สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 3 ส.ค. 2552

            ประเทศไทยพร้อมรับมือกับกฎระเบียบใหม่เรื่องโลกร้อนหรือไม่ ??? ไม่ว่าจะเป็นกติกาในระดับระหว่างประเทศที่กำลังเจรจาจัดทำ Post 2012 Regime หรือกติกาแบบมาตรการฝ่ายเดียวที่ประเทศอุตสาหกรรมกำลังผลักดันออกมาบังคับใช้ เช่น กรณีกฎหมาย Clean Energy and Security Act ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น เป็นคำถามที่ตั้งทิ้งไว้ในบทความครั้งก่อน ในครั้งนี้จะลองสำรวจดูความพร้อม การเตรียมการของประเทศไทยในแต่ละด้าน

            ในด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อการเจรจาเวทีระหว่างประเทศ ขณะนี้เรามีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในรัฐบาลปัจจุบัน นายกอภิสิทธิ์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการดังกล่าวไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อรับผิดชอบงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการประสานท่าทีไทยในการเจรจา ด้านวิชาการ และด้านการสื่อสารสาธารณะ สำหรับคณะอนุกรรมการด้านการประสานท่าทีไทยในการเจรจา ได้ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม  และครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยได้เริ่มมีการจัดวางท่าทีการเจรจาของไทยในหลายประเด็นได้ชัดเจนบ้างแล้ว นับเป็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำอาเซียนซึ่งมีวาระเรื่องโลกร้อนอยู่ด้วย และการเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจา Post 2012 Regime ในประเทศไทยช่วง 28 กันยายน - 9 ตุลาคม ปีนี้ด้วย 

            อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการบ้านทำอีกมากในการเตรียมความพร้อมเรื่องการเจรจา เช่น การศึกษาวิเคราะห์ตัวเอกสารเจรจา (Revised Negotiating Text) การสร้างจุดยืนร่วมกันในระดับกลุ่มประชาคมอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำกรอบเจรจาเรื่องโลกร้อนเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 เป็นต้น
 
            ในด้านการจัดทำนโยบายและแผน มีการดำเนินเกี่ยวข้องอยู่ในขณะนี้สองส่วน คือ การจัดทำแผนแม่บทของไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติกำลังดำเนินการอยู่ และการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งมีหัวข้อสำคัญเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวาระประชาคมโลกเรื่องโลกร้อน (Global Agenda on Climate Change) แผนทั้งสองเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการเตรียมป้องกันหรือรองรับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนในเชิงกายภาพ (ความแปรปรวนของฝน พายุ ภัยพิบัติ ฯลฯ) จะต้องให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัว รองรับกับมาตรการใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย โดยต้องมองข้ามไปที่ Post 2012 Regime และกฎหมายหรือมาตรการฝ่ายเดียวที่ประเทศอุตสาหกรรมกำลังผลักดันอยู่ 

            ในด้านมาตรการ กฎระเบียบเพื่อรองรับผลกระทบต่อเนื่องจากเรื่องโลกร้อน เช่น การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง (เช่น อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ปิโตรเคมี ซีเมนต์ ฯลฯ) มาในประเทศไทยเพื่อเตรียมรองรับมาตรการใหม่ใน Post 2012 Regime ที่เรียกว่า Sectoral Approach  ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นรายสาขาการผลิต ในเรื่องนี้ประเทศไทยต้องพิจารณาทบทวน ปรับกฎเกณฑ์รองรับการลงทุนจากต่างประเทศให้เท่าทันกับสถานการณ์ เช่น กำหนดมาตรการให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงที่จะมาลงทุนในประเทศไทยต้องมีเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) การเจรจาต่อรองให้อุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาลงทุนร่วมรับผิดชอบก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา ตัวอย่างเช่น การนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาส่วนหนึ่งไปรายงานอยู่ในบัญชีของประเทศของบริษัทที่มาลงทุน แทนที่จะรายงานอยู่ในบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมดดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายจากการลงทุน ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย

            เรื่องตลาดการค้าคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market: VCM) ซึ่งเริ่มมีการดำเนินงานอยู่หลายประเภทกิจกรรมในประเทศไทย เช่น การปลูกป่า การผลิตพลังงานชีวภาพจากฟาร์มสุกร ฯลฯ ปัญหาก็คือ ในขณะนี้รัฐบาลไม่มีข้อมูลว่ามีใครทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง บริษัทข้ามชาติเข้ามาติดต่อค้าขายเรื่องนี้กันอย่างเสรี  การห้ามค้าขายเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าปล่อยเสรีไปแบบนี้ เมื่อถึงเวลาที่ไทยต้องมีพันธกรณีลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต การลดจะมีต้นทุนสูง เพราะกิจกรรมที่ต้นทุนต่ำถูกซื้อใน CVM ไปเยอะแล้ว  ถึงเวลาที่รัฐต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกเหนือจากเรื่องรณรงค์ปิดไฟ ใช้ถุงผ้า การบ้านของไทยในเรื่องโลกร้อนยังมีเรื่องต้องสะสางอีกมาก

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ร่างกฎหมายใหม่เรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาในยุคการเปลี่ยนแปลง
บอกข่าวเล่าความ - การเจรจาจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

มีความคิดเห็นดีมาก

โดย:  น้ำฟ้า  [25 ธ.ค. 2554 12:21]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น