สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

มอนซานโต้...กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 4 เม.ย. 2551

            รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลกแจ้งว่า กรณีมีหนังสือร้องเรียนถึง ผอ.สสภ.3 เลขที่ ทส.0205.6(3)/พิเศษ เรื่อง ร้องเรียนกลิ่นเหม็นจากการทิ้งข้าวโพดบรรจุกระสอบตีตรา "มอนซานโต้" ที่หมดอายุแล้ว ถูกนำมาทิ้งที่หมู่ 11 บ้านโรงบ่ม ต.เขาสมอแคลง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
       
            ล่าสุดสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลกได้เชิญผู้บริหารบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด มาชี้แจงที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง โดยมีนายอติพงษ์ ชัชวาลย์ ผู้จัดการโรงงานบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด และพนักงานบริษัทฯ อีก 2 คนเข้าประชุมชี้แจง
       
            โดยที่ประชุมอันประกอบไปด้วยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 3 ทรัพยากรธรรมชาติพิษณุโลกและ อบต.วังทอง ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับผู้จัดการโรงงานบริษัท มอนซานโต้ ได้ตกลงปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 และจะยื่นขออนุญาตทำสัญญาตามพระราชบัญญัติโรงงาน 2535 หากไม่ปฏิบัติตาม บริษัม มอนซานโต้ ยินดีให้หน่วยงานรัฐดำเนินคดีตามกฎหมาย
       
            นอกจากนี้ ได้สั่งได้บริษัทฯ เก็บตัวอย่างน้ำข้างเคียงว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ และต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบอันตรายของสารเคมีที่เคลือบเมล็ดข้าวโพดเสื่อมคุณภาพ พร้อมติดป้ายห้ามสัตว์กินเมล็ดพันธุ์ที่หมดอายุแล้ว
       
            นายชาตรี ไชยวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ว. สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 3 กล่าวว่า พื้นที่ข้างเคียงบริเวณเขาสมอแคลง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นจากการทิ้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เสื่อมคุณภาพ ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่นำมาทิ้งนั้นได้มีการเคลือบสารเคมีอันตรายด้วย ในส่วนของการทำลายก็ทำผิดขั้นตอน ไม่มีการไถกลบ และทราบว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็มีการทิ้งเมล็ดพันธุ์ในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว

            การทิ้งซ้ำย่อมถือว่าความเข้มข้นของสารเคมียังมีสูง หากเมล็ดพันธุ์ไม่อันตราย ทำไมบริษัทฯมอนซานโต้ ไม่ใช้พื้นที่ภายในโรงงานเพื่อไถกลบ อีกทั้งถุงใส่เมล็ดพันธุ์ บริษัทมอนซานโต้ กลับนำไปทำลาย แต่เมล็ดพันธุ์เคลือบสารกลับว่าจ้างบุคคลภายนอกที่ไม่มีความรู้ นำวัตถุอันตรายออกจากโรงงานไปทำลาย ซึ่งถือว่าผิดตามบัญญัติของท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535 และ พ.ร.บ.โรงงาน
       
            นายอติพงษ์ ชัชวาลย์ ผู้จัดการโรงงานบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ได้ดำเนินการแก้ไข แปลงที่ดินที่ทิ้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เสื่อมคุณภาพตามที่ร้องเรียนแล้ว ยอมรับว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ของบริษัทฯ ถูกนำไปหว่านจริง โดยผู้รับดำเนินการปลูกทิ้งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเสื่อมคุณภาพ ยังไม่ได้ไถกลบให้เรียบร้อย
       
            โดยเมล็ดพันธุ์ที่ถูกกำจัดนั้นถูกเคลือบด้วยสีแดง สารเคมีป้องกันเชื้อราและมอด เพื่อให้เก็บได้เป็นเวลานาน สารเคมีดังกล่าวคือ เมทาแลคซิล คาร์โบซัลแฟน แคปเเทน และสารเคลือบเมล็ดสีแดง ซึ่งสารทั้งหมดไม่มีพิษตกค้างในดินและแหล่งน้ำ อีกทั้งปริมาณการใช้ของบริษัทฯก็อยู่ในระดับความเข้มข้นที่น้อยมาก คือ 0.7 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ดข้าวโพด 1 กิโลกรัม ทั้งนี้บริษัทดำเนินการไถกลบพร้อมรดน้ำ เพื่อให้เมล็ดข้าวโพดงอกเป็นต้นอ่อน เพื่อไถกลบซ้ำอีกครั้งเป็นการทำลายต้นอ่อน ถือเป็นกระบวนการทำลาย
       
