สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ตะกั่ว...ศัตรูร้ายของข้าว

ผู้เขียน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 11 มิ.ย. 2551

            ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมมีโรงงานต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายในบริเวณเขตภาคกลาง เช่น ปทุมธานี นครปฐม สุพรรณบุรี และอยุธยา โรงงานเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษที่สำคัญคือโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตะกั่วที่จัดเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์ เนื่องจากมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และขัดขวางการสร้างฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ยังไปยับยั้งการสร้างคลอโรพลาสต์ในพืชตระกูลถั่ว ซึ่งมีผลต่อการสังเคราะห์แสงของพืช

            บริเวณภาคกลางเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศไทย นาข้าวของเกษตรกรส่วนใหญ่จะอยู่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น โรงงานอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ โรงงานแบตเตอรี่ โรงพิมพ์ โรงงานทำสีทาบ้าน ซึ่งล้วนแต่ปล่อยสารตะกั่วออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้ข้าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อน หากผลผลิตของข้าวมีสารตะกั่วตกค้างและปนเปื้อนอยู่ อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนวรรณ พาณิชพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ทำการศึกษาการสะสมของสารตะกั่วในส่วนต่างๆ ของต้นข้าว โดยได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อศึกษาการสะสมของสารตะกั่วในต้นข้าวโดยเฉพาะในส่วนเมล็ดและประเมินศักยภาพของข้าวในการบำบัดตะกั่วในดิน รวมทั้งการถ่ายทอดการสะสมของสารตะกั่วไปยังข้าวในรุ่นถัดไป
 
            นักวิจัยได้ตรวจหาความเข้มข้นของสารตะกั่วในเบื้องต้น เพื่อหาปริมาณตะกั่วที่ข้าวสามารถทนได้และพบในธรรมชาติจริง จากนั้นเตรียมดินนาหรือดินเหนียว และสารละลายตะกั่วซับอะซิเตดที่ความเข้มข้นแตกต่างกัน เพื่อทดสอบกับข้าวกระถางละ 1 ต้น เมื่อข้าวเริ่มแตกกอเติมสารตะกั่วลงไป สังเกตอาการจากภายนอก จนกระทั่งเก็บผลผลิตครบทุกต้น แล้วตรวจหาค่าการสะสมของตะกั่วในส่วนต่างๆ ของข้าว โดยการทดลองครั้งนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 จากกรมการข้าว (สถาบันวิจัยข้าวเดิม) ข้าวพันธุ์นี้นิยมปลูกกันมากในอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เนื่องจากเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี

            ผลการทดลองพบว่า ต้นข้าวจะสะสมตะกั่วได้มากที่สุดในส่วนของราก รองลงมาคือ ลำต้นและใบ และรำข้าวตามลำดับ ส่วนในเมล็ดข้าวพบว่ามีการสะสมของตะกั่วน้อยซึ่งพบมากที่สุดในรำข้าว แต่ข้าวขาวจะไม่พบการสะสมของตะกั่ว ทั้งนี้  ผลการทดลองจึงแสดงให้เห็นว่าการสะสมของตะกั่วในเมล็ดข้าวจะไม่เป็นพิษต่อผู้บริโภค

            ส่วนการศึกษาการถ่ายทอดการสะสมของตะกั่วจากข้าวรุ่นแรกไปยังรุ่นที่ 2 จะพบมากในราก ลำต้นและใบ ส่วนในเมล็ดข้าวจะมีการสะสมของตะกั่วถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งได้เล็กน้อยในรำ แต่ไม่พบในแกลบและในข้าวขาว แม้ว่าจะมีการปนเปื้อนตะกั่วในดินสูงก็ตาม

            อย่างไรก็ตาม ตะกั่วจะไม่มีผลต่อการตายของข้าวในแต่ละรุ่นที่ทำการทดลอง แต่ต้นข้าวจะเจริญเติบโตได้ไม่ดีมาก หากในดินนั้นมีตะกั่วสะสมในปริมาณที่สูง ต้นข้าวจะตายด้วยสาเหตุจากการเป็นโรคและแมลงรบกวน

            "ข้าวมีความสามารถในการดูดซับสารตะกั่วได้ แต่ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นพืชที่บำบัดสารตะกั่วที่ตกค้างในดิน นอกจากนี้การนำฟางข้าวไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรควรพิจารณาให้ดี เพราะตะกั่วส่วนใหญ่จะสะสมได้ดีในส่วนราก ลำต้นและใบ อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดการสะสมข้ามรุ่นได้อีกด้วย" ผศ. ดร. ธนวรรณกล่าวทิ้งท้าย


ที่มาของข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย www.trf.or.th


แปลงข้าวทดลอง

ผลผลิตของข้าวเปลือก
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น