สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตัวการปัญหาประเทศกำลังพัฒนา

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
วันที่: 28 ก.พ. 2551

            นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่าไทย จีน และอินเดีย เป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เข้ามาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิลหากไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม สารพิษหลากหลายชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานและชุมชนรอบข้างโรงงานผู้ผลิต ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว โรงงานรีไซเคิล ผู้รับซื้อของเก่า แหล่งฝังกลบหรือเตาเผาขยะ

            ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมักจะมาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายจากประเทศญี่ปุ่นมักจะมาโดยอาศัยช่องทางของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น

            และเพื่อป้องกันไม่ไห้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยายเป็นวิกฤตปัญหา คนไทยควรเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล ห้ามประเทศภาคีที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงขยะอันตรายอื่นๆ มากำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา และควรผลักดันให้มีการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มาใช้ในการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเร่งด่วน

            นายมาติน ฮอสซิก ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์) จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ต่อปี และจะมีมากถึง 128,220 ตันในปี 2553 แม้ว่าปริมาณดังกล่าวจะยังไม่ได้รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้าซึ่งไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด ประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ยังมีความยากลำบากในการประมาณตัวเลขที่แท้จริงของปริมาณขยะที่อยู่นอกระบบการจัดการ และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจากการนำเข้า ปัญหาเรื่องข้อมูลยังพบได้ในประเทศอุตสาหกรรมที่แม้จะมีกฎระเบียบที่รัดกุมแต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการพบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าร้อยละ 75 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสหภาพยุโรปได้หายไปจากระบบซึ่งไม่ทราบว่าได้ถูกส่งไปที่ใด มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่มีข้อมูลบ่งบอกว่ามีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าร้อยละ 80 ส่งออกไปกำจัดหรือรีไซเคิลยังประเทศกำลังพัฒนา


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น