            เหตุผลการทำลายคือ เมล็ดพันธุ์ของบริษัทฯ ไม่ได้มาตรฐาน แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO เป็นเพียงสินค้าที่ด้อยคุณภาพ จะต้องไปทำลายทิ้งในอัตราส่วน 3 ต้นต่อไร่ กรณีวัวหรือควายไปกินอาจเกิดอันตรายจึงไม่สมควรกิน
       
            ด้านนายเดชา งามนิกุลชลิน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พิษณุโลก กล่าวว่า มอนซานโต้ เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด แต่นำสินค้าที่หมดอายุไปทิ้งจำนวนมาก หากสัตว์กินเข้าไปมีโอกาสตายสูงเพราะจะมีสารเคมีสะสมอยู่ในตัวสัตว์ อีกทั้งสารป้องกันเชื้อราจะฆ่าสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน
       
            แม้กระทั่งบริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด ก็ยังกำจัดถุงเมล็ดพันธุ์ด้วยการเผาทำลาย บริษัทมอนซานโต้ ไม่ควรว่าจ้างบุคคลภายนอกที่ไม่มีความรู้ อย่างตำรวจชั้นประทวนไปหลอกล่อหรือชักชวนชาวบ้านซึ่งไม่มีความรู้อยู่แล้ว ยินยอมให้นำเมล็ดพันธุ์ไปทิ้งที่ตนเอง อ้างว่ามีประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรกรรมหรือให้ผลประโยชน์บางอย่าง เพราะแม้เมล็ดพันธุ์เสื่อม แต่สารเคมีไม่เสื่อม
       
            คาดว่า บริษัทฯใช้นโยบายประหยัดต้องการลดต้นทุน ไม่พึ่งบริษัทกำจัดสารเคมีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่เชื่อว่าบริษัทมอนซานโต้ ใช้พื้นที่เขาสมอแคลงเพียงแห่งเดียว ยังมีอีกหลายพื้นที่แต่ไม่แจ้งให้ทราบตามกฎหมาย จึงได้สั่งให้บริษัทมอนซานโต้ปฏิบัติตาม พร้อมกับติดป้าย ห้ามวัวและควายกินผลิตผลที่งอกขึ้นมาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เสื่อมคุณภาพ


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 4 เมษายน 2551


เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ถูกนำมาทิ้งบริเวณเขาสมอแคลง

สีของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เคลือบสารเคมีป้องกันเชื้อรา
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Apron
Captan
Carbosulfan
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ถ้าเกษตกรปลูกข้าวโพดแล้ว และเมื่อขายเสร็จก็จะได้ใบเสร็จใช่ไหมคะ  แล้วภายใน1 เดือน ทางบริษัทจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ใช่ไหมคะ และมีใบตอบรับที่ว่าเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ค่าปุ๋ยเท่าไหร่ และมีราคาเท่าไหร่ ให้เกษตกรดูไหม เพราะจะได้รู้ไงว่าเหลือเงินจากการปลูกข้าวโพดหรือเปล่าและทำไมไม่เหมือนทุกปีที่ส่งมาให้ แต่เมื่อ ปีที่ผ่านมาทางบริษัทไม่ส่งมาเลย  เราก็อยากรู้ว่าเหลือหรือไม่หลือ   และพ่อของดิฉันยังไม่ได้ใบอะไรเลยได้แต่ใบเส็จ 3 ใบ  ตอนที่ไปขายเท่านั้น  ใบอะไรก็ไม่มี ไม่ส่งมาให้เลย ปีที่ผ่านมาเราลง 10 ไร่  แต่ข้าวโพดออกหัวเท่านิ้วโป่ง บางหัวก็ไม่ออกเลย  มันเป็นพันธ์อะไร ทำไมไม่เอาพันธ์ที่ทดลองมาให้ปลูกล่ะหนูว่าเบอร์ 8 ก็ดีนะ แต่ที่เราได้ อาจจะเป็นเบอร์ 1   2   หรือไม่ก็เบอร์ 12 นี่แหละ จำไม่ค่อยได้  ยังไงก็ขอให้ทางบริษัทช่วยเช็กให้ด้วยว่า นายถนอม ไชยาโส  เหลือเงินค่าปลูกข้าวโพดหรือไม่ แต่หนูคิดดูแล้วน่าจะเหลือนะ  เพราะมีชื่อ ถนอม ไชยาโส  2 คนที่ชื่อซ้ำกัน และนามสกุลก็เหมือนกัน   แต่อยู่คนละหมู่บ้าน ลองเช็กดูดีๆสิคะ  อย่างไรก็ตามก็ส่งข้อมูมาทาง เมลล์นี้นะคะ ด่วนนะคะ  ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

โดย:  คนเมืองเหนือ บ้านปงเตา  [4 ธ.ค. 2552 08:21]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น