สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เรียนรู้จากข่าว

มังกรสวรรค์ – สุพรรณบุรี

ผู้เขียน: รศ.สุชาตา ชินะจิตร
วันที่: 1 ก.พ. 2555


           เกิดโศกนาฏกรรมพลุระเบิดในพิธีเปิดงาน เทศกาลตรุษจีน “สุพรรณบุรีมหัศจรรย์ 4 ปี มังกรสวรรค์” ของค่ำคืนวันที่ 24 ม.ค. 2555 ตามข่าวจากโพสต์ทูเดย์ 29 ม.ค. 2555 งานนี้ได้คร่าชีวิตประชาชนไป 4 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน บ้านเรือนพังเสียหาย 700 หลัง

          เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตามที่เคยเขียนเป็น “เรียนรู้จากข่าว” ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบว่า จากการเล่นพลุและดอกไม้ไฟ มีการบาดเจ็บจนต้องมารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน 13,000 รายต่อปี โดยร้อยละ 40 เป็นการบาดเจ็บในเด็กต่ำกว่า 15 ปี ที่เกิดการบาดเจ็บที่มือ นิ้วขาด หรือที่ตาทำให้ตาบอด รวมทั้งเกิดแผลไฟไหม้ด้วย พลุหรือดอกไม้ไฟเป็นวัตถุระเบิดประเภทหนึ่งที่ใช้จุดเพื่อความรื่นเริง บันเทิงใจตระการตาในโอกาสต่างๆ ถ้าจะมองประโยชน์เชิงยุทโธปกรณ์ก็ได้ว่าเป็นอุปกรณ์ส่องสว่างเพื่อนำทางหรือบอกตำแหน่ง ส่วนประกอบหลักๆ อาจมี ดินปืน ดินประสิว ดินกลาง กำมะถัน ดินเทา ซึ่งเป็นผงอะลูมิเนียมผสมกับโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต หรือโปแตสเซียมไนเตรด หรือโปแตสเซียมคลอเรตเป็นตัวออกซิไดซ์ ส่วนประกอบเหล่านี้เป็นตัวขับส่งพลุ หรือดอกไม้ไฟให้ออกไปได้ไกลๆ มีผงถ่าน หรือ น้ำตาล หรือ แป้ง เป็นเชื้อเพลิง สีที่ทำให้พลุดูสวยงามมีประกายเจิดจ้า ก็มาจากโลหะหนักที่ผสมอยู่ เช่น อะลูมิเนียมและแมกนีเซียมให้ประกายสีขาว – เงิน แบเรียม ให้สีเขียว ทองแดงให้สีเขียวแกมน้ำเงิน ฯลฯ

          เมื่อมันมีความเป็นอันตรายจึงมีการกำหนดกฏเกณฑ์ของการผลิต การใช้ การครอบครองขึ้นมา ประเทศไทยมี พรบ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ พรบ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อีกทั้งยังมีประกาศหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547 เป็นต้น เท่าที่ลองดูกฎหมายของประเทศอื่นก็เห็นมีการกำหนดมาตรการ และเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในหลายๆ แห่ง เช่น ของอังกฤษ เขากำหนดว่าถ้าการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ ประเภท การแสดง display คนดูจะต้องมีระยะห่างจากตัวพลุที่จุด 25 เมตร เป็นต้น

          นอกจากมุมมองด้านอันตรายจากอุบัติเหตุแล้ว น่าคิดว่า ในเมื่อส่วนประกอบของพลุมีดังกล่าวข้างต้นแล้ว เมื่อจุดแล้วเกิดควัน ฝุ่นก็ย่อมมีผลต่อระบบหายใจ โดยเฉพาะคนที่มีอาการหอบหืดอยู่แล้ว โลหะและสารพิษอื่นๆก็น่าจะมีผลอื่นๆ ด้วย แม้ว่าจะน้อยนิด เช่น ไปกระตุ้นให้เกิดการแพ้หรือไวต่อการแพ้อื่นๆ ตามมา (multiple chemical sensitivity) มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของรัฐโอคลาโอมา สหรัฐอเมริกา ที่บ่งบอกว่า การปนเปื้อนเปรอ์คลอเรต (ซึ่งเป็นส่วนผสมหนึ่ง) ทำให้ ชะลอหรือยับยั้งการรับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ และการปนเปื้อนในการศึกษานี้ของเขาพบว่า ภายใน 14 ชั่วโมงหลังจากการจุดพลุ ระดับของเปอร์คลอเรต เพิ่มในสิ่งแวดล้อมจาก 24 เป็น 1028 เท่าของระดับปกติพื้นฐาน (background level) เหล่านี้เมื่อสะสมมากเข้าก็อาจจะเป็นผลต่อการปนเปื้อนในน้ำฝน ในดิน ในแหล่งน้ำด้วย

          แม้ว่าผลการศึกษาในบ้านเราอาจไม่มีตัวเลขชัดๆ ด้านมลพิษ ก็น่าคิดกันว่า ด้านสถิติอุบัติเหตุเพียงพอให้เห็นแล้วหรือไม่ ด้านมลพิษก็ไม่น่าจะละเลยไปได้ คนอยู่ในบริเวณนั้นสำลักควันกันไป แล้วเราจะจุดพลุกันไปทำไมให้อากาศเกิดการปนเปื้อนโดยไม่จำเป็น กระนั้นหรือ แนวโน้มปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เทศกาลจุดพลุก็มีบ่อยขึ้น ความยิ่งใหญ่ของพลุก็มากขึ้นทุกวัน มลภาวะก็น่าจะเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวกระมัง
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Aluminium
Barium
Copper
Magnesium
Potassium perchlorate
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

Awesome you soulhd think of something like that

โดย:  Nofal  [22 ก.พ. 2555 01:36]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:3

It's great to find an expert who can explain tnhgis so well

โดย:  Oscar  [1 มี.ค. 2555 11:36]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น