สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เอลนินโญ : แล้งนี้อาจร้าย แต่รับมือได้

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
วันที่: 30 ม.ค. 2553

            ปีนี้มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนินโญ ระดับรุนแรงในรอบทศวรรษ โดยจะทำให้เกิดภัยแล้งและร้อนจัด ซึ่งหลายพื้นที่อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง พอรู้ข่าวแบบนี้ ก็ทำให้หลายคนเริ่มหวั่นวิตก เกษตรกรก็กังวลถึงความเสียหายต่อพืชผลไร่นา โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงว่าจะผ่านฤดูร้อนแล้งนี้ไปยังไงดี อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถหยุดการเกิดเอลนินโญได้ แต่ถ้าเราเข้าใจถึงปรากฏการณ์และเตรียมตัวหาวิธีรับมือ ก็จะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

ผลกระทบเอลนินโญ : ไฟป่าร้อนจัดแล้งหนัก

            ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ “โดยปกติ ในฤดูแล้ง ปริมาณน้ำก็จะน้อยเป็นปกติ แต่สิ่งที่เอลนินโญจะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นคือ ทำให้เกิดการเสียน้ำมากขึ้นและการเกิดไฟป่า ซึ่งในการจัดการปัญหาเรื่องไฟป่านั้น อาจจะไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปห้ามไม่ให้เกษตรกรเผาป่าเพื่อการเกษตร เพราะเรามีข้อมูลว่า การใช้ไฟยังจำเป็นสำหรับการเกษตรบางรูปแบบ เช่น เกษตรพื้นที่สูง ซึ่งเขาไม่มีวิธีอื่นที่จะจัดการกับที่ดิน ก็ยังต้องจำเป็นอาศัยวิธีนี้อยู่ แต่ในพื้นที่อื่นๆ เราสามารถลดได้ จากข้อมูลพื้นที่ในภาคเหนือที่จำเป็นจริงๆ ในการต้องใช้วิธีนี้อาจมีเพียง 1/3 ของทั้งหมด เราก็อาจจะต้องพยายามให้เขาปรับไปใช้วิธีอื่น หรือต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะบางครั้งไฟป่าเกิดจากการเผาแล้วไม่ใส่ใจ ปล่อยให้มันลุกลาม”

            เรื่องของอุณหภูมิในฤดูร้อน ก็ดูจะเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสำคัญ ซึ่ง ดร.อานนท์อธิบายว่า “เรื่องอุณหภูมิที่จริงเป็นเรื่องค่อนข้างคาดเดายาก เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เช่น หมอกควัน หรือไอน้ำในอากาศ ก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป แต่โดยรวมแล้ว แนวโน้มอุณหภูมิในฤดูร้อนปีนี้จะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนของปีที่ผ่านๆ มา จากที่อยู่ประมาณ 30 ปลายๆ ก็อาจทำให้อุณหภูมิสูงถึง 4042 องศาเซลเซียสในบางพื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครน่าจะเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยช่วงที่ร้อนที่สุดจะอยู่ระหว่างเดือนมี.ค.ไปจนถึงเม.ย. และคาดว่าวันที่ร้อนที่สุด คือ วันที่ 22 เม.ย.”

            แต่สิ่งที่ ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บอกต่อไปอีกว่า น่ากังวลมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้น “เรื่องน้ำขาดแคลนสำคัญมากกว่าเรื่องร้อน เพราะปีนี้แนวโน้มของฝนจะมีน้อยกว่าปกติ ยกเว้นว่าเราจะโชคดีเจอพายุเข้าหลายลูก ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก ส่วนเรื่องพื้นที่ไหนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้น โดยทฤษฎีพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากทะเลหรือแม่น้ำใหญ่มากเท่าไหร่ ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ในเขตภาคอีสาน ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ก็จะได้รับผลกระทบมาก”

