สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ผลการศึกษาระบุ 1 ใน 3 ของของเล่นเด็กในสหรัฐมีสารเคมีเป็นพิษ

ผู้เขียน: สำนักข่าวไทย
วันที่: 3 ธ.ค. 2552

            รายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ระบุว่า จากผลการศึกษาของสถาบันอีโคโลจี เซนเตอร์ในสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของของเล่นเด็กซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดที่สหรัฐอเมริกาในปีนี้ มีสารเคมีที่เป็นอันตราย ทั้งสารตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และปรอท

            อีโคโลจี เซนเตอร์ ซึ่งเผยแพร่ผลการศึกษาในเว็บไซต์ HealthyStuff.org ได้ตรวจสอบของเล่นเด็กเกือบ 700 ชิ้น ก่อนถึงช่วงจับจ่ายสินค้าในเทศกาลคริสต์มาส พบว่า ร้อยละ 32 มีสารเคมีเป็นพิษอย่างน้อย 1 ชนิดหรือมากกว่านั้น และแม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีสารตะกั่วเกินกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ในปัจจุบัน ได้ลดลงถึงร้อยละ 67 นับตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็ยังคงพบว่า มีของเล่นเด็กร้อยละ 18 มีระดับสารตะกั่วสูงกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ และพบว่า ร้อยละ 7 มีระดับของสารตะกั่วมากกว่า 40 พีพีเอ็ม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ทางสถาบันกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ในปี 2550 ส่วนร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาตรวจสอบพบว่า มีระดับสารตะกั่วเกิน 300 พีพีเอ็ม

            นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบสารแคดเมียมมากกว่า 100 พีพีเอ็มในของเล่นเด็กร้อยละ 3.3 และร้อยละ 1.3 ของของเล่น พบสารหนูเกินกว่า 100 พีพีเอ็ม นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังวิตกกังวลหลังพบว่า ร้อยละ 42 ของของเล่นที่ตรวจสอบมีพีวีซีอยู่ด้วย โดยพีวีซีนั้นเป็นพลาสติกที่มีพิษมากที่สุด ก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งในกระบวนการผลิต วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และการกำจัด รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย

            อีโคโลจี เซนเตอร์ ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กประมาณ 4,000 ชิ้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าของเล่นที่ซื้อมามีสารเคมีเป็นพิษหรือไม่

ที่มาของข้อมูล : สำนักข่าวไทย ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2552

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Arsenic
Lead
Mercury
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เอ็นจีโอในสหรัฐเผยชื่อ 10 อันดับของเล่นอันตราย
บอกข่าวเล่าความ - หลายหน่วยงานในสหรัฐทดสอบสินค้าเกี่ยวกับเด็กพบสารตะกั่วเจือปน
บอกข่าวเล่าความ - อเมริกาเรียกเก็บเครื่องประดับสำหรับเด็กจากจีนและบางส่วนจากไทย
บอกข่าวเล่าความ - EU ปรับร่างระเบียบมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้าเด็ก
บอกข่าวเล่าความ - อียูชี้ชัดของเด็กเล่นจากจีนอันตราย
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น