สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ศาลปกครองระงับยกเลิกสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย ชี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์มติชน
วันที่: 17 มี.ค. 2552

            ศาลปกครองกลาง ชี้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ยกเลิกสารซัลเฟอร์ เป็นวัตถุอันตรายน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งทุเลาการบังคับใช้ พบพิรุธรีบออกมาใช้ คาดใช้ปม 13 พืชสมุนไพรเป็นวัตถุอันตรายบังหน้า หวังให้ค้านเพื่อแอบพ่วงยกเลิกซัลเฟอร์ด้วย ลือหึ่งส่อช่วยเอกชนที่แอบนำเข้าเจอดีเอสไอและกรมศุลกากรจับ คาดต้องถูกปรับกว่าหมื่นล้าน

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 224/2552 ให้ทุเลาการบังคับตามประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ลงนามโดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 เรื่องบัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกสารซัลเฟอร์ จากรายชื่อวัตถุอันตรายในบัญชีท้ายประกาศ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2538 และให้ผลิตภัณฑ์จากพืช 13 ชนิด อาทิ พริก ขิง ข่า ขมิ้นชัน สะเดา ขึ้นฉ่าย ฯลฯ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ในบัญชี ข.แนบท้ายประกาศ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากศาลเห็นว่าประกาศดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทั้งหมดสามารถอุทธรณ์คำสั่งการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งหรือทราบคำสั่งศาล

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างนายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ผู้ฟ้องคดี กับนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 คน ร่วมกันออกประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกสารซัลเฟอร์ จากรายชื่อวัตถุอันตรายในบัญชีท้ายประกาศ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2538 และให้ผลิตภัณฑ์จากในส่วนพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ในบัญชี ข.แนบท้ายประกาศ

            ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปอย่างเร่งรีบ เนื่องจากพบว่าหนังสือดังกล่าวทำถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที ทั้งที่การลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมากจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากมีการนำส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

            ข่าวแจ้งว่า ซัลเฟอร์ (Sulfur) หรือกำมะถันถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ หรืออาจนำไปทำวัตถุระเบิดได้ ซัลเฟอร์จึงถูกจัดให้อยู่ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2538 ที่ลงนามโดยนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยนั้น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ 2 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตรควบคุมการใช้เพื่อผลิตสารป้องกันเชื้อรา และกรมโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถยนต์

            จากข้อมูลของระบบงานสารสนเทศวัตถุอันตรายรายปี จำแนกตามผู้ขออนุญาต/ผู้ประกอบการ จัดทำโดยสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2551 ชื่อวัตถุอันตราย ซัลเฟอร์ มีบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าและได้รับใบสำคัญขึ้นทะเบียน 97 บริษัท โดยในปี 2549 มีการนำเข้าสารซัลเฟอร์ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 7 ครั้ง ปริมาณ 1.25 แสนกิโลกรัม ปี 2550 เพิ่มเป็น 147 ครั้ง ปริมาณ 1.61 ล้านกิโลกรัม และในครึ่งปีแรกของปี 2551 (มกราคม - มิถุนายน) เพิ่มเป็น 2 เท่า คือนำเข้า 193 ครั้ง ปริมาณ 3.21 ล้านกิโลกรัม

            ข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม 2551 พบว่า มีการจับกุมบริษัทที่นำเข้าสารซัลเฟอร์โดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องหลายบริษัท โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจค้นจับกุมได้ 6 ราย รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท กรมศุลกากรตรวจค้นจับกุม 21 ราย มูลค่า 1,267 ล้านบาท รวมคดีที่ทั้งสองหน่วยงานจับกุมมีมูลค่า 2,467 ล้านบาท ซึ่งตามพ.ร.บ. กรมศุลกากร หากถูกดำเนินคดีและศาลพิพากษาลงโทษจะต้องชำระค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่านำเข้าหรือเป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท

            แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังการจับกุมได้มีความพยายามของกลุ่มบริษัทผู้นำเข้าให้ออกประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกสารซัลเฟอร์ จากรายชื่อวัตถุอันตรายในบัญชีท้ายประกาศ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2538 โดยความร่วมมือของข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองในกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผ่อนปรนการควบคุมการนำเข้าสารซัลเฟอร์

            กระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2551 มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะเลขานุการได้เสนอให้ออกประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกเลิกสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย แต่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้คัดค้านในที่ประชุม เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นคดีความอยู่ และไม่จำเป็นต้องทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เกี่ยวกับผลย้อนหลัง เพราะจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่ถูกจับกุม ปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นด้วยว่าไม่ต้องหารือ อสส. แต่ก็เห็นชอบที่เสนอให้ยกเลิกสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรม  แหล่งข่าวเดิมระบุ

            แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังมีคำสั่งศาลปกครองกลางออกมา ทำให้ได้รู้ความจริงว่าการประกาศให้พืชสมุนไพรของไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เหมือนเป็นการตบตาเพราะเมื่อมีเกษตรกรเดือดร้อนออกมาประท้วง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีคำสั่งยกเลิกพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ออกจากวัตถุอันตราย พร้อมมีคำสั่งยกเลิกสารซัลเฟอร์ออกจากวัตถุอันตรายในบัญชีท้ายประกาศ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2538 อีกด้วย

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Sulfur
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ประกาศ!! พืชสมุนไพรไทยจัดเป็นวัตถุอันตราย
บอกข่าวเล่าความ - กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศรายชื่อพืชทั้ง 13 ชนิด
บอกข่าวเล่าความ - คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติทบทวนสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ข้อมูลจากข่าวมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก เช่น ประกาศในปี 2538 มีเฉพาะซัลเฟอร์ของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ไม่มีซัลเฟอร์ที่อยู่ในความรับชอบของกรมโรงงาน ที่ใช้กับอุตสาหกรรมยาง ในส่วนของใช้เพื่ออุตสาหกรรม เพิ่งมีในปี 49

โดย:  sulphur  [22 มี.ค. 2552 20:46]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

มีความไม่เข้าใจอีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของซัลเฟอร์ที่บอกว่ามีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจนั้น อาจมีความเข้าใจผิดเนื่องจากซัลเฟอร์ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจคือแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่ใช่ซัลเฟอร์ซึ่งเป็นธาตุบริสุทธิร้อยละ 98-99.99 ไม่เป็นอันตรายดังกล่าวตามที่หลายคนอยากให้เป็น

โดย:  sulphur  [22 มี.ค. 2552 20:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:4

ตกลงปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วหรือยังแล้วบังคับใช้เมื่อไรถามเจ้าหน้าที่กรมโรงงานก็ไม่รู้บอกให้ทำหนังสือหารือ อย่างเดียว

โดย:  เอก  [14 ก.พ. 2554 10:01]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น