สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

EU บีบสายการบินต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: 6 ม.ค. 2552

            สหภาพยุโรป (EU) ตื่นตัวปัญหาโลกร้อน ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 20% ในปี 2020 เตรียมออกมาตรการบังคับบรรจุภัณฑ์สินค้า ติดฉลากค่าก๊าซเรือนกระจก คุมรถยนต์ และสายการบินเข้ายุโรปต้องลดปล่อยคาร์บอน ผู้บริโภคในอียูเกือบ 70% พร้อมจ่ายเงินซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            รายงานข่าวจากคณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปหรืออียูตื่นตัวสูงมากเกี่ยวกับประเด็นโลกร้อน เตรียมที่จะออกมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยช่วงต้นเดือน ธ.ค.2551 ได้ลงมติเห็นชอบร่างระเบียบเกี่ยวกับกิจการพลังงานและโลกร้อน โดยปรับความเข้มงวดจากร่างเดิมของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อประนีประนอมข้อกังวลจากประเทศสมาชิกอียู ที่เกรงว่าภาคอุตสาหกรรมยุโรป จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

            ร่างระเบียบดังกล่าวมุ่งประเด็นลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน 20% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 20% โดยอาจเพิ่มเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเป็น 30% หากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ตกลงด้วยภายในปี 2020

เดินหน้าลดก๊าซคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม

            มาตรการหลักจากร่างระเบียบดังกล่าวคือ การลดคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม หรือ "คาร์บอน ลีคเคจ" หากการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ หลังพิธีสารเกียวโตไม่สามารถบรรลุผล ในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซ ภาคอุตสาหกรรมยุโรปที่มีความเสี่ยงว่า จะถูกย้ายฐานไปภูมิภาคอื่น (ซึ่งมีการกำหนดวิธีการคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการผลิต) จะได้รับสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฟรี ในช่วงปี 2013-2020

            สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดคาร์บอน ลีคเคจ จะใช้ระบบการประมูลปล่อยก๊าซ 70% ภายในปี 2020 และใช้ระบบการประมูลสำหรับการปล่อยก๊าซทั้งหมดภายในปี 2027

            นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกอียูที่มีจีดีพีต่ำ ประเทศสมาชิกทั้ง 19 ประเทศ จะได้รับจัดสรรการปล่อยก๊าซเพิ่มเติมสำหรับการประมูลอีก 10% (เพิ่มจาก 88% ที่จะได้รับจัดสรรระหว่าง 27 ประเทศสมาชิก) และอีก 2% ให้พิเศษสำหรับประเทศสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเมื่อปี 2004 ซึ่งเปรียบเสมือนการให้เงินอุดหนุน ที่ได้พยายามลดการปล่อยก๊าซในช่วงปี 1999-2005 นอกจากนี้ในช่วงปี 2013-2016 งบประมาณ 15% ที่ได้รับจากการประมูลสิทธิการปล่อยก๊าซ สามารถนำไปใช้ลงทุนในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังสูงได้

เล็งปรับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเกินกำหนด

            นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าของกฎระเบียบอียูด้านสิ่งแวดล้อม

            1. ร่างข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานทดแทน คงเป้าหมายเดิมใช้พลังงานทดแทน 20% รวมทั้งเป้าหมายใช้พลังงานทดแทน 10% สำหรับการขนส่งทางบก โดยให้เครดิตเพิ่มสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นสอง อาทิ ผลิตจากของเสีย หรือ NON-FOOD CELLULOSIC หรือ LINGO-CELLULOSIC BIOMASS และพลังงานไฟฟ้าทดแทนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานทดแทนดังกล่าวจะต้องมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลังงานฟอสซิล 35%

            2. ร่างข้อเสนอเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรถยนต์รุ่นใหม่ คงเป้าหมายเดิมลดปริมาณปล่อยก๊าซเหลือ 130 กรัมต่อกม.แต่ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการ จากที่กำหนดไว้ปี 2012 เป็นอัตราก้าวหน้าในปี 2012-2015 โดย 65% ของรถยนต์ที่จำหน่ายในปี 2012 เพิ่มเป็น 75% 80% และ 100% ตามลำดับ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์มีโอกาสปรับตัว โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ลดการปล่อยก๊าซเหลือ 96 กรัมต่อกม.ในปี 2020 และจะทบทวนอีกครั้งในปี 2013

            ทั้งนี้ ค่าปรับผู้ผลิตรถยนต์ ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายและปล่อยก๊าซเกินกว่ากำหนดไว้ มีอัตราลดลงเช่นกัน เป็นมูลค่า 5-95 ยูโร โดยตั้งแต่ปี 2019 ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องจ่ายค่าปรับ 95 ยูโรต่อกรัมสำหรับปริมาณก๊าซที่ปล่อยเกินกำหนด

บีบสายการบินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

            นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม เตรียมประกาศแผนระยะยาว ที่จะรวมภาคการบินเข้าในแผนการลดมลภาวะ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2548 ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

            แผนดังกล่าวจะจำกัดเพดานก๊าซคาร์บอนที่เครื่องบินปล่อยออกมา หากครบโควตาที่อนุญาตแล้ว สายการบินอาจจะซื้อยอดคาร์บอนคงเหลือ ที่ยังไม่ถึงเพดานกำหนดจากสายการบินอื่น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายนี้จะตกอยู่ที่ผู้โดยสาร การศึกษาถึงผลกระทบของคณะกรรมาธิการ ได้เสนอว่าราคาตั๋วโดยสารน่าจะเพิ่มไม่เกิน 40 ยูโรสำหรับเที่ยวบินระยะไกล

