สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

สิ่งแวดล้อมกับการค้าเกื้อกูลกันได้จริงหรือ

ผู้เขียน: รศ. สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 1 มิ.ย. 2546

            การเปิดกว้างของตลาดเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน องค์กรเอกชนข้ามชาติมากมายใช้โอกาสนี้เปิดตลาดใหม่ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านโอกาสแรงงานตามมาด้วย สำหรับประเทศกำลังพัฒนาก็ดูเหมือนว่า น่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจตามความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตัวอย่าง เช่นอุตสาหกรรมเคมีซึ่งเป็นผลผลิตหลักใน 16 ประเทศในกลุ่ม OECD ถึงร้อยละ 80 และเป็นกลุ่มใหญ่ของผู้บริโภคด้วย กำลังมีแนวโน้มขยายเป็นบริษัทข้ามชาติ และเน้นไปที่สารเคมีกลุ่มชีวภาพ เช่น ยา ซึ่งมีปริมาณไม่สูง ดังนั้นการผลิตสารพื้นฐานปริมาณสูง จึงย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตน มาลงประเทศนอกกลุ่ม OECD และนำความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย ในอดีตจึงเห็นได้ชัดว่าการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้เน้นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีหากกลไกของภาครัฐไม่สามารถตอบรับก็ย่อมจะมุ่งเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของสังคมอย่างจริงจัง ทรัพยากรกับสิ่งแวดล้อมเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป การใช้ประโยชน์อย่างไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ในทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นการผลักภาระต้นทุนให้กับสังคม (ดร. คุณหญิงสุธาวัลย์ และคณะ รายงานวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน สกว. 2545) ผลที่ตามมาคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมที่ถูกกระทบจากการพัฒนา

            การประชุม Earth Summit ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิลเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้มีการลงนามรับรอง แผนปฏิบัติการ 21 หรือ Agenda 21 ซึ่งถือว่าเป็นแผนแม่บทโลกหรือพิมพ์เขียวที่กำหนดแนวทางการดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) จากฐานคิดที่ว่าสังคมโลกจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้ายังคงมีภาวะความยากจน และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม แผนนี้ได้กล่าวถึงหลักการที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนา และวางแผนจัดการกับปัญหา ซึ่งมีทั้งมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ด้านการอนุกรักษ์และจัดการทรัพยากร รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของกลุ่มสำคัญๆ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกต (ดร. คุณหญิงสุธาวัลย์และคณะ อ้างแล้ว) ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ แผนปฏิบัติกา 21 ไม่มีเนื้อหากล่าวถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างตรงๆ เลย มีเพียงประเด็นปัญหาเกี่ยวเป็นบางเรื่องเท่านั้น เช่น การใช้สารเคมีที่เป็นพิษให้มีความปลอดภัยมากขึ้น การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายและการจัดการกากของเสียที่เป็นของแข็ง การบำบัดน้ำเสีย ซึ่งประเด็นเหลานี้แม้จะมีความสำคัญแต่ก็เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งของผลพวงจากการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่มิได้ครอบคลุมปัญหาจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรง ทั้งๆ ที่การให้ความสำคัญและแนวโน้มของการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ถูกผลักให้อยู่ในมือของภาคธุรกิจเอกชนมากขึ้น

            ต่อมาในการประชุม Earth Summit 2 หรือ World Summit on Sustainable Development 2002 ที่กรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศสาธรณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งครบ 10 ปี พอดีหลังจาก Earth Summit 1 ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 21 ในแต่ละประเทศ และได้ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ความพยายามขององค์กรสากลต่างๆ ทำให้เกิดมาตรการเพื่อเป็กติกาสากลที่จะร่วมมือกันดูแลปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ดังเช่น

            อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change) ประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญานี้ไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2531 อนุสัญญานี้เกี่ยวข้องกับการค้าและสิ่งแวดล้อมเพราะว่าด้วยพันธกรณีในการลดปริมาณก๊าซเรรือนกระจก ซึ่งถูกปลดปล่อยออกมาจากแหล่งผลิตพลังงานกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อผูกมัดให้มีการดำเนินการ พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยนานาประเทศ เพื่อพิทักษ์ชั้นโอโซนในบรรยากาศโดยการควบคุม ลด หรือ ยกเลิกการใช้สารเคมีกลุ่มคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC เพราะเป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นตัวทำลายบรรยากาศชั้นโอโซนที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกของอนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 อันมีผลให้ไทยต้องควบคุมปริมาณการผลิต และการใช้สารดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ลงนามให้การรรับรองอนุสัญญาว่าด้วยความมหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) เมื่อพ.ศ. 2535 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นประเทศภาคีอนุสัญญา อนุสัญญานี้ถือกำเนิดจากวาระประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิลในปี พ.ศ. 2535 ด้วยเจตนารมย์ที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกอนุกรักษ์พันธุกรรม ชนิดพันธุ์และระบบนิเวศ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้อย่างยุติธรรม นอกจากนี้ยังมี อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกําจัดของเสียอันตรายข้ามแดน (Basel Convention on the Control Transboundary Movements of Hazardous Waste and their Disposal) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดความเสี่ยงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการขนย้ายกากสารอันตราย และการกำจัดของเสียอันตรายข้ามประเทศ ทำให้ประเทศสามารถป้องกันปัญกาการลักลอบการนำกากของเสียอันตรายมาทิ้งในประเทศได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ออกประกาศบัญชีของเสียอันตราย จำนวน 59 ประเภทตาม พรบ. วัตถุอันตรายและกำกับดูแลผู้ประกอบการในการแจ้งข้อมูลและขออนุญาต และยังต้องเตรียมการก่อนการขนส่งให้มีการติดฉลากและป้ายให้ถูกต้องตามหลักสากล รวมถึงการจัดทำเอกสารประกอบการขนส่งด้วย ส่วนกรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานได้จัดทำรายงานข้อมูลส่งออก นำเข้า นำผ่านของเสียอันตรายประจำปี และเป็นหน่วยประสานกับฝ่ายเลขาธิการอนุสัญญา ยังมีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอีกได้แก่ อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on persistent Organic Pollutants) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นสมาชิก โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยประสาน อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารอันตรายและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade : PIC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายบางชนิด ในประเทศไทยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตรเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจรของรัฐ และกรมควบคุมมลพิษเป็นศูนย์ประสานงานได้ออกประกาศให้สารเคมีที่อยู่ภายใต้อนุสัญญานี้เป็นวัตถุอันตรายตาม พรบ. วัตถุอันตราย

