สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ญี่ปุ่นออกกฎลดก๊าซคาร์บอน รับพิธีสารเกียวโต

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วันที่: 13 ต.ค. 2551

            ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง หลายประเทศเริ่มหันมาใส่ใจและออกกฎระเบียบ เพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศญี่ปุ่น หลังจากมีข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโตได้มีการนำแนวทางนั้นมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่เคยมุ่งเน้นแต่พัฒนาเรื่องเทคโนโลยีต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้อบังคับที่ต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

            ดังจะเห็นได้จากที่องค์การฝ่ายส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพ) ได้ร่วมกับ Japan Institute on Logistics System-JILS ซึ่งเป็นศูนย์โลจิสติกส์แห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้จัดงานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อมด้านโลจิสติกส์ หรือ green logistics ขึ้น โดยมีผู้แทนจาก JILS จากญี่ปุ่น ได้มาชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการทำ green logistics ในประเทศญี่ปุ่น

            โดยญี่ปุ่นมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ให้ได้มากขึ้น 20-30% และจะเพิ่มเป็น 60-80% ในอนาคต มีการจัดทำคู่มือ green logistics ขึ้น โดยบริษัทผู้ผลิตต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีการจัดส่งผ่านซัพพลายเชนที่เหมาะสม ไปถึงมือผู้บริโภค โดยผู้บริโภคต้องนำไปใช้ตามหลัก 3 อาร์ คือ ลดการใช้ (reduce) นำมาใช้ใหม่ (reuse) และหมุนเวียนใช้ (recycle) ทรัพยากร 3 อาร์จะถูกนำกลับมาที่ผู้บริโภคใหม่ (reverse) เพื่อนำไปใช้เป็นทรัพยากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป การหมุนเวียนตามวงจรนั้นเรียกว่า green logistics

            ผลดีของการทำ green logistics จะช่วยลดต้นทุนทำให้คุณภาพการขนส่งดีขึ้น สินค้าไม่เสียหาย ส่งผลให้ลดต้นทุนการขนส่งได้ 20-30% การทำ green logistics มีตัวชี้วัดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาน้อยลง แต่ถ้ามองในเชิงความคุ้มค่าจะลดต้นทุนไปในตัว และยังเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร

ขับรถดีลดต้นทุน 10-20%

            กิจกรรมการขนส่งในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เห็นผลชัดเจน แถมช่วยในการประหยัดน้ำมันในยุคน้ำมันแพง ดังนั้น หลายบริษัทได้เริ่มโครงการโดยนำหลักเกณฑ์การขับรถ อย่างมีมารยาท ปลอดภัย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ฝึกอบรมคนขับรถขนส่งให้ปฏิบัติตาม

            บริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถประหยัดน้ำมันได้ 16% การไม่ออกรถกระชากช่วยลดอุบัติเหตุได้ 27% ในภาพรวมพบว่า สามารถลดต้นทุนในการทำ ecodriving ได้ 10-20% และลดอุบัติเหตุได้ 20-40% เมื่อหลายบริษัทนำไปใช้จะสามารถลดอุบัติเหตุลงได้มาก และสามารถเจรจากับบริษัทประกันภัยขอลดอัตราการจ่ายเบี้ยประกันได้ในราคาถูกลง

            ยกตัวอย่างเรื่องการเหยียบเบรก จะมีการติดตั้งอุปกรณ์วัดความแรงในการเหยียบเบรกของคนขับรถของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีรถอยู่ประมาณ 270 คัน คนขับมีทั้งที่เหยียบเบรกอย่างรุนแรง และเหยียบเบรกแบบปกติ การเหยียบเบรกอย่างถูกต้องสามารถลดอัตราการใช้น้ำมันได้ 15.8%

            การขับรถด้วยความเร็วคงที่ กับการขับรถด้วยความเร็วกระชากไปมา ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงถึง 30% ถ้าเป็นรถขนาด 10 ตันจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มถึง 1 ล้านเยน และเมื่อคนขับมีมารยาทในการขับรถทำให้จากที่ใช้น้ำมัน 1 ลิตร ขับรถได้ 5 กิโลเมตร เป็นใช้น้ำมัน 1 ลิตรสามารถขับรถได้ไกลถึง 6.5 กิโลเมตร

บังคับรวม DC ลดต้นทุน 20-25%

            เมื่อ 3 ปีที่แล้วประเทศญี่ปุ่นได้มีการออกกฎหมายใหม่ในการพัฒนาประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการขนส่งจากเดิมบริษัทขนส่งจะมีศูนย์กระจายสินค้า (DC) กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วไป จึงบังคับให้แต่ละบริษัทต้องนำศูนย์กระจายสินค้าที่มีมารวมศูนย์อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน หรือ collaborative delivery โดยระบุให้มีการจัดตั้งศูนย์ DC อยู่ใกล้กับทางด่วนภายในระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อให้การดำเนินการด้านขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสร้างกลุ่มเป้าหมายในเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ที่ 20%

            โดยปัจจุบันบริษัทขนส่งในญี่ปุ่นมีคลังสินค้าของตัวเองประมาณ 20-30 แห่ง แต่จะมีนโยบายบังคับให้เหลือเพียง 6 แห่ง และมีการขนส่งโดยตรงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันตัวเลขถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2551 มีบริษัทขนส่งผ่านการรับรองตามมาตรฐานนี้จำนวน 100 บริษัท

            ความจำเป็นต้องทำ collaborative delivery เนื่องจากการกระจายสินค้ารูปแบบเดิมนั้นกว่าที่บริษัทผู้ขาย 4-5 บริษัทจะส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าปลายทางได้เสร็จต้องใช้รถวิ่งถึง 10-20 เที่ยวต่อราย แต่ถ้าใช้วิธีการรวมศูนย์ส่งรวมกันจะใช้เวลาวิ่ง เพียง 9 เที่ยวต่อราย

            ยกตัวอย่างบริษัทขนส่งสินค้าเกี่ยวกับสุขภัณฑ์ 12 แห่ง ได้ใช้วิธีการตั้งศูนย์กระจายสินค้ามาอยู่รวมกัน แต่เดิมใช้รถขนส่ง 37 คัน ตอนนี้เหลือรถเพียง 27 คัน ทำให้ระยะทางการขนส่งลดลงจากเดิม 42% ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35% กรณีนี้สามารถลดต้นทุนรวมได้ 20-25% อย่างไรก็ตาม อยากให้เน้นเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมไปพร้อมๆ กันอย่างมีสมดุลเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - มลพิษจากก๊าซคาร์บอนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนต่อปี
บอกข่าวเล่าความ - ก๊าซเรือนกระจกทะลุจุดสูงสุดอีกแล้ว
บอกข่าวเล่าความ - จีนห้ามขายรถยนต์ที่ปล่อยไอเสียไม่ได้มาตรฐาน
บอกข่าวเล่าความ - เรียกร้องนานาชาติเลิกนิสัยก่อคาร์บอนในวันสิ่งแวดล้อมโลก
บอกข่าวเล่าความ - จีนเอาจริงกับการแก้ปัญหามลภาวะภายในประเทศ
บอกข่าวเล่าความ - พิธีสารมอนทรีออลบังคับให้เลิกใช้สาร CFC และHCFC
บอกข่าวเล่าความ - คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมยุโรป เข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซในรถยนต์
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น