สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ท่าทีและบทบาทของกลุ่มประเทศ BASIC ต่อการเจรจาโลกร้อน

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 5 ก.ค. 2553

            กลุ่มประเทศ BASIC เป็นชื่อย่อของประเทศกำลังพัฒนา 4 ประเทศ เรียงตามลำดับตัวอักษรได้แก่ บราซิล แอฟริกาใต้ จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงเป็นลำดับต้นของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ( กลุ่ม BASIC ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 29% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกในปี 2004 ) ในช่วงการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อนตามแผน Bali Road Map นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา กลุ่ม BASIC เผชิญแรงกดดันอย่างมากให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นในการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป มีข้อเรียกร้องชัดเจนให้ประเทศในกลุ่ม BASIC มีพันธกรณี มีเป้าหมายการลดก๊าซที่กำหนดเป็นตัวเลขชัดเจน สำหรับกรณีสหรัฐทางวุฒิสภาสหรัฐได้มีมติมาตั้งแต่ปี 1997 (ปีที่มีพิธีสารเกียวโตเกิดขึ้น) ตั้งเป็นเงื่อนไขว่า หากสหรัฐจะร่วมลงนามในความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อนฉบับใด ในความตกลงนั้นต้องมีพันธกรณีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงด้วย ซึ่งในการอภิปรายของวุฒิสภาสหรัฐได้กล่าวถึงประเทศจีน และอินเดีย

            การร่วมรับผิดชอบในการลดก๊าซของกลุ่ม BASIC และท่าทีโดยรวมของกลุ่ม BASIC จึงเป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่งของการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อนฉบับใหม่ที่กำลังเจรจากันอย่างเข้มข้นในปีนี้ กลุ่ม BASIC ก็รู้ตัวดีว่าตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ที่ผ่านมาจึงได้มีการประชุมหารือกันในหมู่ประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการมาแล้ว 2 ครั้ง ในการประชุมเจรจา COP16 ที่โคเปนฮาเกน ตั้งแต่วันแรกของการเจรจา ทางกลุ่ม BASIC ได้จัดทำเอกสารแสดงจุดยืนของประเทศสมาชิกที่เรียกว่า “Copenhagen Accord”  ความยาว 9 หน้า (เป็นเอกสารคนละฉบับกับเอกสาร Copenhagen Accord ที่ออกมาในตอนจบการประชุม แต่ชื่อซ้ำกัน) เพื่อเตรียมไว้รับมือ ตอบโต้กับเอกสารที่มีข่าวลือว่าประเทศเจ้าภาพและสหภาพยุโรปจะผลักดันออกมาในชื่อ “Copenhagen Agreement”

            ในการประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 3) มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม BASIC เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2553 ครั้งนี้แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ โดยมีการออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ โดยทางกลุ่ม BASIC จะแสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น กรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต  อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ยังย้ำถึงหลักการเดิมที่กลุ่ม BASIC ยึดมั่นมาตลอดในการเจรจา คือ “หลักความยุติธรรม” (Equity)  การคำนึงถึง “ความรับผิดชอบในอดีต” (Historical Responsibility) เรื่อง “สิทธิในการพัฒนา” ของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งเงื่อนไขว่าการร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศกำลังพัฒนาต้องขึ้นกับการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และการสร้างเสริมขีดความสามารถจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเพียงพอด้วย

            กลุ่ม BASIC เรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องดำเนินการตามภาระผูกพันทางการเงินตามที่กำหนดไว้ใน “Copenhagen Accord” (CA) และทุกประเทศในกลุ่มประเทศในภาคผนวกที่ 1 ของพิธีสารเกียวโตต้องยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนลง ท่าทีของกลุ่ม BASIC ต่อ CA แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BASIC เลือกที่จะใช้ประโยชน์จากเอกสารฉบับนี้ในหลายแง่มุม มีการเรียกร้องการสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากแนวทางกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกแบบสมัครใจตามที่ระบุไว้ใน CA เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการกำหนดเป้าหมายแบบ Top-down แบบที่ใช้ในกรณีพิธีสารเกียวโต ประเทศสมาชิกในกลุ่ม BASIC ได้ส่งเอกสารแสดงความสัมพันธ์ (Associated) กับ CA โดยมีการระบุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ตนเองต้องการ เช่น บราซิลประกาศลดก๊าซ 36-39% จากระดับปล่อยปกติ อินเดียใช้เป้าหมายความเข้มข้นของก๊าซ (Carbon Intensity) โดยจะลด 20-25% จากฐานปี 2005 จีนใช้ความเข้มข้นของก๊าซเช่นกัน ประกาศลด 40-45% จากฐานปี 2005

            ในแถลงการณ์ยังกล่าวถึงว่า กลุ่ม BASIC ต้องการจะหารือกับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ ที่มีความเห็นคล้ายกัน เพื่อการสร้างกลุ่มเจรจาในรูปแบบที่เรียกว่า “BASIC Plus” โดยอ้างว่าเพื่อหาทางออกให้ประเด็นที่มีความขัดแย้งกัน ท่าทีในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการขยายสมาชิกของกลุ่มให้มากขึ้นเพื่อรองรับแรงกดดัน เพิ่มน้ำหนักในการเจรจาต่อรองของกลุ่ม และพยายามป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างท่าทีของกลุ่มกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “กลุ่ม G77 +จีน”  ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มมีจุดยืนที่ไม่เป็นไปในแนวเดียวกันบางกรณี

            การประชุมครั้งที่ 4 ของกลุ่ม BASIC จะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิลในเดือนกรกฎาคมนี้ และจีนได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการประชุมกลุ่ม BASIC ครั้งที่ 5 ในเดือนตุลาคม ท่าทีและความเคลื่อนไหวของกลุ่ม BASIC ที่เกิดขึ้นนำมาสู่ข้อควรพิจารณาต่อประเทศไทยว่า เราจะมีท่าทีและความสัมพันธ์อย่างไรต่อกลุ่ม BASIC  โดยเฉพาะในประเด็นความรับผิดชอบในการลดก๊าซของกลุ่ม BASIC ประเด็นเรื่องการขยายเป็น BASIC Plus รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ของไทยกับกลุ่ม BASIC และกับกลุ่ม G77 + จีน

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - การเจรจาจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - กรีนพีซจี้ผู้นำอาเซียนเข้าร่วมประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
บอกข่าวเล่าความ - โคเปนเฮเกนเปิดม่านเวทีโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - ปิดฉากประชุมโลกร้อน... โลกยังเสี่ยงต่อหายนะ
บอกข่าวเล่าความ - กลุ่มสมาชิกเอเปกร่วมประชุมลดโลกร้อน
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

What a neat atrcile. I had no inkling.

โดย:  Doll  [22 ธ.ค. 2554 12:59]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น