สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

สาหร่ายสไปรูไลน่า บำบัดน้ำเสียได้

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 1 ก.พ. 2553

            จากการปล่อยน้ำทิ้งโดยไม่มีการบำบัด จากโรงงานขนมจีนลงสู่แหล่งน้ำของชุมชนบ้านหนองกุง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตขนมจีนที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเน่าเหม็นตามมา

            ด้วยเหตุนี้ รศ. ดร.สุมนทิพย์ บุนนาค อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้นำปัญหาดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตขนมจีนโดยนำสาหร่ายสไปรูไลน่ามาใช้ในการวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจาก สาหร่ายสไปรูไลน่า หรือ สาหร่ายเกลียวทอง สามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำเน่าเสีย โดยเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว ลักษณะสีเขียวแกมน้ำเงิน อยู่ใน Family Oscillato riaceae เป็นสาหร่ายที่พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไปและสามารถปรับตัวพัฒนาสายพันธุ์ให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี

            รศ. ดร.สุมนทิพย์ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อตรวจสอบค่า DO (ออกซิเจนละลายน้ำ) ค่าไนเตรท - ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสรวม pH (ค่าความเป็นกรดด่าง) ค่าความขุ่น และของแข็งที่ละลายในน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตขนมจีนก่อนและหลังการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูไลน่า ภายใต้การควบคุมในห้องปฏิบัติการ โดยเริ่มต้นทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่นำน้ำทิ้งจากโรงงาน ผลิตขนมจีนของนางสุนทร พระลับรักษา หมู่บ้านหนองกุง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มาทำการตรวจวิเคราะห์หาค่า DO (ออกซิเจนละลายน้ำ) ค่าไนเตรท -ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสรวมค่าความเป็นกรดด่าง ความขุ่น และของแข็งที่ละลายในน้ำทิ้ง

            จากนั้นนำสาหร่ายสไปรูไลน่ามาเพาะเลี้ยงในอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำทิ้งจากโรงงานขนมจีนในระดับความเข้มข้นต่าง ๆ โดยให้ความเข้มแสง 2,000 ลักซ์ และมีการให้อากาศตลอดเวลา ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 20 วัน จากนั้นนำมาหาค่าความเจริญเติบโตของสาหร่าย ด้วยเครื่องสเปคโตโฟโตมิเตอร์ ทำการ วัดค่า DO (ออกซิเจนละลายน้ำ) ค่าไนเตรท - ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสรวม pH (ค่าความเป็นกรดด่าง) ซึ่งสารเหล่านี้มีอยู่ในน้ำเสียในปริมาณมาก รวมไปถึงศึกษาค่าความขุ่น และค่าของแข็งที่ละลายในน้ำทิ้งที่มีความ เข้มข้นแตกต่างกัน ทุก ๆ 5 วัน เป็นระยะเวลา 20 วัน พบว่า สาหร่ายสไปรูไลน่าที่เพาะเลี้ยงในตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตขนมจีน สามารถลดค่า ไนเตรท - ไนโตรเจน จาก 17.07 mg/l เป็น 6.00 mg/l ค่าฟอสฟอรัสรวม จาก 19.50 mg/l เป็น 5.8 mg/l ทั้งนี้ เนื่องจากสาหร่ายสไปรูไลน่านำสารต่างๆ เหล่านี้มาใช้ในการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มออกซิเจนรวมจาก 2.67 mg/l เป็น 5.57 mg/l อีกด้วย

            จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาหร่ายสไปรูไลน่ามีการเจริญเติบโตได้ดีใน น้ำทิ้งจากโรงงานผลิตขนมจีน นอกจากนั้น ยังมีประสิทธิภาพในการลดค่าไนเตรท - ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสรวมทำให้น้ำทิ้งจากโรงงานสะอาดขึ้น ความขุ่นและกลิ่นลดลง ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงแนะนำให้โรงงานผลิตขนมจีนนำสาหร่ายสไปรูไลน่า มาเลี้ยงในบ่อบำบัดน้ำทิ้งจากการผลิตขนมจีนก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Nitrogen
Oxygen
Phosphorus
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - นักวิทยาศาสตร์หวังพึ่งสาหร่ายช่วยโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น