            อนุสัญญาดังกล่าวข้างต้นเป็นไปเพื่อความห่วงใยระดับโลกที่จะร่วมกันดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ดี ยังมีความเคลื่อนไหวของกฏระเบียบที่ออกโดยสหภาพยุโรปอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อตกลงกันภายในประชาคมยุโรปด้วยกัน แต่ส่งผลกับประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นคู่ค้าอีกหลายประเทศ ซึ่งอาจมองว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าชนิดหนึ่ง นโยบายสินค้าครบวงจร (Integrated Product Policy : IPP) เป็นนโยบายส่วนเสริมของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ที่เกิดจากแนวคิดว่าสินค้าแต่ละชนิดจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างตลอดช่วงอายุของมัน ตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนมาเป็นสินค้า จนกระทั่งถึงเมื่อใช้แล้ว การกำจัดหรือทำลายซากของสินค้านั้น ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปถือว่า IPP ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะต่อสินค้านำเข้า แม้แต่ในสหภาพเองก็ถูกกระทบขณะนี้ยังไม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ยังมีขั้นตอนต่างๆ จนกว่าจะกลายเป็นนโยบายและออกประกาศบังคับ

            White Paper on the Strategy for a Future Chemical Policy ก็เป็นอีกนโยบายของสหภาพยุโรปที่พยายามจัดระบบการจัดการสารเคมีโดยมีมาตรการให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าสารที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต้องขึ้นทะเบียน ประเมินความเสี่ยง และจัดการความเสี่ยงที่อาจมีนั้นด้วย มาตรการ REACH (Registration, Evaluation and Authorization of Chemicals) คือกลยุทธ์สำหรับนโยบายใหม่นี้มีแนวทางที่จะวางข้อกำหนดการควบคุมสารเคมีทั้งสารใหม่และสารเดิมให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน และวางข้อบังคับรวมไปถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบหรือผลิตโดยใช้สารเคมี เพื่อป้องกันและควบคุมสารเคมีซึ่งมีแอบแฝงอยู่ในสินค้า ทั้งนี้ความรับผิดชอบในการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง ได้เปลี่ยนจากภาครัฐไปสู่อุตสาหกรรมผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมี รวมไปถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้สารนั้น สารที่มีอันตรายสูงจะมีกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้น แม้ว่านโยบายนี้จะใช้เฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ผลต่อผู้ประกอบการไทยก็ไม่อาจหลีกเหลี่ยงได้ที่จะต้องถูกกระทบเมื่อมีการส่งสินค้าออกไปขายยังสหภาพยุโรป

            สุดท้ายที่ต้องหยิบยกมากล่าวถึงก็คือ กฏระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ และกฏระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ (WEEE) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกของสหภาพในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 หลักการของกฏระเบียบนี้คือการให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องมีความรับผิดชอบต่อการก่อมลพิษ โดยเรียกคืนซากเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ 10 ประเภทที่หมดอายุการใช้งาน เพื่อนำกลับไปหมุนเวียนใช้ใหม่และกำจัด นอกจากนี้ยังได้กำหนดข้อปฏิบัติต่างๆ นับตั้งแต่การออกแบบการจัดเก็บตลอดจนการบำบัดผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ด้วย ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ที่อยู่ในข่ายของข้อกำหนดได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในครัวเรือน อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ใช้อุปโภค อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่อมือแพทย์ ของเล่นเด็ก เครื่องมือวัดหรือควบคุมตลอดจนเครื่องจ่ายอัตโนมัติ มีรายงานประมาณการไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2550 จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 500 ล้านเครื่อง ที่จะกลายเป็นขยะพลาสติกให้โลกอีก 14,000 ล้านกิโลกรัม และสารตะกั่วอีก 3500 ล้านกิโลกรัม (Popular Mechanics เมษายน 2546) นโยบายของรัฐในการส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ ต้องไม่ลืมคิดถึงซากที่จะเกิดตามมาอีกมากมายด้วย

            มาตรการของสหภาพยุโรปเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเรียกความมั่นใจจากประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยกลับคืนมา รวมทั้งเรื่องอาหารด้วยที่ยังมีสมุดปกขาวเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร (White Paper on Food Safety) การกำกับสินค้า GMOs และการกำหนดระบบตรวจสอบย้อนหลังของผลิตภัณฑ์อาหาร (Traceability) ด้วย ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปจะมีความยุ่งยากขึ้น เพราะต้องเข้มงวดกับขั้นตอนการผลิตและคุณภาพของวัตถุดิบมากขึ้น

            นอกจากอนุสัญญาและนโยบายสหภาพยุโรปดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่แต่จำเป็นต้องคำนึงถึง เช่น มีการรวมตัวด้วยความสมัครใจในการจัดทำรายงานกิจกรรมเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่ยอมรับสูงได้แก่ แนวทางการจัดทำรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้รายงานเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม รายงานจะเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อเป็นเครื่องมือในการนำเสนอความสำเร็จขององค์กรไปยังภายนอกด้วยการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะมีผลต่อการช่วยลดปัญหาข้อขัดแย้งในสังคม ทำให้ธุรกิจนั้นๆ มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นบริษัทธรรมาภิบาล แม้ว่าการจัดทำ GRI ยังคงเป็นไปด้วยความสมัครใจ สำหรับธุรกิจส่งออกที่มี GRI ก็ย่อมจะได้เปรียบในการแข่งขันแน่นอน ไม่ช้าไม่นาน GRI อาจจะเข้ามาแทนที่ระบบมาตรฐาน ISO ต่างๆ ซึ่งเป็นการอาศัยการประเมินและยังถือว่าข้อมูลการประเมินยังเป็นความลับธุรกิจ

            มาตรการด้านแรงงานเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ เมื่อมีการเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าส่งออก มาตรฐานแรงงาน SA 8000 (Social Accountability) ริเริ่มและผลักดันโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว SA นี้ถือเป็นมาตรฐานสากลซึ่งได้จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2540 มุ่งหมายให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมและแรงงาน อิงหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สำคัญคือเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานถูกเกณฑ์ ความปลอดภัยและสุขอนามัย เป็นต้น กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้า จะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานนี้

            เมื่อหันมามองว่าเรื่องที่กล่าวมานี้จะมีผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยอย่างไร และไทยควรรุกหรือเตรียมความพร้อมอย่างไรได้บ้าง จึงขอนำเสนอข้อความบางส่วนจากบทความของ นายเกริกไกร จีระแพทย์ เสนอต่อเวทีสาธารณะจับกระแส Earth Summit จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับการกีดกันทางการค้าที่เป็นภาวะคุกคามต่อประเทศไทยในอนาคต 5 – 10 ปี ที่ควรคำนึงถึงและหาทางแก้ไข ได้แก่ นโยบายสินค้าครบวงจร (IPP) ของสหภาพยุโรปที่จะกระทบการส่งออกของไทย ทั้งในด้านการเพิ่มต้นทุนการผลิตและการปรับคุณภาพสินค้าให้สามารถผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น นโยบายการผลิตของประเทศจะต้องปรับให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาดส่งออกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กฏระเบียบของสหภาพว่าด้วยเศษซากเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ (WEEE) ที่ไทยควรติดตามความคืบหน้าของผลการลงมติ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาผลกระทบและเตรียมรับมือศึกษาวิจัยหาสารทดแทน ผู้ผลิตและส่งออกไทยต้องเตรียมมาตรการแก้ผลกระทบในแต่ละกลุ่ม ทำนองเดียวกันผู้ผลิตสินค้าของไทยหรือผู้นำเข้าสหภพยุโรปจะถูกกระทบโดยนโยบายสารเคมี เพราะอาจต้องเป็นภาระในการขึ้นทะเบียนสารเคมีหรือให้ข้อมูลพิสูจน์ความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ดังกล่าว ในขณะที่กฏระเบียบต่างๆ ยังเป็นร่างที่ยังต้องผ่านการหารรือกับฝ่ายต่างๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่ไทยต้องให้ความสำคัญ เข้าไปมีส่วนร่วมที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้านหรือเห็นด้วย โดยจับมือกับกลุ่มประเทศอื่นเพื่อให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น

            นอกจากนี้ไทยควรให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในปฎิญญารัฐมนตรี WTO ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเสนอข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และป้องกันการฉวยโอกาสของบางประเทศที่ใช้ช่องว่างทางกฏหมายที่อาจยังไม่ชัดเจนในการปฏิบัติมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งแวดล้อมกับการค้าจึงมักมีความขัดแย้งกันอยู่ อยู่ที่จะทำอย่างไรให้สมดุล มิฉะนั้นผู้บริโภคอาจเสียประโยชน์แต่คนได้ประโยชน์อาจกลายเป็นนักกีดกันที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังนักอนุรักษ์

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น