สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คลื่นทะเลสูงขึ้น... ลางร้ายชายฝั่งทะเลไทย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
วันที่: 22 ม.ค. 2552

            พบปรากฏการณ์ความเร็วลมเพิ่มและเปลี่ยนทิศ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ถล่มอ่าวไทยเซาะทรายออกจากฝั่ง  นักวิชาการชี้อีกไม่เกิน 50 ปี น้ำทะเลกลืนแผ่นดินกว่า 16 กม.ชายฝั่งปากพนังจะสาบสูญ แหลมตะลุมพุกจมอยู่ใต้น้ำ

            ปรากฏการณ์คลื่นสูง 2-4 เมตร โหมกระหน่ำริมฝั่งทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ความแปรปรวนหรือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติส่วนใดของโลก ทำให้ฝั่งทะเลไทยจากเดิมที่มีคลื่นสูงไม่เกิน 2 ฟุตหรืออย่างมากก็ 1 เมตร กลายเป็นคลื่นใหญ่สูงเท่าตึก 1 ชั้นที่ซัดเข้าชายฝั่งเป็นระยะๆ

            ล่าสุด วันที่ 15 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแนวชายฝั่งทะเลที่ จ.นครศรีธรรมราช ถูกคลื่นขนาดใหญ่ถล่มต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านใน อ.ปากพนัง และแหลมตะลุมพุก ทำให้ชาวประมงที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ไม่ได้ออกเรือหาปลามานานกว่า 2 เดือนแล้ว

            นายสุนีย์ ทองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง เล่าว่า คลื่นขนาดใหญ่พัดพาน้ำทะเลไหลเข้าหมู่บ้านหลายชั่วโมง จนทำให้หมู่บ้านชาวประมงทั้งหมดโดนน้ำท่วม นอกจากจะออกไปหาปลาไม่ได้แล้ว ปลากระพง ปลาดุกทะเล ฯลฯ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ถูกกระแสน้ำทะเลกลืนหายไปเกือบหมด คลื่นทะเลที่พัดต่อเนื่อง 6 ชั่วโมงได้ทำให้ชาวประมงหมู่ 2 และหมู่ 3 กว่า 200 ครัวเรือน ต้องย้ายที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน เพราะถูกกระแสน้ำทะเลพัดแรงจนกระทั่งโอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านตั้งไว้ใส่น้ำฝนนั้นถูกคลื่นยักษ์พัดทรายเข้าไปจนสูงเกือบท่วมโอ่งหรือประมาณ 70 ซม. 

            นายแพรก สังข์แก้ว อายุ 78 ปี อยู่เลขที่ 47 หมู่ 10 ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง เปิดเผยว่า บ้านหลังเดิมหายไปในทะเลแล้วเหมือนกับพื้นที่สวนมะพร้าวที่เคยมีกว่า 600 ต้น ถูกน้ำทะเลกลืนไปจนเหลือต้นมะพร้าวแค่เพียง 4 ต้นเท่านั้น  ส่วนบ้านที่อาศัยกินนอนอยู่ขณะนี้กำลังถูกคลื่นทะเลกัดเซาะพื้นที่บริเวณตัวบ้านจนถึงใต้ถุนบ้าน จนเหลือเนื้อที่เพียงไม่ถึง 10 เมตร หากคลื่นทะเลกลืนบ้านใหม่ซ้ำอีกครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะอพยพไปอยู่ที่ไหนแล้ว

            ข้อมูลงานวิจัยหัวข้อ "อิทธิพลของคลื่นและการเคลื่อนที่ตะกอนแนวชายฝั่งที่มีผลต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลในอนาคต บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช" ที่วิเคราะห์ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคลื่นลมบริเวณลุ่มน้ำปากพนังกว่า 20 ปี ระบุว่า ระหว่างปี 2526- 2546 มีการเปลี่ยนทิศทางและความเร็วของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กับ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อสำรวจความเร็วลมและทิศทางกระแสน้ำ เปรียบเทียบระหว่างปี 2543 กับ 2546 พบว่าที่สถานีปากพนัง ในปี 2543 มีความเร็วลม 0.006 เมตรต่อวินาที และทิศทางกระแสน้ำ 193 องศาจากทิศเหนือ แต่ในปี 2546 พบว่าความเร็วลมเพิ่มเป็น 0.025 เมตรต่อวินาที ขณะที่ทิศทางกระแสน้ำกลายเป็น 88 องศาจากทิศเหนือ ทำให้ปริมาณตะกอนพื้นท้องทะเลเคลื่อนที่อย่างรุนแรง

