา เงิน-ดีบุกอะมาลกัมใช้เป็นวัสดุในการอุดฟัน โดยผสมปรอทกับโลหะผมระหว่างเงินกับดีบุก
     - ใช้ในอุตสาหกรรมทำหมวกสักหลาด

การเข้าสู่ร่างกาย
     ปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง เช่นเดียวกับสารพิษชนิดอื่นๆ คือ
     1.ทางการหายใจ โดยสูดเอาผง หรือไอปรอทเข้าสู่ปอด เนื่องจากปรอทสามารถระเหิดกลายเป็นไอได้ง่าย
     2.ทางปาก โดยการรับประทานเข้าไป มักเกิดจากอุบัติเหตุปะปนกับอาหารหรือน้ำดื่ม
     3.ทางผิวหนัง โดยการดูดซึม ไอระเหยหรือฝุ่นละอองของปรอททำให้ผิวหนังระคายเคืองเกิดโรคผิวหนังได้


พิษของปรอท
     ปรอทจะทำอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และปัจจัยดังนี้
     1.ทางที่พิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางผิวหนัง ทางระบบหายใจ หรือทางระบบย่อยอาหาร
     2.ปริมาณที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย
     3.ชนิดของสารปรอทที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและอวัยวะส่วนใดของร่างกายที่ได้รับพิษของปรอทในรูปเมทธิลหรืออัลคิล เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีพิษมากที่สุด


อาการพิษเกิดจากปรอท
     การเกิดพิษจากสารปรอทมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง พิษชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากอุบัติเหตุโดยการกลืนกินสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งปริมาณปกติที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและทำให้คนตายได้ โดยเฉลี่ยประมาณ 0.02 กรัม อาการที่เกิดจากการกลืนกินปรอท คือ
     -อาเจียน ปากพอง แดงไหม้ อักเสบและเนื้อเยื่ออาจหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ
     -เลือดออก ปวดท้องอย่างแรง เนื่องจากปรอทกัดระบบทางเดินอาหาร
     -มีอาการท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระเป็นเลือด
     -เป็นลม สลบเนื่องจากร่างกายเสียเลือดมาก
     -เมื่อเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ปรอทจะไปทำลายไต ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด
     -ตายในที่สุด


พิษชนิดเรื้อรัง
     ปรอทเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด และยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ซึ่งอันตรายเหล่านี้ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้กลับดีดังเดิมได้ อาการที่เป็นพิษมากเกิดจากการหายใจ ปอดอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกและตายได้


การป้องกันอันตรายจากปรอท
     -ใช้สารอื่นที่เป็นพิษน้อยกว่าแทนสารปรอท เช่น ใช้สารแอมโมเนียของเงินแทนสารประกอบของปรอทในการทำกระจกเงา
     -ในกรณีที่มีการรั่วของปรอทให้นำภาชนะที่มีน้ำมารองรับเพื่อป้องกันการระเหิดของปรอท
     -สวมเสื้อคลุมและถุงมือ เมื่อต้องจับหรือสัมผัสปรอท
     -จัดให้มีการระบายอากาศในบริเวณที่ต้องใช้ปรอทเพื่อดูดเอาไอของปรอทที่กระจายอยู่ในบรรยากาศออกไปและทำการกักเก็บมิให้ฟุ้งกระจายไปยังที่อื่น เพื่อให้อากาศในบริเวณพื้นที่ใช้งานบริสุทธิ์ หรือควรมีการกำจัดปรอทอินทรีย์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง
     -ตรวจสอบหาปริมาณของปรอทในบรรยากาศบริเวณใช้งานให้อยู่ในมาตรฐานที่ควบคุมอยู่เสมอ
     -สารปรอทและสารประกอบของปรอทควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหิดของปรอท


ผมขอเสริมอีกเล็กน้อยครับ เท่าที่ทราบคือการกำจัดปรอทออกจากร่างกายนั้นเป็นไปได้ยาก คือมีการตกค้างในร่างกาย ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยง ไม่สัมผัสมันจะเป็นวิธีป้องกันอันตรายที่ดีที่สุด และปรอทก็สามารถปะปนออกมาทางน้ำนมได้ด้วยครับ
แต่ คุณSupattaไม่ต้องกังวลจนเกินไปนะครับ เพราะดูๆแล้ว คุณน่าจะป้องกันตัวเองดีพอควรแล้ว ยิ่งกว่านั้น source ของมันก็มีปริมาณต่ำมาก ผมเชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลต่อคุณนะครับ อย่างไรก็ตาม อย่าประมาท และไม่สัมผัสมัน จะดีที่สุดครับ

โชคดีครับ คุณSupatta
Prasit

โดย:  Prasit  [17 ต.ค. 2556 02:22]
ข้อคิดเห็นที่ 1 ของผู้ทรงคุณวุฒิ :2

ปรอทสามารถออกมาในนมแม่ได้ แต่ในปริมาณที่ไม่สูงกว่าในเลือด
เช่นเวลาตั้งครรภ์ ทารกสามารถได้รับปรอทในปริมาณที่สูงเท่ากับในเลือดแม่หรือมากกว่า แต่เมื่อคลอดออกมาแล้วกินนมแม่ก็จะได้รับปรอทแต่ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ นมแม่จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของการได้รับสารปรอทในทารก
การที่พบปรอทในสารที่นำมาตรวจบอกไม่ได้ว่าคุณมีปรอทในเลือดเท่าไหร่ ควรตรวจเลือดดู ซึ่งควรเป็นแนวการปฏิบัติของแลบที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

โดย:  นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ กรมควบคุมโรค  [18 ต.ค. 2556 21:53]
ข้อคิดเห็นที่ 2:3

 ขอบคุณมากค่ะสำหรับทุกคำตอบ ตอนนี้คลายความกังวลไปเยอะเลยค่ะ

โดย:  supatta  [21 ต.ค. 2556 15:01]
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

ถ้าเราต้องการตรวจสอบสารปรอทในเครื่องสำเองที่เราใช้สามารถทำการตรวจสอบได้ด้วยตนเองไหมค่ะ หรือสามารถหาซื้ออุปกรณ์มาตรวจสอบเองได้ไหม หรือส่งตัวอย่างให้หน่วยงานใดตรวจสอบได้บ้าง

โดย:  Ratchada  [19 ม.ค. 2565 03:09]
หากท่านต้องการถามคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อคำถามนี้ กรุณากดปุ่มนี้

หากท่านต้องการแสดงข้อคิดเห็นหรือแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในประเด็นเดียวกับหัวข้อนี้ ให้กรอกข้อมูล แล้วกดปุ่มส่งข้อความด้านล่างนี้