สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อันตรายจากสารตะกั่วที่เคลือบลายในจานส่งผลไอคิวต่ำ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 10 ธ.ค. 2550

            นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยเสี่ยงภัยจากสารอันตรายที่ปนเปื้อนมากับอาหารบริโภคมากขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะภาชนะใส่อาหาร ซึ่งเป็นภัยที่อยู่ใกล้ตัวและต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องระวังก็คือ สีที่ใช้เคลือบลวดลายในถ้วย ชาม กระเบื้องเคลือบดินเผาหรือที่เรียกว่าเซรามิก ซึ่งมีวางขายทั่วๆ ไปตามตลาดสด ตลาดนัด ชาวบ้านมักนิยมเลือกส่วนที่มีลวดลายสวยงาม แต่ไม่รู้ถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในสีที่ใช้เคลือบลวดลาย ซึ่งมีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีสภาพเป็นกรด การปนเปื้อนสารตะกั่วไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว
       
            นพ.มรกต กล่าวต่อว่า เมื่อสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกว่าร้อยละ 95 มักปนเปื้อนมากับอาหาร จะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำเสื่อม ตัวสั่น ทำลายไต ทำลายเม็ดเลือดแดง หากเป็นในเด็กเล็ก แม้ได้รับเพียงปริมาณน้อยก็จะมีผลให้เติบโตช้า ไอคิวต่ำ เพราะสมองถูกตะกั่วทำลาย ประสิทธิภาพการเรียนรู้จะลดลง พิษเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ ได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดตรวจง่ายๆ เพื่อหาสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในสีที่เคลือบลวดลายภาชนะเหล่านี้ อย่างน้อยเพื่อให้ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือจังหวัด สามารถใช้ตรวจได้ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย เตือนภัยอันตรายแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที จะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยทางสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
       
            ด้านนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุตรวจหาการปนเปื้อนในอาหารทั้งหมด 22 ชนิด ซึ่งรวมทั้งชุดทดสอบสารตะกั่วในถ้วย ชาม จาน ที่เป็นกระเบื้องเคลือบดินเผาด้วย วิธีการตรวจง่าย โดยใช้กระดาษทรายขูดบริเวณลวดลาย เพื่อขัดน้ำยาเคลือบออก จากนั้นใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำยาที่มีสีเหลือง ถูวนไปวนมาบนสีที่เคลือบนานประมาณ 1 นาที หากสำลีเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู แสดงว่ามีสารตะกั่ว ไม่ปลอดภัยที่จะใช้ใส่อาหารบริโภค ผลตรวจสอบมีความแม่นยำ ตรงกับการตรวจในห้องปฏิบัติการปกติ
       
            นพ.มานิต กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบถ้วย จาน ชาม เซรามิกที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะตามตลาดนัด หรือวางแบกะดิน ในแถบจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีราคาถูกประมาณชิ้นละ 10-15 บาท พบว่าภาชนะเซรามิกประเภทจานแบนที่เคลือบลวดลายสีภายใน ตรวจทั้งหมด 14 ตัวอย่าง พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง ส่วนจานแบนที่เป็นสีขาว ไม่มีลวดลายด้านใน ตรวจ 8 ตัวอย่าง ไม่พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง และจานเซรามิกที่มีสี แต่ไม่มีลวดลายด้านใน ตรวจ 7 ตัวอย่าง ไม่พบสารตะกั่วเช่นกัน
       
            นพ.มานิต กล่าวด้วยว่า ในภาชนะเซรามิกประเภทถ้วย ชาม ได้ตรวจถ้วยที่มีสีขาว และเคลือบลายด้านใน จำนวน 15 ตัวอย่าง พบสารตะกั่วทุกตัวอย่าง ส่วนถ้วยที่มีสีขาวและไม่ได้เคลือบลวดลายด้านใน ตรวจ 3 ตัวอย่าง ไม่พบทุกตัวอย่าง เมื่อนำภาชนะกระเบื้องเคลือบที่ตรวจพบสารตะกั่วมาตรวจยืนยันผลในห้องปฏิบัติการพบว่า มี 1 ตัวอย่างที่มีสารตะกั่วเกินค่ากำหนดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2528) แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเสี่ยงจากการบริโภคอาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนในชีวิตประจำวัน
       
            “แนะนำให้ประชาชนโดยเฉพาะแม่บ้าน ในการเลือกจานชามเซรามิก อย่าเห็นแก่ราคาถูก หรือลวดลายสวยงาม ถ้วยชามที่ปลอดภัยที่สุด ควรเป็นชนิดที่ไม่มีลวดลายด้านใน หากเป็นถ้วยชามที่มีลวดลายด้านใน ลักษณะรอยลวดลายจะต้องเรียบเป็นเนื้อเดียวกันกับกระเบื้อง วิธีทดสอบง่ายๆ เมื่อใช้มือเปล่าลูบที่ลายแล้วจะต้องไม่สะดุดรอยนูน หากลูบแล้วสะดุด มีโอกาสเสี่ยงต่อการละลายของสารตะกั่วออกมา ถ้าสีที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ในการใช้ถ้วยชามที่มีลวดลาย หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใส่อาหารประเภทที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น แกงส้ม เป็นต้น เพราะกรดอาจจะสลายสีออกมาได้” นพ.มานิตกล่าว 
       
            ทั้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใด สนใจชุดตรวจหาสารตะกั่วในถ้วย ชามเซรามิก สามารถสอบถามได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-1000 ต่อ 99501, 0-2951-1020-1 ในวันเวลาราชการ


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2550

 

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น