            งานวิจัยดังกล่าวศึกษาลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยาชายฝั่งทะเลของพื้นที่ปากพนังจนพบว่า เมื่อ 6 -7 พันปีที่แล้วนั้น ชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ในอดีตอยู่ไกลออกไปจากปัจจุบันประมาณ 35 กิโลเมตร และกระแสน้ำในอดีตเคลื่อนที่จากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ซึ่งเป็นลักษณะตรงกันข้ามกับปัจจุบันที่กระแสน้ำจะเคลื่อนที่จากทิศใต้สู่ทิศเหนือ

            รศ.ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาภัยพิบัติและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยข้างต้นอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และอันดามันนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ โดยคลื่นลมทะเลจะเป็นตัวพัดพาตะกอนโคลนหรือทรายออกจากแนวชายฝั่ง ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์ยังมีส่วนในการทำให้ชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงด้วย เช่น ทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติ การสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ การขุดทรายขาย ฯลฯ ล่าสุดผลศึกษารูปแบบการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามันกำลังถูกกัดเซาะหายไปปีละไม่ต่ำกว่า 5 เมตร

            ทั้งนี้ จังหวัดที่อยู่ในภาวะวิกฤติคือสมุทรปราการ เนื่องจากภายใน 30 ปีที่ผ่านมา ชายฝั่งทะเลของสมุทรปราการถูกกัดเซาะไปแล้ว 45 กิโลเมตร หรือประมาณ 1 หมื่นไร่ หากไม่มีมาตรการแก้ไขเร่งด่วน อีก 20 ปีอาจถูกกัดเซาะหายไปประมาณ 65 เมตรต่อปี ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของน้ำทะเลด้วย และอีก 50 ปีข้างหน้าชายฝั่งทะเลปากพนัง และแหลมตะลุมพุกจะหายไป เพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะทำให้แผ่นดินหายไปประมาณ 16 กิโลเมตร

            สำหรับข้อสงสัยของชาวบ้านว่าทำไมตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา คลื่นลมทะเลจึงได้พัดกระแทกชายฝั่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนั้น ดร.ธนวัฒน์ อธิบายว่าจากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลต่อเนื่อง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2524-2546 พบว่า ในปี 2524 ความเร็วของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 8-9 นอต ทำให้ตามชายฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร แต่พอปี 2546 พบว่าความเร็วลมเพิ่มเป็น 13 นอต ส่งผลให้คลื่นทะเลซัดสูงขึ้นถึง 2-4 เมตร เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้อาศัยอยู่ติดทะเลบางแห่งสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเด่นชัด

            "ทุกวันนี้คลื่นทะเลพัดเข้าชายฝั่งสูงและใหญ่กว่าอดีต 3 เท่า หมายความว่า ลมแรงขึ้นและทิศทางลมเปลี่ยนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าภาวะโลกร้อนก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะศึกษาย้อนหลังไป 6 พันปีที่แล้ว พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น 2-4 องศา ทำให้กระแสน้ำกลับทิศทาง เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นและคลื่นที่พัดชายฝั่งก็รุนแรงขึ้น ผลสุดท้ายคือชายฝั่งทะเลไทยจะหายไปอีก 500 เมตรภายใน 100 ปี ชายฝั่งของจังหวัดบริเวณอ่าวไทยตอนบนจนถึงกรุงเทพฯ อาจหายไป 6-8 กม. ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างเร่งด่วน และต้องแก้ให้ถูกวิธีด้วย เช่น ปลูกป่าชายเลน สร้างกำแพงกั้นคลื่น กองหินกันคลื่น ไม่เช่นนั้นจะมีสภาพเหมือน 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนหายไปแล้ว 1 กม. หรือประมาณ 1.8 หมื่นไร่" ดร.ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาของข้อมูล :  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 22 มกราคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ภัยเงียบจากคาร์บอนส่งผลให้เกิดทะเลกรดคุกคามโลก
บอกข่าวเล่าความ - มลพิษจากก๊าซคาร์บอนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนต่อปี
บอกข่าวเล่าความ - ก๊าซเรือนกระจกทะลุจุดสูงสุดอีกแล้ว
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

เป็นจริงดังข้อความข้างต้นกระผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามคลื่นลมในทะเลเพราะมีอาชีพเกี่ยวกับเรือประมงจึงต้องติดตามภูมิอากาศด้านฝั่งอ่าวไทยตอนล่างในช่วง22/12/53ถึง12/1/54คลื่นลมยืดเยื้อมากและยังมีต่อไปอีกไม่ทราบว่าจะหมดเมื่อไหร่เป็นคลื่นลมที่ยาวนานกว่าทุกปีหรือว่านี่เป็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้มรสุมเกิดถี่มาก

โดย:  เด็กตานี  [12 ม.ค. 2554 14:19]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น