สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์... ความพร้อมจากฝรั่งเศสสู่ไทย

ผู้เขียน: วารุณี สิทธิรังสรรค์
วันที่: 29 ธ.ค. 2551

            แม้จะมีเงินก็ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ หากปราศจากความพร้อม...

            เสียงทุ้มลึกของ นายสก็อต เดอ มาร์ แต็ง วิล หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ หรือ IRSN (Institut de radioprotection et de s?ret? nucl?aire) สาธารณรัฐฝรั่งเศส กล่าวผ่านล่ามถึงหัวใจของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้แก่สื่อมวลชนไทยที่เดินทางมาพร้อมกับคณะผู้บริหารจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำโดย น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท. และนายศิริชัย เขียนมีสุข เลขาธิการ ปส. เพื่อศึกษาดูงานด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟองเตอร์เน โอ โรส เมืองเบรียน เลอ ชาโต้ และเมืองทรัว สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคมที่ผ่านมา

            "...ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง การเตรียมพร้อมเรื่องบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ประเด็นการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างยังถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะภายหลังการก่อสร้างต้องมีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันทำหน้าที่ในการตรวจสอบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะภายหลังการก่อสร้าง สถาบันมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำทุกปี และทุกๆ 10 ปี จะสุ่มตรวจโรงไฟฟ้าอย่างละเอียด ถึงขนาดสั่งปิดโรงไฟฟ้าเป็นเวลา 2-3 เดือน เพื่อตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หากชำรุดหรือเก่าจะต้องปรับเปลี่ยนทันที" เขาอธิบาย

            ขณะที่ขั้นตอนก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีขั้นตอนที่เป็นระบบตามข้อกำหนดของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ หากผ่านเกณฑ์ต่างๆก็จะได้รับใบอนุญาตให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ขณะเดียวกันระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังมีระบบตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ ที่รัดกุม อาทิ การขนส่งวัสดุ ต้องมีการอบรมพนักงานขับรถให้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ขับขี่ในอัตราที่เร็วเกินกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับวัสดุอุปกรณ์ที่ขนส่ง ที่สำคัญฝรั่งเศสยังมีกฎหมายบังคับให้ภาคประชาชนมีสิทธิในการสอบถามหรือเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้าได้อย่างเสรี หากใครขัดขวางต้องได้รับโทษถึงขั้นจำคุก

แบบจำลองเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

            "หลังการก่อสร้างยังมีการประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยจะประเมินพลังงานไฟฟ้าที่ได้ว่าถูกนำไปใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และบริเวณชุมชนรอบๆ โรงไฟฟ้าได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งชุมชนได้รับสวัสดิการหรือผลประโยชน์พึงได้จากโรงไฟฟ้าอย่างเพียงพอแค่ไหน ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล หรือการพัฒนาชุมชนในแง่ต่างๆ ทั้งหมดต้องมีการประเมินความพึงพอใจทั้งสิ้น" เขาเล่า และว่า แต่ที่ผ่านมา ฝรั่งเศสไม่เคยประสบปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้จะมีกลุ่มคัดค้านก่อนการก่อสร้างบ้าง แต่เมื่อรัฐทำความเข้าใจถึงข้อมูลมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยต่างๆ พร้อมทั้งทำประชาพิจารณ์ สุดท้ายประชาชนก็ยอมรับ ทำให้เสียงคัดค้านเริ่มแผ่วลง

