สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

สธ. รณรงค์อาหารปลอดภัย ต้อนรับตรุษจีน

ผู้เขียน: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่: 22 ม.ค. 2552

            สธ. นำทีมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและรถหน่วยเคลื่อนที่ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กทม. ลงพื้นที่ย่านเยาวราช ตรวจอาหารหาสารปนเปื้อน 5 ชนิด รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างปลอดภัย แนะควรรักษาความสะอาดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมการ การปรุงให้สุกและการเก็บอาหาร สำหรับในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงและมีไข้หวัดนกระบาด อย. แนะประชาชนกินอาหารให้ถูกหลักอนามัยและออกกำลังกายเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค

            นายวิทยา แก้วภารดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศมีการจับจ่ายซื้ออาหารต่างๆ จำนวนมากจากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น วันนี้ (22 มกราคม 2552) จึงได้นำทีมเจ้าหน้าที่ อย. และรถหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร (Mobile Unit) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กทม. จัดกิจกรรม อาหารปลอดภัย ต้อนรับตรุษจีน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารในช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างปลอดภัย และเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าอาหารที่ซื้อมาปลอดจากสารปนเปื้อน โดยได้นำทีมลงพื้นที่ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนเชื้อสายจีน และเปิดให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้ออาหาร นำอาหารที่ตนซื้อมาตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน 5 ชนิด ได้แก่ ฟอร์มาลีน ในอาหารทะเล ผักผลไม้ ปลาหมึกแช่แข็ง บอแรกซ์ ในอาหารประเภทลูกชิ้น ตังกวยแฉะ (ขนมฟักแห้ง) ขนมอี้ สารกันรา ในผักผลไม้ดอง สารฆ่าแมลง ในผักผลไม้ ปลาหมึกแห้ง และสารฟอกขาว ในถั่วงอก เต้าหู้ หน่อไม้จีน เส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งผู้บริโภคสามารถรอรับผลการตรวจวิเคราะห์ได้ในเวลารวดเร็ว โดยใช้เวลาตรวจประมาณ 5 นาที ยกเว้น สารฆ่าแมลงใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพปราศจากสารปนเปื้อนแล้ว ผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวังในขั้นตอนการเตรียม การปรุงและเก็บรักษาอาหาร โดยในขั้นตอนการเตรียมอาหารควรรักษาความสะอาดของมือ อุปกรณ์ทำอาหาร และบริเวณที่ปรุงอาหาร เพราะจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายบางชนิดจะพบอยู่ตามผ้าเช็ดมือ เครื่องครัว โดยเฉพาะเขียง ทำให้มีโอกาสติดมากับมือผู้ปรุงอาหาร และปนเปื้อนสู่อาหารได้ นอกจากนี้ ยังไม่ควรใช้ภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหารร่วมกันระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เพราะจุลินทรีย์ในอาหารดิบอาจแพร่ไปสู่อาหารอื่นๆ สำหรับการปรุงอาหารต้องปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่ และอาหารทะเล หากเป็นน้ำแกงต้องต้มให้เดือดพล่าน เพราะการปรุงอาหารให้สุกอย่างถูกวิธีจะช่วยทำลายเชื้อจุลินทรีย์อันตรายได้เกือบทุกชนิด ทั้งนี้ หลังจากที่เซ่นไหว้แล้ว ควรเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่วางอาหารที่สุกแล้ว เช่น ไก่ เป็ด ไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมงโดยไม่แช่เย็น อาหารที่สุกแล้วจะเน่าเสียง่ายควรเก็บไว้ในตู้เย็น และเมื่อจะนำออกมารับประทานให้อุ่นอาหารให้ทั่วถึงก่อนทุกครั้ง

            สำหรับในช่วงนี้ สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ประกอบกับเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในบางพื้นที่ของประเทศ อย. จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และถูกสุขลักษณะ มีการปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกตายหรือผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบทันที หากเป็นหวัดให้สังเกตอาการ ถ้ามีอาการคล้ายไข้หวัดนกให้พบแพทย์ทันที กรณีไม่แน่ใจ อาจไปร้านยาที่มีคุณภาพ เพื่อรับการวินิจฉัยคัดกรองจากเภสัชกรก่อน

ที่มาของข้อมูล : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Formaldehyde
Sodium tetraborate decahydrate
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - อย. รณรงค์ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงใช้น้ำมันทอดซ้ำ
บอกข่าวเล่าความ - อย. เอาผิดบริษัทนำเข้าอาหารที่ไม่ปลอดภัย
บอกข่าวเล่าความ - สธ. เผยผลตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร พบผักชีมีสารฆ่าแมลงเพียบ
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น