สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

อย. เตรียมเสนอให้เหล็กดัดฟันเป็นเครื่องมือแพทย์

ผู้เขียน: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่: 28 ส.ค. 2552

            อย. เตือนวัยรุ่น ระวังอันตรายจากการจัดหรือดัดฟันแฟชั่น อย่าหลงเชื่อการโฆษณารับจัดฟันแฟชั่นราคาถูกจากร้านต่างๆ ที่เปิดให้บริการโดยผู้ทำมิใช่หมอฟัน อาจพบวัสดุจัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสารปนเปื้อน เกิดการติดเชื้อ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ผู้มีความรู้โดยตรง จะปลอดภัยกว่า พร้อมเตือนออกกฎหมายให้ลวดดัดฟันแฟชั่นจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป

            นพ. พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่มีข่าวนักเรียนชั้นมัธยมเกิดอาการติดเชื้อหลังจากการจัดฟันแฟชั่นที่ร้านจัดฟันแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น จนเป็นอันตรายถึงชีวิต นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มิได้นิ่งนอนใจ ขอเตือนมายังวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่นิยมการดัดฟันตามแฟชั่น อย่าหลงเชื่อร้านดัดฟันแฟชั่นที่เปิดให้บริการเกลื่อนอยู่ในขณะนี้ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า ร้านจัดฟันแฟชั่นเหล่านี้ ผู้ที่ให้บริการมิใช่ทันตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้มักไม่ได้มาตรฐานไม่ว่าจะเป็นลวดที่ใช้ในการดัดฟัน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลวดสแตนเลส หรือเป็นลวดที่ร้อยดอกไม้ และบางร้านมีการใส่ลูกปัดหลากสี พลาสติกยาง หรือกากเพชร ด้วย ทั้งนี้ จากการที่ อย. ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏพบว่ามีสารปนเปื้อนหลายชนิด อย่างเช่น ตะกั่ว พลวง ซิลิเนียม โครเมียม สารหนู และอื่นๆ หากสารเหล่านี้สะสมในร่างกายในปริมาณมาก จะก่อให้เกิดผลต่อไต ทำให้ไตวายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และบางรายหากมีโรคแทรกซ้อน ยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ง่ายขึ้น

            รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ลวดดัดฟันแฟชั่นที่เปิดให้บริการและขายอยู่ตามท้องตลาดไม่ได้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ก็ตาม แต่ทั้งผู้ขายและผู้ให้บริการ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถ้าเกิดมีอันตรายต่อผู้ที่มาดัดฟัน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีร้านค้าจำนวนมากเปิดให้บริการรับดัดฟันแฟชั่น และขายลวดดัดฟันแฟชั่นตามท้องตลาด เป็นจำนวนมากเช่นกัน อย. จะนำปัญหาดังกล่าวนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าลวดดัดฟันแฟชั่นนี้ควรที่จะจัดเป็นเครื่องมือแพทย์หรือไม่ ถ้าหากผลการประชุมเป็นเช่นไร อย. จะดำเนินการต่อไป

            อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับการห้ามขายสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลต่อไปอีก เพราะหลังจากพบว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์ว่าสินค้าลวดดัดฟันแฟชั่นไม่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ลวดดัดฟันที่ใช้ด้าน ทันตกรรมประดิษฐ์โดยทันตแพทย์ เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตามมาตรา4(1) ก แห่งพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ประเภทเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ซึ่งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ผู้นำเข้าต้องมีหนังสือรับรองการขายในประเทศผู้ผลิตและหนังสือรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิต(GMP) มาแสดงต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อออกหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงขณะนำเข้า อย่างไรก็ตาม ลวดดัดฟันจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไปที่ต้องขออนุญาตนำเข้าจาก อย. และต้องมีมาตรฐานตามกำหนด หากลักลอบผลิตหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดใน 2 กรณี คือ กรณีไม่จดทะเบียนสถานประกอบการผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีการนำเข้าโดยไม่มีหนังสือรับรองประกอบการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

            รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า หากจำเป็นต้องรับบริการทางการจัดฟัน ควรปรึกษาโดยตรงกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจัดฟันที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับทันตแพทย์ที่ทำการรักษาได้ในเว็บไซต์ของสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย เพราะ การใส่ลวดดัดฟันเองโดยไม่มีทันตแพทย์แนะนำวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือผลเสียด้านสุขอนามัยของฟันหรืออวัยวะในช่องปากตามมาอีก ประกอบกับลวดที่เป็นอุปกรณ์ยึดเกาะกับฟันเป็นลวดที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ มีโอกาสหลุดลงคอ และทำอันตรายแก่ผู้สวมลวดดัดฟันจนถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ หากพบลวดดัดฟันแฟชั่นที่อาจผิดกฎหมาย โปรดแจ้งร้องเรียนมายัง สายด่วน อย. โทร. 1556 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ที่มาของข้อมูล : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Antimony
Arsenic
Lead
Selenium
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - อย. เตรียมประกาศควบคุมเลนส์สัมผัส
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

แล้วถ้าเป็นลวดดัดฟันที่เป็นรีเทนเนอร์ แต่ว่ามีแบกเกตด้วยอ่ะ แป็นแฟชั่นหรือป่าว แต่ทำที่คลีนิคนะค่ะ ทำกับทันตแพทย์ จะมีอันตรายมั้ย ส่วนยางก็เปลี่ยนทุกเดือน มันมีเพดานสีชมพูแล้วก็ เป็นเหล็กรีเทนเนอ แต่มีแบกเกตใส่ยางได้ด้วยอ่ะค่ะ จะตายมั้ยเนี่ย แต่ว่าใส่มาก็จะ 3 อาทิตย์แล้วก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลยไม่เจ็บไม่มีการระคายเคืองแต่ตอนนแรกอาจจะมี ส่วนเรื่องทำความสะอาดก็ให้แปรงถูอย่างที่แพทย์สั่ง มันจะทำให้เราติดเชื้อหรือป่าวค่ะ กลัวมากเลย ที่ทำมาราคา ก็ 3000 บาท

โดย:  momo gung  [16 ก.ย. 2552 21:52]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

อยากถามว่ามีร้านที่ดัดฟัน ได้มาตฐานสักร้านมีไหมค่ะ คือก็อยากดัดค่ะแต่ กลัวตายเลยลังเลใจอยู่ มีสักร้านไหมค่ะ

โดย:  55+  [3 ธ.ค. 2553 18:55]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:8

Everything every shop!!! จัดฟันสวยหน้าสวย

โดย:  Janifer  [26 ต.ค. 2562 23:19]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:9

ซื้อลวดเหล็กสแตนเลสในช้อปปิ้งราคาถูกมากไม่ถึง100บาทรวมส่ง
อยากถามว่ามันดีจริงไหม อันตรายไหม ใช้ได้ไหมค่ะ พอดีทำฟันที่คลีนิคแล้วไปทำฟันทุกครั้งหมอไม่เคยเปลี่ยนเหล็กให้เลยค่ะ งงมากไม่ดึงให้เสร็จสักทีเลยเปลี่ยนเองทำเองอันตรายไหม

โดย:  Koi  [10 ก.ย. 2566 00:29]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น