สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

หมีโคอาลาอาจสูญพันธุ์ใน 30 ปี

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 11 พ.ย. 2552

            รายงานจากกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยนักวิจัยจากมูลนิธิหมีโคอาลาแห่งออสเตรเลียระบุเมื่อวันอังคาร (10 พฤศจิกายน 2552) ที่ผ่านมาว่า หมีโคอาลาในออสเตรเลียกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศ ไฟป่า และภาวะโลกร้อน โดยอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ภายในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า

            เดบอราห์ ทาบาร์ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิหมีโคอาลาแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า หมีโคอาลาลดจำนวนลงในทุกๆ ปี ที่เราลงไปสำรวจ และตอนนี้ที่ไหนๆ ก็ไม่มีต้นไม้เหลือแล้ว หากเรายังตัดไม้ทำลายป่ากันอีกล่ะก็ จะไม่มีโคอาลาหลงเหลืออยู่อีกต่อไปในอนาคต
       
            เดบอราห์ ทาบาร์ตและทีมนักวิจัยกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้หมีโคอาลาเป็นสัตว์ถูกคุกคามและหาทางคุ้มครองถิ่นที่อยู่ของโคอาลาอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ยังชี้ด้วยว่าออสเตรเลียซึ่งเป็นดินแดนแห้งแล้ง กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง

            ทางมูลนิธิหมีโคอาลาแห่งออสเตรเลีย ได้รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม 1,800 จุด และนับจำนวนของหมีโคอาลาบนต้นไม้จำนวน 80,000 ต้น ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ซึ่งเคยคาดว่ามีหมีโคอาลาอาศัยอยู่ราว 20,000 ตัว เมื่อช่วงทศวรรษก่อน ทีมนักวิจัย 8 คนกลับไม่พบหมีโคลาอาแม้แต่ตัวเดียวหลังจากที่ออกภาคสนามสำรวจเป็นเวลา 4 วัน
       
            มูลนิธิหมีโคอาลาแห่งออสเตรเลีย ยังระบุเพิ่มเติมด้วยอีกว่า ขณะนี้ประชากรของโคลาลาในออสเตรเลียอยู่ในระหว่าง 43,000-80,000 ตัว ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่กว่า 100,000 ตัว โดยส่วนมากโคอาลานั้นจะอาศัยอยู่ในป่ายูคาลิปตัสในภาคตะวันออกและทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่วุ่นอยู่กับการเลือกหาใบยูคาลิปตัสกินได้ทั้งวัน

            ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2006 คณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสัตว์ถูกคุกคามได้ปฏิเสธข้อเสนอให้บรรจุหมีโคอาลาไว้ในบัญชีรายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงต่อการคุกคาม เพราะเห็นว่ายังมีหมีโคอาลาอยู่ในป่าอีกมาก ซึ่งคณะกรรมาธิการกำหนดจะพิจารณาเรื่องบัญชีกันครั้งใหม่อีกครั้งในช่วงกลางปีหน้า

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ชะตากรรมนกเงือก ผู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ป่า
บอกข่าวเล่าความ - พืชและสัตว์แห่กันสูญพันธุ์
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น