            คณะกรรมาธิการให้เหตุผลว่า หากไม่ดำเนินการในตอนนี้แล้ว การปล่อยอากาศเสียจากการบินจะเพิ่มขึ้น 150% เหนือระดับของปี 2533 ภายในปี 2555 โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเดินอากาศมีการเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากการเกิดขึ้นจำนวนมากของสายการบินต้นทุนต่ำ

            อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้แสดงท่าทีจะดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมาย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 ก.ย.2544 โดยเห็นว่า การกระทำของยุโรปจะเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้า และขัดแย้งกับอนุสัญญาชิคาโกว่าด้วยการบินพลเรือนสากล ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญของภาคอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่คณะกรรมาธิการยืนยันว่า แผนการนี้สอดคล้องกับกฎของสมาคมการขนส่งทางอากาศสากล (IATA)

            ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจการบินระหว่างประเทศ รวมถึงไทยต่อไปได้ในอนาคต จึงเป็นประเด็นที่ภาคการบินของไทยควรจับตาอย่างใกล้ชิด

เดินหน้าคุ้มครองสิ่งแวดล้อมครบวงจร

            นอกจากนี้ ต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รมต.สิ่งแวดล้อมอียูมีมติเกี่ยวกับ "แผนปฏิบัติการนโยบายส่งเสริมการบริโภค และการผลิตอย่างยั่งยืน และนโยบายอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรป ดังนี้

            1. แสวงหาแนวทางเพิ่มเติม จากระบบการติดฉลากด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว

            2. จัดทำข้อเสนอแผนปฏิบัติการเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจที่ปลอดภัยและยั่งยืน โดยใช้คาร์บอนต่ำและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการสมัครใจและบังคับควบคู่กัน

            3. พัฒนาวิธีประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การผลิต การใช้ การทำลาย หรือย่อยสลาย ตลอดสายการผลิตและผลกระทบในระดับระหว่างประเทศ

            4. ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

            5. การออกแบบผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ควรมีกำหนดเวลา ข้อกำหนดขั้นต่ำและค่ากลางที่คาดการณ์ได้เพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว

            6. การติดฉลากควรขยายให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลายประเภท

            7. กฎระเบียบเรื่องฉลากพลังงาน ให้เพิ่มข้อมูลตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์

            8. การเพิ่มความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม

            9. สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำมาตรฐานสินค้าของอียู มีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐานสินค้าระหว่างประเทศด้วย

ผู้บริโภคจากอียูพร้อมซื้อสินค้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

            เมื่อเร็วๆ นี้ในงานประชุมแพค-วิชัน ในฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ผลสำรวจผู้บริโภคในยุโรป พบว่า 75% ของผู้บริโภค ต้องการทราบถึงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและคุณธรรม ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และ 67% ของผู้บริโภคระบุจะเลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนปริมาณต่ำ

            บริษัท ENVIRO-STRATEGIES ของฝรั่งเศส ที่ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ระบุด้วยว่าภาพรวมผู้บริโภคในยุโรปให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และสนใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากข้อมูลหรือเครื่องหมายต่างๆ บนฉลากและบรรจุภัณฑ์ ขณะนี้บริษัทชั้นนำและห้างสรรพสินค้าในยุโรป จัดทำโครงการฉลากคาร์บอนแล้ว เช่น ห้างกาสิโนของฝรั่งเศสซึ่งเป็นรายแรก และปัจจุบันสินค้าอาหารกว่า 3,000 ประเภท ติดข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดทั้งวงจรการผลิต ห้างไอเคอีเอของสวีเดน และห้างมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ของสหราชอาณาจักร ได้ริเริ่มจัดทำโครงการกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น

แนะผู้ผลิตไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            แม้ว่าห้างร้านในยุโรปจะชูเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย” ให้กับสินค้า และยังไม่เรียกร้องผู้ผลิตให้ส่งมอบข้อมูลสิ่งแวดล้อม แต่นำระยะทางการขนส่งวัตถุดิบสินค้าอาหาร มาคิดคำนวณหาปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้าอาหารของห้างด้วย คาดว่าในอนาคตผู้นำเข้าในยุโรปอาจต้องการข้อมูลดังกล่าวด้วย ผู้ผลิตในต่างประเทศจึงควรเตรียมความพร้อม 
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                   
            คณะผู้แทนไทยในยุโรปประเมินว่า กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป หยิบยกมาเป็นจุดขาย สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า แต่กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญเช่นเดียวกับปัจจัยราคาและคุณภาพ

            นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของอียูที่จะบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ จะมีผลต่อสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในอียูในอนาคต และแนวโน้มสินค้าที่จำหน่ายในอียู ต้องจัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้ทรัพยากรตลอดช่วงวงจรผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมปรับกระบวนการผลิต ให้สามารถคงการแข่งขันในตลาดอียูได้ต่อไป

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 7 มกราคม 2551

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - จี 8 ประกาศร่วมมือกับชาติกำลังพัฒนาสู้โลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมยุโรป เข้มงวดเรื่องการปล่อยก๊าซในรถยนต์
บอกข่าวเล่าความ - ญี่ปุ่นออกกฎลดก๊าซคาร์บอน รับพิธีสารเกียวโต
บอกข่าวเล่าความ - เม็กซิโกมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บอกข่าวเล่าความ - ออสเตรเลียจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

This makes everything so completely painsles.

โดย:  Kevlyn  [31 ต.ค. 2554 14:36]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น