สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ธนาคารฟืน ลดโลกร้อน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
วันที่: 27 ก.ค. 2552

            จากปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทยที่มีสถิติลดลงอย่างน่าตกใจ โดยในปี พ.ศ.2549 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 30.92 หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วประเทศ ในขณะที่ปี พ.ศ.2504 ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ป่าไม้มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด

            ตัวเลขปริมาณป่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดนี้  บ่งบอกว่า  หากไม่รีบแก้ไขป้องกันปัญหา  การบุกรุก  ตัดไม้ทำลายป่า  ซึ่งดำเนินการโดยนายทุนกลุ่มผลประโยชน์ที่จ้องตักตวงผลประโยชน์จากป่าไม้ที่หลงเหลืออยู่  หรือการใช้ประโยชน์จากป่าของชาวบ้านที่เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง  ขาดจิตสำนึกการเห็นคุณค่าของป่า  ก็เชื่อแน่ว่าป่าคงจะหมดไปจากเมืองไทยในไม่ช้าอย่างแน่นอน

            ที่ผ่านมากรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้แก้ปัญหาดังกล่าวนี้  ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ  เพื่อป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า  ในพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ  รวมถึงป่าที่อยู่ใกล้ชิดกับเขตหมู่บ้านที่อยู่ในป่าเขา  หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าป่าชุมชน  แต่ก็ถูกกระแสต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากวิธีการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่  เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายป้องปราม  และปราบปรามชาวบ้าน  ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับป่าเกิดทัศนคติที่เป็นลบต่อเจ้าหน้าที่

            ด้วยเหตุนี้  ทางกรมป่าไม้จึงก่อเกิดแนวคิดอีกแบบหนึ่ง  แทนที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ใช้อำนาจรัฐจัดการ  ก็หันมาให้ความสนใจในการส่งเสริมความเข้มแข็งในชุมชน  และนำความเข้มแข็งของชุมชนระดับท้องถิ่นเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการใช้แก้ปัญหาป่าถูกทำลาย  หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมละแวกนั้น

            โครงการธนาคารฟืนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจากการนำไม้จากป่า  มาใช้ทำเป็นฟืนในครัวเรือนเนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนอยู่ถึงร้อยละ  90  ของพื้นที่จังหวัด  และมีสภาพเป็นป่าไม้เป็นส่วนใหญ่  ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล  คมนาคมขนส่งลำบาก  มีรายได้น้อย  จึงยังใช้ชีวิตอิงอยู่กับป่าไม้และธรรมชาติอยู่มาก  การประกอบกิจวัตรในประจำวันยังคงอาศัยฟืนจากป่าไม้มาทำเป็นเชื้อเพลิง  อีกทั้งในฤดูฝนนั้น  จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง  ทำให้หาเก็บไม้แห้งมาเป็นฟืนไม่ได้จึงพบว่า  ชาวบ้านมักจะตัดต้นไม้นำมาทำเป็นฟืนเพื่อมากักตุนในบ้านตัวเองตั้งแต่ปลายฤดูร้อน  โดยการนำไม้มาทำฟืนในลักษณะนี้เป็นการใช้ป่าไม้อย่างไม่ยั่งยืน  มีแต่จะลดปริมาณป่าไม้ลงไปเรื่อยๆ  เป็นการทำลายป่าไม้ลงอย่างรวดเร็ว  เทียบสัดส่วนแล้วจำนวนไม้ที่ใช้มาทำฟืนในแต่ละปี  มีปริมาณมากกว่าที่ใช้สร้างบ้านเสียอีก

            นายรังสรรค์  ขอผล  หัวหน้าโครงการธนาคารฟืนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า  ทางโครงการเล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับป่าไม้ของแม่ฮ่องสอนจึงนำแนวคิดเดียวกับการนำเงินไปฝากธนาคารมาใช้เพื่อลดปัญหาป่าไม้เสื่อมโทรมโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่  พ.ศ.  2547

            "ถ้าคิดว่าป่าเป็นธนาคาร  เราก็เอาต้นไม้โตเร็วไปปลูกในพื้นที่  ถือว่าเป็นการเอาเงินไปฝาก  แล้วป่ามีการเจริญเติบโตมากเท่าไหร่  เราก็นำส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นมาใช้  เช่น  ปลูกไป  5  ไร่  โตมา  3  ตารางเมตร  เราก็เอาส่วน  3  ตารางเมตรนี้มาใช้เป็นฟืน  เป็นเหมือนการกินดอกเบี้ยจากธนาคาร"  หัวหน้าโครงการธนาคารฟืนกล่าว

            แต่การจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้าน  ที่ดำเนินกันมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  รังสรรค์กล่าวว่า  การใช้ชีวิตของชาวบ้านที่ตัดไม้มาทำฟืนนั้นหยั่งรากลึกอยู่ในวิถีของเขามานานเป็นร้อยๆ  ปีแล้ว  การทำให้โครงการนี้สัมฤทธิ์ผล  จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากยังดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมๆ  ต่อไป  รวมไปถึงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  สร้างความร่วมมือภายในชุมชน  ในการที่จะตรวจสอบดูแลป่าไม้ภายในชุมชนของตัวเองให้มีการบริหารจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ  ในขณะเดียวกัน  หน่วยงานของภาครัฐก็จะต้องคอยให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในด้านปัจจัยต่างๆ  เช่น  องค์ความรู้ด้านงานวิจัย  งบประมาณและกล้าไม้โตเร็วที่จะให้ชาวบ้านนำไปปลูก  เป็นต้น

