สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เซรามิกลำปางไร้สารตะกั่ว

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 18 ม.ค. 2551

            จากกรณีที่สมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข ว่าได้รับผลกระทบจากสื่อมวลชนได้นำภาพชามตราไก่ของจังหวัดลำปางไปแสดงประกอบข่าว กระทรวงสาธารณสุขเตือนภัยสารตะกั่วจากสีที่ใช้เคลือบลายในภาชนะที่ทำจากกระเบื้องเคลือบดินเผาไม่ได้มาตรฐาน ที่วางขายอยู่ทั่วไปตามตลาดสด ตลาดนัด โดยเฉพาะที่มีลวดลายสีสันด้านใน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางอย่างรุนแรง
       
            เกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวแทนผู้ประกอบการเซรามิก จากสมาคมเซรามิกไทย สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง กลุ่มเซรามิกสภาอุตสาหกรรม และสมาคมการพิมพ์สกรีนไทย ได้เข้าพบปรึกษาหารือกับ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาทางแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของประชาชน โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยประชาสัมพันธ์เน้นย้ำวิธีการและขั้นตอนการตรวจสอบ ด้วยชุดทดสอบสารตะกั่วของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้บริโภคเท่านั้น หากพบปนเปื้อนสารตะกั่วจะต้องส่งตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการมาตรฐานอีกครั้ง
       
            จากการหารือครั้งนี้ กลุ่มผู้แทนผู้ประกอบการเซรามิกกับกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมจัดทำคู่มือแนะนำวิธีการเลือกใช้ภาชนะเคลือบดินเผาที่ปลอดภัย รวมทั้งอันตรายจากสารเคมีในสีที่อยู่ในภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐาน แจกจ่ายให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกใช้ภาชนะใส่อาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ได้เสนอให้ปรับเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้ค่าเดียวกับมาตรฐานสากล คือพบสารตะกั่วได้ไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องไว้ และจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
       
            นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่าการใช้ชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการสุ่มตรวจหาสารตะกั่วในเบื้องต้น วิธีการตรวจง่าย ใช้เวลาประมาณ 1 นาที ซึ่งถ้วยชามเซรามิกขณะนี้มีวางจำหน่ายมาก แต่ที่ไม่ได้มาตรฐานที่ตรวจพบสารตะกั่วจากชุดทดสอบ มักเป็นเซรามิกที่ไม่ระบุแหล่งผลิตว่าผลิตจากที่ใด ใช้วิธีเคลือบลายด้านในภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐานคงทน
       
            สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างภาชนะเซรามิก ที่สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางส่งมาทดสอบ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2550 ได้แก่ ชามเซรามิกที่แต่งลายด้านใน จำนวน 6 ชิ้น และถ้วยเซรามิกมีหู ไม่มีลวดลายด้านใน จำนวน 6 ชิ้น ด้วยวิธีที่ใช้ประจำในห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นวิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล (Official Methods of Analysis of AOAC International/ 499.17:2005) ปรากฏว่าได้มาตรฐาน ไม่พบการละลายของสารตะกั่วจากภาชนะทุกชิ้นแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นตัวอย่างของผู้ผลิตที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แก่ประชาชนผู้ใช้
       
            ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะในท้องตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปตรวจสอบด้วยวิธีมาตรฐานอีกครั้ง และมีแผนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการเซรามิกในจังหวัดลำปางในโอกาสต่อไป


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น