            หลังจากดูงานที่สถาบัน IRSN เมืองฟองเตอร์เน โอ โรส คณะดูงานยังมีโอกาสเดินทางไปยังสำนักงานบริหารจัดการกากกัมมันตรังสีแห่งชาติ ที่เมืองเบรียน เลอ ชาโต้ ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีที่เหลือใช้จากทั่วประเทศ ทั้งในโรงพยาบาล สถาบันวิจัย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยแต่ละปีจะจัดเก็บถังกากกัมมันตรังสีได้สูงถึง 12,000 ลูกบาศก์เมตร โดยสามารถเก็บกากได้สูงถึง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเวลา 60 ปี ขณะที่ระบบการจัดเก็บกากมีความรัดกุมมาก โดยจะบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ชนิดพิเศษ และเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุกที่ถูกจัดเก็บอย่างมิดชิด ซึ่งระหว่างการขนส่งจะมีมาตรการตรวจสอบสารรั่วไหลตลอดเส้นทางจนถึงโรงเก็บ และการเก็บกากจะถูกฝังใต้ดินลึกอย่างน้อย 300 เมตร ที่สำคัญยังเปิดช่องให้ภาคประชาชนเข้าตรวจสอบการดำเนินงานได้ ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยังออกกฎหมายการจัดการกากกัมมันตรังสีที่ระบุว่า ภายในปี 2568 จะต้องจัดเก็บกากโดยการฝังใต้ดินลึกถึง 600 เมตร

            นอกจากนี้ คณะดูงานยังมีโอกาสเดินทางไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โนช็อง ซูร แซน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่เมืองทรัว ซึ่งห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 120 กิโลเมตร โดยมี นายเอลิอ็อง โบ ซาร์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าโนช็อง ซูร แซน ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวมีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า ระบบ PWR หรือระบบน้ำมวลเบา เป็นการอาศัยไอน้ำในการปั่นกระแสไฟฟ้า โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 4 ของทั้งประเทศ

            "เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาก มีการฝึกอบรมบุคลากรพนักงานผ่านห้องจำลองการควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้า ก่อนจะลงมือปฏิบัติการจริง และยังเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรับทราบถึงมาตรการความปลอดภัยต่างๆ โดยประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ทุกเดือน พร้อมสนับสนุนงบประมาณพัฒนาชุมชนในละแวกที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปีละ 25 ล้านยูโร" เขาอธิบาย

            ปัจจุบันประเทศไทยมีการศึกษาความพร้อมในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 (พีดีพี 2007) ของกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง กำลังผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 แบ่งเป็น ระยะที่ 0.1 ปี 2550 เตรียมขั้นต้น

            ระยะที่ 1 ปี 2551-2553 ขั้นเริ่มโครงการการทำประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชน ระยะที่ 2 ปี 2554 -2556 จัดทำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระยะที่ 3 ปี 2557-2562 ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระยะที่ 4 ปี 2563-2564 เดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับประชาพิจารณ์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะมีการดำเนินการที่ชัดเจนภายในปี 2554

            สำหรับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย ปส. มีหน้าที่ในการออกกฎหมายควบคุมการดำเนินงานด้านนิวเคลียร์ รวมทั้งข้อบังคับการดำเนินการต่างๆ แต่จนบัดนี้ยังอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ซึ่งไม่มีการปรับปรุงแก้ไขมาร่วม 47 ปี ขณะที่ น.ส.สุจินดา โชติพานิช ปลัด วท.บอกว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยของสากล เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่

            การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอันทันสมัย แต่ปัญหาอยู่ที่ความพร้อมของประเทศไทย เพราะสิ่งสำคัญต้องทำให้ภาคประชาชนยอมรับให้ได้ก่อน จะเลือกเฟ้นเทคโนโลยี ซึ่งการจะสร้างการยอมรับต้องอาศัยมาตรการความปลอดภัยที่ครบครัน ขณะที่กฎหมายการควบคุมการดำเนินการก็ยังไม่แล้วเสร็จ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่เพียงพอ

            ความหวังที่จะดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเฉกเช่นในฝรั่งเศสคงไม่ง่ายอย่างที่คิด...

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2551

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แผ่รังสีอำมหิต เล่นงานเด็กบ้านใกล้ให้เป็นมะเร็ง
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซเตือนนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออก
บอกข่าวเล่าความ - ไม่เคยมีประเทศไหนผ่านประชามติ เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น