สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

การค้า VS สิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา  ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 มี.ค. 2549
            กระแสหลักของการพัฒนาในยุคนี้ เป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย หากแต่ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นข้ามพรมแดน (trans boundary issue) ประชาคมโลกจึงต้องหันหน้ามาช่วยกันคิด จนกระทั่งเกิดเป็นแผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) ที่สืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (Earth Summit) ณ ประเทศบราซิลในปี พ.ศ. 2535 ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multi - lateral Environmental Agreements : MEAs) หลายฉบับเกิดขึ้นจากการประชุมดังกล่าว เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลายหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เป็นต้น
           
            ต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์การค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งมีความตกลงด้านการค้าแนบท้ายผูกพันประเทศที่เป็นสมาชิก WTO อีก 14 ฉบับ เช่น ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade - Related Intellectual Property Rights) ความตกลงว่าด้วยการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) เป็นต้น
 
            ไม่เพียงแต่มีพันธะสัญญาแบบพหุภาคีเท่านั้น ยังมีมาตรการแบบฝ่ายเดียว (Unilateral Measures) ที่มักถูกกำหนดขึ้นโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electric Equipment : WEEE) ของสหภาพยุโรป (EU) และที่กำลังจะบังคับใช้ปีหน้า (พ.ศ. 2550) คือ ระเบียบว่าด้วยระบบการจัดการสารเคมี REACH ซึ่งย่อมาจาก Registration , Evaluation and Authorization of Chemicals. ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการค้าขายระหว่างประเทศและการดูแลจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย ยิ่งกว่านั้นการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี (FTA) ที่ไทยกำลังเปิดเจรจากับประเทศต่างๆ ก็เป็นนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อรัฐสภา การเจรจา FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลง FTA ที่ประเทศไทยทำกับประเทศพัฒนาแล้ว มิได้มีแต่เรื่องการปรับลดภาษีศุลกากรเท่านั้น แต่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางทั้งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการค้าบริการ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องการลงทุน ฯลฯ ในกรณีการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐ มีหัวข้อการเจรจารวมทั้งสิ้น 23 เรื่อง
 
            จะเห็นได้ว่าความตกลงดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวโยงส่งผลกระทบต่อกันและต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม สกว. จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ วิเคราะห์ปัญหาคาดการณ์สถานการณ์ โดยสนับสนุนโครงการ WTO WATCH โดย ศ. รังสรรค์ ธนพรพันธ์ และโครงการหน่วยจัดการความรู้ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์สากล นำโดย คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและวิเคราะห์แนวโน้มของการกำหนดกติกา มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการด้านการค้า ที่มิใช่ภาษี (Non - Tariff Barriers : NTB) ในเวทีระหว่างประเทศ ให้มีการสั่งสมความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร องค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำหนดท่าทีการเจรจา และกำหนดนโยบายของไทยด้านการค้าและด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สื่อสารทำความเข้าใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปบนพื้นฐานข้อมูลความรู้ทางวิชาการ
 
            นอกจากการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวแล้ว สกว. ได้สนับสนุนงานวิจัยเชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าด้วย เช่น โครงการศึกษาทบทวนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Review) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย - สหรัฐ โดยท่านผู้หญิง ดร. สุธาวัลย์ เสถียรไทย จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) ผลการศึกษาได้ช่วยเปิดประเด็นสิ่งแวดล้อมในการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐให้แก่ทีมเจรจา นอกจากนั้นภายใต้กรอบของโครงการยังได้เจาะลึกเป็นรายสินค้า คือ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นสินค้าเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาด้วย ทำให้ผลการศึกษาได้มีส่วนช่วยประกอบการเจรจาของฝ่ายไทย
 
            พิธีสารเกียวโตได้ทำให้ปริมาณการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก (GHG) ที่ลดลงเป็นเสมือนสินค้าชนิดใหม่ (New market) หรือที่เรียกว่า Carbon Credit  ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วสามารถร่วมทำกิจกรรมการลดการปล่อย GHG กับประเทศกำลังพัฒนาได้ โดยนำ Carbon credit ที่ได้มาใช้ในการแสดงการลดการปลดปล่อย GHG ของตนเอง หรือขายให้กับประเทศที่ต้องการลดการปลดปล่อย โดยถือหลักว่าการลดการปลดปล่อย GHG ที่ใดก็ตามในโลกย่อมเป็นการช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้เหมือนกัน กลไกนี้เรียกว่า Clean Development Mechanism : CDM ซึ่งหมายความว่าประเทศพัฒนาแล้วไม่จำเป็นต้องลดการปลดปล่อย GHG ของตนเอง แต่ใช้การจ่ายเงินซื้อ Carbon credit จากประเทศกำลังพัฒนา งานวิจัยของ สกว. เกี่ยวกับ CDM ก็เพื่อเสนอเกณฑ์การพิจารณาโครงการ CDM  ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยจากความร่วมมือให้มากที่สุด การปลูกป่าเป็นโครงการที่ลด GHG ได้มาก แต่ไทยสามารถทำเองได้ต้นทุนก็ต่ำ และไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงกิจกรรมนี้จึงไม่อยู่ในข่ายของโครงการ CDM ที่ไทยควรจะรับได้
 
            การติดตามความเคลื่อนไหวของ EU REACH เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งและต้องทำให้เกิดความตื่นตัวทั้งของภาครัฐฯ และเอกชน สกว. จึงได้สนับสนุนให้หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา และ คุณรดาวรรณ ศิลปโภชากุล จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นผู้ติดตามสถานการณ์ของ REACH เปิดเป็น Website – REACH WATCH (www.chemtrack.org) ชี้ประเด็นและให้ข่าวคราวงานวิจัย นอกจากนั้น สกว. ยังได้สนับสนุนการศึกษาผลกระทบของ REACH ต่ออุตสาหกรรมบางประเภท ได้แก่ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกไป EU สูง อีกทั้งยังมีสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย การศึกษาจะบอกถึงความรุนแรงของผลกระทบและชี้ทางออกให้ ทางด้านกฎหมายก็มีการศึกษาว่ากฎหมายและมาตรการของไทยที่ดูแลเรื่องสารเคมีอยู่ขณะนี้รองรับมาตรการ REACH ได้หรือไม่อย่างไร สมควรจะต้องปรับเพื่อนำส่วนดีของ REACH มาประยุกต์ได้หรือไม่ ปัญหาการส่งออกไปยัง EU หรือที่อื่นๆ ที่มีมาตรฐานสูงกว่าของไทย ยังมีเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากำกับอีกด้วย REACH กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนและการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยกำกับสินค้าไปด้วย สกว. จึงได้สนับสนุนอีกโครงการหนึ่งคือ การศึกษาศักยภาพของห้องปฏิบัติการทั้งของภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อเสนอเป็นนโยบายในการยกระดับมาตรฐานและการรับรองห้องปฏิบัติการที่เป็นที่ยอมรับ อันจะส่งผลให้การส่งออกไม่มีปัญหาซึ่งก็หมายถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั่นเอง
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น