สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

Earth Hour ชั่วโมงปิดไฟเมืองใหญ่ทั่วโลก

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 30 มี.ค. 2551

            เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกพร้อมใจกันปิดไฟเวลา 20:00 - 21:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในแต่ละเมือง เมื่อคืนวันที่ 29 มีนาคม เพื่อร่วมในโครงการ Earth Hour ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น

            สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โครงการเอิร์ธ อาวร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2550 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายหันมาตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อนมากขึ้น ปรากฏว่าปีที่แล้วมีประชาชนในนครซิดนีย์ ที่ร่วมปิดไฟเป็นเวลา 60 นาที ในโครงการนี้ราว 2.2 ล้านคน ซึ่งการปิดไฟดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเท่ากับลดจำนวนรถยนต์ในถนนไปถึง 48,000 คัน หรือช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ และในปีนี้นครซิดนีย์ก็จะเป็นเมืองแรกๆ ของโลกที่เริ่มปิดไฟเป็นเวลา 60 นาที โดยในปีนี้รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนและภาคธุรกิจทั้งหลาย รวมไปถึงหน่วยงานราชการและสำนักงานราชการกว่าร้อยแห่งร่วมปิดไฟเป็นเวลา 60 นาทีด้วย

            นายแอนดี้ ริดลีย์ ผู้ก่อตั้งโครงการเอิร์ธอาวร์ร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีประชาชนทั่วโลกที่มีส่วนร่วมในการปิดไฟมากถึง 30 ล้านคน และรู้สึกแปลกใจมากที่เมื่อโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นที่นครซิดนีย์เมื่อปีก่อน กลับกลายเป็นว่ามีผู้สนใจและแพร่หลายไปทั่วโลก

            นอกจากนี้ยังมีเมืองใหญ่ถึง 26 เมืองที่ร่วมลงนามจะปิดไฟในเมืองของตนในคืนวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งรวมทั้งกรุงเทพฯ และอีกหลายเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่คาดว่าจะร่วมปิดไฟเป็นเวลา 60 นาทีด้วย โดยเมืองแรกที่จะเริ่มปิดไฟคือเมืองไครสท์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์

            ทั้งนี้ โครงการเอิร์ธอาวร์ เป็นโครงการที่ขอความร่วมมือให้ประชาชน องค์กรและสำนักงานต่างๆ ร่วมกันปิดไฟเป็นเวลา 60 นาที คือตั้งแต่ 20:00 - 21:00 น. ของคืนวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งรวมทั้งการปิดโทรทัศน์ เครื่องเสียงและเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์และเพื่อให้ทุกคนหันมารู้จักอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น

            ขณะที่มีรายงานว่า เว็บไซต์กูเกิ้ล เสิร์ชเอ็นจิ้นชื่อดังก็ได้ร่วมโครงการนี้ด้วยการ ปิดไฟที่หน้าโฮมเพจ Google.co.th โดยหน้าเว็บเพจของกูเกิ้ลภาษาไทยจะเปลี่ยนพื้นเป็นสีดำทั้งหมดในวันที่ 29 มีนาคม เพื่อร่วมในโครงการเอิร์ธอาวร์ด้วย ซึ่งทางเว็บไซต์ชี้แจงว่า การปิดไฟหน้าโฮมเพจเพื่อแสดงถึงจุดมุ่งหมายที่จะช่วยสร้างความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

            อย่างไรก็ตาม ทางกูเกิ้ลชี้แจงว่า จะไม่เปลี่ยนหน้าโฮมเพจเป็นสีดำตลอดไป เพราะจากหลักฐานที่มีอยู่พบว่า การเปลี่ยนพื้นหลังให้เป็นสีดำอย่างถาวรนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อผู้ใช้งานแต่อย่างใด หากแต่ทางเว็บไซต์ก็จะพยายามมองหาวิธีที่จะปรับปรุงประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แต่ถ้ามีการวิจัยค้นพบสิ่งใหม่ๆ ทางกูเกิ้ลก็อาจจะเปลี่ยนใจไปทำพื้นหลังสีดำได้ในอนาคต