แล้งร้ายแต่รับมือได้ ถ้าเตรียมตัวดี

            แม้ผลกระทบที่คาดไว้อาจจะดูรุนแรง แต่ดร.อานนท์ ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถลดความรุนแรงได้หากมีการเตรียมตัวที่ดี “เอลนินโญปีนี้ใหญ่มาก แม้จะไม่เท่ากับปี 2541 ซึ่งจัดเป็นเอลนินโญครั้งร้ายแรงที่สุดของเรา ในปีนั้นรัฐบาลต้องชดเชยมูลค่าความเสียหายทางเกษตรกรรมเป็นมูลค่าถึง 1,500 ล้านบาท แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าก็คือ ในปี 2548 ซึ่งเกิดเอลนินโญเหมือนกัน แต่ไม่ใหญ่ กลับมีมูลค่าความเสียหายที่ต้องชดเชยสูงถึง 7,500 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2550 เกิดเอลนินโญใหญ่กว่าปี 2548 อีก แต่มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 500 กว่าล้านเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า บางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากปริมาณฝนน้อยอย่างเดียว แต่มาจากความไม่พร้อม ดังนั้นถึงแม้จะมีปริมาณฝนน้อย แต่ถ้าเรามีการตั้งรับที่ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันก็น้อยลง”

            ในเรื่องของการเตรียมตัวรับมือกับภาวะภัยแล้งนั้น ดร. อานนท์ชี้แนะว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำทั้งในระดับนโยบายของรัฐบาลและระดับประชาชน ซึ่งในส่วนของภาครัฐเอง ตอนนี้ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะภัยแล้งอยู่แล้วในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร แต่กระนั้นในระดับการปฏิบัติงานจริง จะให้ได้ผลมากที่สุด ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปและเกษตรกรด้วย

การแก้ปัญหาในส่วนของภาครัฐบาล

            ในภาครัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางในการเตรียมตัวรับภัยแล้ง แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิดภัย เตรียมความพร้อมหน่วยงาน กำหนดเป้าหมายเพาะปลูกพืชช่วงแล้ง วางแผนจัดสรรน้ำ เตรียมแผนปฏิบัติการฝนหลวง เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ในขณะเกิดภัย ต้องติดตามสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ ปฏิบัติการฝนหลวง ปรับแผนจัดสรรน้ำ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ประเมินและสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือ และหลังเกิดภัย ให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และฟื้นฟูอาชีพ

การแก้ปัญหาในส่วนของภาคประชาชน

            การประหยัดน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่เราสามารถทำกันได้ง่ายๆ ทุกคน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ขณะทำกิจกรรมใดๆ เช่น ระหว่างล้างหน้า แปรงฟัน แต่ควรเปิดเฉพาะช่วงที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น อาจเปลี่ยนจากการอาบน้ำฝักบัว มารองใส่ถังแล้วตักอาบแทน เป็นต้น

            กรณีซักผ้าไม่ควรเทน้ำทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ แต่ให้นำไปรดน้ำต้นไม้แทน และการรดน้ำต้นไม้ควรรดในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือเช้าและเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มากที่สุด หากรดน้ำต้นไม้ในช่วงแดดจัด ต้นไม้จะไม่สามารถกักน้ำไว้ได้ทัน เพราะอากาศร้อนทำให้น้ำระเหยไปกับอากาศมากกว่า ควรใช้สปริงเกอร์ฝักบัวรดน้ำต้นไม้หรือล้างรถแทนการใช้สายยาง เนื่องจากจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าปกติถึง 4 เท่า อุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านควรใช้รูปแบบที่ช่วยประหยัดน้ำ เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อกของชักโครก ฝักบัว ก๊อกน้ำ และหัวฉีดน้ำ เพียงเท่านี้จะช่วยให้ลดปริมาณการไหลของน้ำได้

            สำหรับเกษตรกร ควรหันมาปลูกพืชที่มีอายุสั้น และใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเขียว ทานตะวัน ต้นหอม กระเทียม ฯลฯ รู้ตัวแต่เนิ่นๆ เตรียมตั้งรับ สงครามน้ำจะไม่เกิด หรืออาจจะเกิดน้อยลง

รู้จักเอลนินโญ

            เอลนินโญ เป็นปรากฏการณ์ที่ลมสินค้า ซึ่งเป็นลมที่พัดจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกมีกำลังอ่อนลง ทำให้ไม่สามารถรักษาระดับน้ำทะเลในส่วนของแปซิฟิกตะวันตกซึ่งปกติจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกได้ ทำให้กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรย้อนมาทางตะวันออก