            โดยในด้านการให้ความรู้นั้น ได้จัดอบรมให้กับชาวบ้าน โดยเลือกชุมชนที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งในระดับที่จะสามารถดำเนินการธนาคารฟืนได้ ให้ส่งตัวแทนมาหมู่บ้านละ  20  คน ปีละ 5 หมู่บ้าน รวม 100 คน เข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานหลักสูตร "การผลิตและใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ"  ซึ่งมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การใช้พลังงานในประเทศไทยว่า การใช้ทรัพยากรด้านพลังงานอย่างไม่ยั่งยืนนั้นจะส่งผลอย่างไร รวมไปถึงการให้แนวคิด หลักการ และแนวทางการดำเนินงานของโครงการธนาคารฟืนให้กับชาวบ้าน ไม่ได้เป็นไปในลักษณะยัดเยียด แต่เป็นการหยิบยื่นทางเลือกใหม่ๆ ให้

            "สิ่งที่ยากที่สุดคือการไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา  แต่เดิมเขาจะเข้าไปในป่าใกล้บ้านเขาเพื่อตัดไม้มาทำฟืน  เมื่อไม้ลดน้อยลงก็จะกินพื้นที่ป่าเข้าไปมากขึ้น  เราจะต้องสร้างความรู้สึกให้เขาเห็นว่า  การดำเนินชีวิตของเขาแบบนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อลูกหลานและชุมชนของเขา  เราต้องตีแผ่ปัญหาให้เขาเห็น  แก้ความเคยชินคุ้นเคยเดิมๆ  เมื่อเขามองเห็นปัญหาและเกิดความรู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขาแล้ว  เราก็จะชี้ให้เขาเห็นถึงทางเลือกใหม่ๆ  และทางออกใหม่ๆ  ให้กับเขา"  นายรังสรรค์กล่าว

            ทางเลือกที่ว่านั้น  นอกจากจะนำแนวคิดธนาคารฟืนไปให้แล้ว  ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากฟืนเป็นถ่าน  ซึ่งให้ความร้อนสูงกว่า  มีควันน้อยกว่า  และยังเป็นการลดปริมาณการใช้ไม้จากป่าธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง  โดยการจัดทำเตาอิฐของกรมป่าไม้ขนาด  2  ลูกบาศก์เมตร  ให้หมู่บ้านละ  1  เตา  และสอนให้ชาวบ้านทำเตาเผาถ่านจากถังเหล็กขนาด  200  ลิตร  ทำให้สามารถใช้เศษไม้หรือวัสดุการเกษตรที่เหลือมาใช้ทำเป็นถ่านได้  ซึ่งตัวเตามีระบบดักจับตะกอนที่อยู่ในควันจากการเผาถ่านไม่ให้ปนเปื้อนในอากาศมาก  ผลที่ได้จากตะกอนกลายมาเป็นน้ำส้มควันไม้  ที่เอาไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักได้อีกต่อ

            นอกจากนี้  หากนำลูกไม้หรือผลไม้มาทำเป็นถ่าน  ยังสามารถใช้เป็นถ่านดูดกลิ่นที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามโดยใช้เตาเผาถ่านขนาดเล็กที่ออกแบบประยุกต์จากถังน้ำมันขนาด  200  ลิตร  เพื่อใช้เผาถ่านในปริมาณครั้งละไม่มาก  สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง  นับเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านหลายๆ  หมู่บ้านในเมืองสามหมอกแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ

     อย่างไรก็ตาม  คุณูปการที่มากกว่านั้นของโครงการนี้คือ  การสร้างความรับรู้ให้กับชาวบ้านในชนบทของประเทศไทยได้มองเห็นถึงผลกระทบที่เขาสร้างให้กับสิ่งแวดล้อมของโลก  และหันมาร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง  เป็นผลสะท้อนที่ได้ผ่านการสร้างความเข้าใจและความเข้มแข็งให้กับชุมชนจนสามารถดูแลตัวเองได้  ส่งผลให้เกิดจิตสาธารณะของชาวบ้านที่มองเห็นความสำคัญของป่า  ร่วมรักษามรดกจากผืนดินสืบต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาและพวกเร 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ไฟไหม้ป่าอุทยานแห่งชาติ ผลพวงจากโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - โลกร้อนทำป่าเสื่อมโทรม ต้นไม้อาจปล่อยคาร์บอนแทนการดูดซับ
บอกข่าวเล่าความ - เดินทางไกลไปปลูกป่า ปล่อยคาร์บอนมากกว่าต้นไม้สามารถดูดคืน
บอกข่าวเล่าความ - โครงการจอมป่า ความสำเร็จบทแรกมูลนิธิสืบฯ
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น