            ส่วนที่กรุงเทพมหานคร นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม Earth Hour ปิดไฟลดการใช้พลังงาน ที่หน้าลานสแควร์ เอ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า กทม. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน 43 แห่ง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้า สมาคมโรงแรมไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เจ้าของอาคารสูง บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และกระทรวงพลังงาน ฯลฯ เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีเมืองใหญ่ทั่วโลกกว่า 20 เมือง อาทิ โคเปนเฮเกน โตรอนโต ชิคาโก เมลเบิร์น บริสเบน มะนิลา เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

            นางบรรณโศภิษฐ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย หลังจากที่กทม. จัดกิจกรรมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน โดยรณรงค์ให้ปิดไฟทั่วกรุงเทพฯ เป็นเวลา 15 นาที เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมปีที่แล้ว ได้ผลดีสามารถช่วยลดพลังงานได้มาก และเพื่อให้การรณรงค์ลดการใช้พลังงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กทม.จึงร่วมกับ WWF และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดกิจกรรม Earth Hour ปิดไฟลดการใช้พลังงาน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 20:00 - 21:00 น. วันที่ 29 มีนาคม ณ ลานสแควร์ เอ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และถนนสายหลัก อาทิ ถนนสีลม ถนนเยาวราช ถนนรัชดาภิเษก ถนนข้าวสาร ถนนราชดำริ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนสุขุมวิท และราชดำเนิน โดยขอความร่วมมือในการดับไฟดวงที่ไม่จำเป็นในอาคารที่อยู่ด้านข้าง ไม่รวมไฟถนน

            ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณการการใช้ไฟฟ้าในวันเสาร์ช่วงเวลา 20:00 - 21:00 น. ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าแบ่งเป็น 6 กลุ่ม คือกลุ่มอาคารบ้านพัก กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ และไฟสถานที่สาธารณะ มีสถิติการใช้ไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านกิโลวัตต์ เมื่อร่วมกิจกรรมปิดไฟฟ้า 1 ชั่วโมง คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 20 - 30% หรือลดการใช้พลังงานประมาณ 1 ล้านกิโลวัตต์ และประหยัดเงินได้ประมาณ 2 ล้านบาท

            นายบรรพต แสงเขียว ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า หลังการปิดไฟ 1 ชั่วโมง เฉพาะ กทม. สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 73.34 เมกะวัตต์ ประหยัดเงินได้ 2 .2 หมื่นบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 45.77 ตัน ส่วนภาพรวมทั้งประเทศ สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 165 เมกะวัตต์ ประหยัดเงินได้ 5 แสนบาท และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 102 ตัน

            นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการพลังงาน และอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กว่าวว่า การรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าด้วยการปิดไฟคงจะช่วยประหยัดไม่มากนัก แต่จะได้ผลได้ด้านจิตวิทยาที่กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการประหยัดมากขึ้น ซึ่งการรณรงค์ให้เพิ่มอุณหภูมิแอร์ จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้มากที่สุด เพราะแอร์เป็นเครื่องใช้ที่กินไฟมาก ทางกระทรวงพลังงานจึงพยายามรณรงค์ให้เพิ่มอุณหภูมิแอร์จากที่เคยเปิดปกติ 1 องศา และใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 นายเทียนไชย กล่าวปิดท้าย

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที 30 มีนาคม  2551


ภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหารก่อนและหลังดับไฟ

ชาวกรุงเทพฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม ที่บริเวณเซ็นทรัลเวิล์ด

ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาร่วมปิดไฟแล้วใช้เทียนไขแทน

ภาพเปรียบเทียบโอเปราเฮาส์และฮาร์เบอร์บริดจ์แห่งมหานครซิดนีย์

ภาพพระราชวังในกรุงสตอกโฮล์มก่อนและหลังดับไฟ

หน้าจอสีดำของกูเกิล กับการร่วมรณรงค์ในครั้งนี้
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ขอขอบคุณมากครับที่นำเสนอข้อมูลแบบนี้ผมได้นำไปใช้ในหลายๆด้านของการศึกษา

โดย:  อนพัทย์  [27 ก.ค. 2553 12:06]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น