สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

UNEP จัดประชุมหาทางลดปรอทสะสมในโลก

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 19 พ.ย. 2550

            ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Ad hoc Open-ended Working Group on Mercury ขึ้นที่อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12 16 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานชุดนี้ โดยเป็นการประชุมเพื่อทบทวนและประเมินทางเลือกสำหรับมาตรการสมัครใจและเครื่องมือทางกฎหมายระดับสากลอันใหม่หรือที่มีอยู่แล้ว ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปริมาณปรอททั่วโลก

            ตัวแทนรัฐบาลจากหลายประเทศแสดงความต้องการเครื่องมือทางกฎหมายระดับสากล โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เครื่องมือทางกฎหมายระดับสากลที่เป็นทางเลือกได้แก่ การใช้กลไกข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว การแก้ไขข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว และการออกข้อตกลงใหม่ ซึ่งในแต่ละทางเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่นหากจะใช้กลไกของอนุสัญญาสตอกโฮล์ม หรือ POPs Convention มีข้อดีคือกลไกมีอยู่แล้ว แต่จะครอบคลุมเพียงเมทิลเมอร์คิวรี่ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ แต่ไม่คลุมถึงปรอทในรูปอนินทรีย์ เป็นต้น

 

ทำไมทั่วโลกสนใจปรอท

            ปรอทเป็นโลหะหนักที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีสภาพเป็นของเหลวสีเงินที่พร้อมจะระเหยที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เมื่อปรอทระเหยไปอยู่ในบรรยากาศจะปนเปื้อนอยู่ได้นานเป็นปีและสามารถเคลื่อนที่ไปได้ทั่วโลก ปรอทที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมมีทั้งที่อยู่ในรูปปรอทอนินทรีย์และปรอทอินทรีย์  ในช่วงที่ทั่วโลกพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้มีปรอทปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศ ดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเลเพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม การหายใจเอาไอปรอทเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้ การสัมผัสปรอทเหลวหรือไอทางผิวหนังก็เป็นอันตรายเช่นกัน ส่วนปรอทที่ปนเปื้อนในตะกอนแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ และทะเล จะเปลี่ยนเป็นเมทิลเมอร์คิวรี่ (ปรอทอินทรีย์) ซึ่งสามารถสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำและถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารได้ เด็กที่แม่ได้รับเมทิลเมอร์คิวรี่ระหว่างตั้งครรภ์จะมีปัญหาด้านการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท

            โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ผลกระทบทางลบจากมลพิษปรอทเป็นปัญหาทางสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของโลกที่รุนแรงและกำหนดให้การลดปริมาณเมทิลเมอร์คิวรี่ที่สะสมในสิ่งแวดล้อมของโลกเป็นเป้าหมายหลักลำดับต้นๆ ที่ต้องดำเนินการ

 

ปรอทมาจากไหน

            Peter Maxson นำเสนอปริมาณปรอททั่วโลกทั้งจากแหล่งปฐมภูมิและทุติยภูมิไว้ในรายงานเรื่อง “Mercury Flow and Safe Storage of Surplus Mercury” ว่าในปี พ.ศ. 2548 มีปริมาณทั้งสิ้นเท่ากับ 3,690 ตัน โดยมาจากการทำเหมืองและผลพลอยได้ 1,996 ตัน การรีไซเคิลของเสียจากโรงงานคลอร์-อัลคาไลน์ 84 ตัน การรีไซเคิลจากแหล่งอื่นๆ 566 ตัน จากเซลคลอร์-อัลคาไลน์ที่ยกเลิกการใช้งานแล้ว 644 ตัน และจากที่กองเก็บไว้ 400 ตัน (รูปที่ 1)

 

รูปที่ 1 ปริมาณปรอทที่มีทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2548 จำแนกตามแหล่งที่มา

 

ปรอทใช้ทำอะไรบ้าง

            กิจกรรมหลักที่มีการใช้ปรอทได้แก่

·          การผลิตคลอร์-อัลคาร์ไลน์

·          อะมัลกัมที่ใช้ในการทำฟัน

·          เทอร์โมมิเตอร์

 

·          เครื่องมือวัดอื่นๆ

·          แบตเตอรี่

·          อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สวิทช์ รีเลย์

·          การศึกษาและห้องปฏิบัติการ

·          ตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการอุตสาหกรรม

·          การผลิตยา

·          อื่น ๆ เช่น สารกำจัดรา และเครื่องสำอาง เป็นต้น

 
           
ปริมาณความต้องการใช้ปรอททั้วโลกในปี พ.ศ. 2548 พบว่ามีความต้องการใช้ปรอทรวมเท่ากับ 3,439 ตัน กิจกรรมที่ต้องการใช้ปรอทมากที่สุดคือ การทำเหมืองทองขนาดเล็ก รองลงมาได้แก่ การผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ อุตสาหกรรมคลอร์-อัลคาร์ไลน์ และแบตเตอรี่ รายละเอียดแสดงในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 ความต้องการใช้ปรอททั่วโลกในปี พ.ศ. 2548 จำแนกตามกิจกรรม

 


แหล่งข้อมูล :
Peter Maxson, 2006. Mercury Flow and Safe Storage of Surplus Mercury, Sprl Concorde. Accessible at http://ec.europa.eu/environment/chemicals/mercury/pdf/hg_flows_safe_storage.pdf
เอกสารประกอบการประชุม UNEP(DTIE)/Hg/OEWG.1/1
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Mercury
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

เมื่อจะกินอาหารทะเล ควรที่จะเลือกดูให้ดี เนื่องจากปัจจุบันมีสารปรอทปนเปื้นอยู่เป็นจำนวนมาก

โดย:  เจี๊ยบ  [9 เม.ย. 2551 18:37]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ปรอท (Mercury) สารพิษใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ปริมาณเพียงเล็กน้อย(เมื่อเทียบกับโลหะตัวอื่น)ก่อพิษอย่างเฉียบพลัน และสะสมในร่างกายได้ ดังนั้น การเก็บตัวอย่าง การเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม การวิเคราะห์อย่างถูกวิธี และการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครอบคลุม ปรึกษางานด้านปรอท สามารถติดต่อกิติชัย 080-4316231 ได้ครับ

โดย:  กิติชัย  [19 ม.ค. 2564 17:17]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น