            แอ่งน้ำอุ่นซึ่งเปรียบได้กับน้ำร้อนในกระทะใบใหญ่ ซึ่งเคยอยู่ชิดขอบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก การลอยตัวของน้ำเย็นจากก้นทะเลจึงมีน้อย มีผลทำให้น้ำด้านแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น น้ำทะเลยิ่งร้อนขึ้น ลมสินค้าก็ยิ่งอ่อนกำลังลง และเมื่อลมสินค้าอ่อนกำลังลงก็ยิ่งทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น โดยผลกระทบจากเอลนินโญมักทำให้ปริมาณฝนลดน้อยลง เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่ารุนแรงและอุณหภูมิสูงขึ้น

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ประจำวันที่ 30 มกราคม 2553

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ภัยเงียบจากคาร์บอนส่งผลให้เกิดทะเลกรดคุกคามโลก
บอกข่าวเล่าความ - ก๊าซเรือนกระจกทะลุจุดสูงสุดอีกแล้ว
บอกข่าวเล่าความ - คลื่นทะเลสูงขึ้น... ลางร้ายชายฝั่งทะเลไทย
บอกข่าวเล่าความ - ภาวะโลกร้อน : จะรุนแรงกว่าที่คาดคิดไว้
บอกข่าวเล่าความ - เมื่อฝนฟ้าวิปริต... โลกจะเป็นอย่างไรในวันพรุ่ง
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

อยากทราบระยะเวลาในการเกิดเอลนินโญ จะเกิดนานเท่าใด ในการเกิดแต่ละครั้ง
และการเกิดซ้ำ เกิดเพราะอะไร

โดย:  อุดม  [10 พ.ค. 2553 22:28]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

แนวทางการป้องกันปรากฎการเอลนีโญ ลานีญา

โดย:  J J  [9 ก.ย. 2555 16:18]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

ปี2559ใหญ่มากเลยหรือเปล่ากลัวมากๆ

โดย:  มีมิว  [3 ก.พ. 2559 16:34]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

เอลนีโญ่ ลานีญา ไม่สามารถบังคับให้มันเกิดไม่ได้ใช่ไหมอ่ะ???

โดย:  แบมแบม  [12 พ.ค. 2559 20:09]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 5:5

What?

โดย:  เบส  [27 ธ.ค. 2562 12:25]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 6:6

ว้าวเพิงรู้มาก่อนเลยน่ะนี่

โดย:  T​ T  [22 ก.พ. 2564 21:39]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 7:7

ควยอ่านไม่ออกวะ

โดย:  เเมว  [16 มี.ค. 2564 16:06]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 8:8

ขอโทษนะคับ

โดย:  แมว  [16 มี.ค. 2564 16:07]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 9:9

สวัสดีค่ะอยากทราบแนวทางการแก้ปัญหาของลานีญาอะค่ะ แบบพวกเรรต้องช่วยกันยังไงถึงจะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นคะ ขอบคุณมากค่ะ😭

โดย:  นุเน้ก  [2 ก.ค. 2564 23:31]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 10:11

ที่ผมพิมพ์ว่า "  และเมื่อยามชาวไร่ ชาวนา แก่ชราก็สามารถตัดต้นไม้มาเป็นค่ารักษายามป่วยไข้ได้  ปลูกต้นไม่วันนี้เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า "  ถ้าชาวไร่ ชาวนา รู้ว่าหลังจากปลูกไม้ป่าในแต่ละปีมูลค่าของต้นไม้  มันค่อย ๆ เพิ่มขึ้น   ผมเชื่อว่า ชาวไร่ ชาวนา  จะทะยอยปลูกต้นไม้ป่าเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี  แต่สำคัญ ก่อนจะปลูกต้องมีผู้ที่มีความรู้ช่วยให้ความรู้  ความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ในการจัดที่จัดทางปลูกต้นไม้ป่าเศรษฐกิจ  

โดย:  ไพศาล  [20 เม.ย. 2565 20:01]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น