สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ของเล่นเด็กปนเปื้อนตะกั่วยังมีขายให้เห็นอยู่หน้าโรงเรียน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่: 7 ม.ค. 2552

            แพทยสภาร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จัดแถลงเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2551 ในหัวข้อ "อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานคร" นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงพัฒนาการของเด็กและแนวโน้มอันตรายจากของเล่นเด็ก และการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ใส่ใจกับปัญหาความปลอดภัยของเด็ก เช่น การสานต่อการนำร่องดำเนินโครงการ "ชุมชนปลอดภัย" ในเขตราชเทวี เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในเด็ก

            นพ. อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์  ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการสำรวจไอคิวและอีคิวเด็กไทย  พบว่ามีค่าเฉลี่ยลดลง  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากของเล่นที่พบว่ามีสารตะกั่วตกค้าง  ส่งผลต่อพัฒนาการ หากเด็กมีสารตะกั่วในโลหิตสูงจะทำให้การพัฒนาของสมองลดลง  ทั้งนี้  ผู้ปกครองควรใส่ใจ  และเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับวัยและปลอดภัย โดยต้องมีตรามาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. รับรองเสมอ

            "จากการสุ่มตรวจของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  กทม.  4  ศูนย์ จำนวนของเล่น 23 ชุด  พบมีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ  17 ส่วนของเล่นตามหน้าโรงเรียนที่มีจำหน่ายราคาถูก  ตรวจจำนวน 26 ชุด จากหน้าโรงเรียน 7 แห่ง พบมีสารตะกั่ว 4 ชุด คิดเป็นร้อยละ  15  นอกจากนี้  ยังพบว่าสีเคลือบของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วเช่นกัน  บางชนิดยังไม่ได้มาตรฐาน  มีทั้งสายรัด  รูลอด  และขอบที่แหลมคม  ซึ่งจะเป็นอันตราย ทั้งนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างความปลอดภัยให้เด็ก  โดยจัดทำห้องสมุดของเล่น  ให้ครอบครัวและเด็กสามารถยืมของเล่นที่ดีมีมาตรฐานไปเล่นได้" นพ.อดิศักดิ์กล่าว

            นพ. อดิศักดิ์กล่าวว่า  การสำรวจยังพบว่า  เด็ก กทม.อายุไม่เกิน 18 ปี ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและความรุนแรง   เฉลี่ยปีละ 314 คน โดยพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ การจมน้ำ  ปีละ 88 คน เขตที่พบมากที่สุดคือ เขตบางซื่อ ลาดกระบัง คลองสามวา  สายไหม ทุ่งครุ  และธนบุรี  เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมน้ำ ไม่ค่อยมีรั้วหรือราวบันไดป้องกันเด็กตกน้ำ  อันดับ 2  คือ อุบัติเหตุ  ปีละ 52 คน ส่วนใหญ่พบในเด็กโต ที่ขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย พบในเขตหนองแขม บางแค บางขุนเทียน บางเขน บางซื่อ สายไหม

            ด้าน พญ. นิตยา คชภักดี ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าวว่า ของเล่นที่ดีจะต้องเหมาะสมกับวัย  และกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิด  รู้จักทำ  เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างจิตใจและสติปัญญา  เช่น การเล่นตัวต่อ หรือแม้แต่ของเล่นแบบไทยๆ   อย่างหม้อข้าวหม้อแกง  ม้าก้านกล้วย ที่ผู้ปกครองอาจทำขึ้นให้เป็นของเล่นเองได้   และทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกับเด็กด้วย ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ต้องทำให้เด็กรู้จักแบ่งเวลามากขึ้น  ถ้าเด็กติดเกม อยู่แต่ในห้อง ไม่สุงสิงกับใคร ก็จะเป็นการปิดกั้นทางสังคม  ต้องมากระตุ้นให้ใช้ชีวิตกลางแจ้งบ้าง ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน ของเล่น  ไม่ควรแบ่งหญิงชาย  เด็กต้องเรียนรู้พัฒนาการงานทุกอย่าง  เช่น เด็กหญิงกับการตอกตะปู เด็กชายกับการทำกับข้าว ตุ๊กตา เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันที่ 8 มกราคม 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เอ็นจีโอในสหรัฐเผยชื่อ 10 อันดับของเล่นอันตราย
บอกข่าวเล่าความ - หลายหน่วยงานในสหรัฐทดสอบสินค้าเกี่ยวกับเด็กพบสารตะกั่วเจือปน
บอกข่าวเล่าความ - เม็กซิโกทำลายของเล่นอันตรายกว่าแสนชิ้น
บอกข่าวเล่าความ - อเมริกาเรียกเก็บเครื่องประดับสำหรับเด็กจากจีนและบางส่วนจากไทย
บอกข่าวเล่าความ - จีนยอมรับของเล่นที่ผลิตจำหน่ายต่างประเทศมีสารปนเปื้อน
บอกข่าวเล่าความ - สารเคมีอันตรายปนเปื้อนผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก
บอกข่าวเล่าความ - ผู้ปกครองหวั่นของเล่นเด็กปนเปื้อนสารพิษ
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น