สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กรมปศุสัตว์เผยยังมีผู้ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
วันที่: 19 ธ.ค. 2550

            กรมปศุสัตว์ เผยผลการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรยังมีผู้ลักลอบใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนของการใช้ปีนี้น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 2.03 พร้อมกับเร่งปราบการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มสุกรตั้งเป้าให้หมดไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์ ขู่เพิกถอนใบรับรองทันทีที่ตรวจพบ

            นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในสุกรซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 นั้น กรมฯได้ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างปัสสาวะจากฟาร์มสุกรและโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 449,893 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างปัสสาวะสุกรจากโรงฆ่าสัตว์ ทั่วประเทศ จำนวน 128,248 ตัวอย่างและจากฟาร์มสุกรทั่วประเทศ จำนวน 321,645 ตัวอย่างได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะและรายงานผลการตรวจวิเคราะห์แล้ว 437,491 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 97.24

            ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด โดยคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในสุกรเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยทั่วประเทศ ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่กระทำความผิดโดยในเดือนตุลาคม 2550 เป็นผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 3 ราย

            โดยมีฟาร์มสุกรที่ถูกดำเนินคดีในท้องที่ 2 จังหวัดส่วนสุกรที่ตรวจพบสารฯในปัสสาวะจะถูกกักห้ามเคลื่อนย้ายและถูกสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะตรวจทุก 2 วันจนไม่พบสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะแล้ว จึงจะขายเข้าโรงฆ่าสัตว์ได้ ซึ่งในเดือนตุลาคม 2550 ได้กักสุกร จำนวน 371 ตัว ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯได้สั่งกักสุกรแล้ว จำนวน 351,581 ตัว

            ทั้งนี้จากรายงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์พบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549พบสารต้องห้ามคิดเป็น 2.52 % ซึ่งเปรียบเทียบกับระยะเวลาดังกล่าวในปี 2550 พบว่าสารต้องห้ามลดลงเหลือเพียง 2.03%

            อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องดำเนินการปราบปรามการใช้สารต้องห้ามในฟาร์มสุกรให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์ โดยจะเข้มงวดตรวจสอบในฟาร์มมาตรฐานที่ได้รับใบรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้วถ้าตรวจพบกรมปศุสัตว์จะเพิกถอนใบรับรองทันที

            กรมฯได้รณรงค์ตรวจสอบฟาร์มสุกรทั่วประเทศให้ปลอดจากสารกลุ่ม-เบต้าอะโกนิสต์ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ทั่วประเทศ ระดมกำลังเข้าตรวจสอบฟาร์มทุกฟาร์ม(เอ็กซเรย์พื้นที่) และดำเนินคดีกับฟาร์มสุกร ทุกฟาร์มที่พบมีการลักลอบใช้สารดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันประเทศไทยและต่างประเทศได้ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด

            กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือมายังฟาร์มสุกรทั่วประเทศและประชาชนทั่วไปที่ทราบเบาะแสการลักลอบนำเข้าผลิตหรือขายสารเร่งเนื้อแดง ยาสัตว์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์เถื่อนแก่ฟาร์มสุกรโปรดแจ้งข้อมูลมายังกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 02 653 4555 หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงได้หมดไป และเนื้อสุกรมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุกปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ

            ทั้งนี้บางรายมีอาการเป็นลมคลื่นไส้อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไธรอยด์ ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงนั้นผู้บริโภคควรเลือกเนื้อสุกรที่มีสีชมพูหรือแดงเรื่อๆ สีไม่แดงสดจนเกินไป มีมันหนาบริเวณสันหลังถ้าตัดขวางจะเห็นมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อได้ชัดเจน เมื่อเอานิ้วมือกดเนื้อจะบุ๋มลงไปตามแรงกด


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2550

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ทำไมทุกวันนี้ยังมีคนใช้อยู่ล่ะคะ

ดิฉันเคยเห็นเค้าใช้  ตอนก่อนจับสุกรขาย 3 อาทิตย์ ทำให้ตรวจไม่เจอ

โดย:  คนดีๆค่ะ  [3 มิ.ย. 2552 23:22]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ปัจจุบันเห็นยังใช้กันอยู่เลย

โดย:  ผู้หวังดี  [22 มิ.ย. 2552 18:45]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

ควรบอกประเภทของสารเร่งเนื้อแดง

โดย:  เอ๋  [12 ก.ค. 2552 12:41]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

เป็นสารที่ใช้ในการปรับซากจากต่างประเทศ เช่น เมริกา   มีชื่อว่า Ractopamine
Clenbuterol
zipaterol มีแค่ 3 ตัวนี้ที่ยังใช้กันในหลายๆ ประเทศ

โดย:  A.P.tech  [16 ส.ค. 2552 16:21]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น