สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

นโยบายเรื่องโลกร้อนของไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 5 ส.ค. 2553

            ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอีกหลายกรณี เช่น  การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาการลดลงของชั้นโอโซน ฯลฯ  ซึ่งได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวของประชาคมระหว่างประเทศ จนเกิดเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเข้มข้น และนำไปสู่การจัดทำอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในปี 1992 และพิธีสารเกียวโตในปี 1997 อาจกล่าวได้ว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นในเกิดโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม และความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อน 2 ฉบับที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม

            แม้ว่าปัญหาโลกร้อนจะเป็นปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง แต่เนื่องจากอนุสัญญา UNFCCC และพิธีสารเกียวโตมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลต่อการจำกัด “อำนาจอธิปไตย” ของรัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มิให้ดำเนินนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่ขัดต่อเป้าหมายและพันธกรณีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาและพิธีสาร ข้อกำหนดดังกล่าวจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าเสรี การลดอุปสรรคทางการค้า และการลดบทบาทแทรกแซงของรัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ “กระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่” ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1990  เช่นกันจากผลสำเร็จของการเจรจาการค้าเสรีพหุภาคีรอบอุรุกวัย ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์การการค้าโลกในปี ค.ศ.1995 และการลงนามผูกพันตามชุดความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกอีกหลายสิบฉบับ เช่น ความตกลงด้านการค้าบริการ ความตกลงด้านการเกษตร ความตกลงด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า  ฯลฯ  ระบอบขององค์การการค้าโลกจึงเป็นกลไกที่มีผลสำคัญต่อการส่งเสริมโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติตามความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ดังที่ปรากฏเป็นข้อพิพาทด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมอยู่หลายกรณี เช่น ข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐจากกรณีที่สหภาพยุโรปมีนโยบายเข้มงวดต่อการใช้ประโยชน์ GMOs โดยยึดถือหลักการตามพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ

            ประเทศไทยได้ผนวกเข้ากับโลกาภิวัตน์ทั้งสองกระแส กล่าวคือ ในด้านหนึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกของ WTO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ผลักดันการอนุวัตรตามพันธกรณีของความตกลงต่างๆ ภายใต้ WTO ตลอดจนผลักดันเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เช่น อนุสัญญามรดกโลก อนุสัญญาการค้าพืชและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ พิธีสารเกียวโต อนุสัญญาบาเซล ฯลฯ บางกรณีจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายเนื่องจากความขัดแย้งของสองระบอบ เช่น กรณีการเจรจาและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กับอนุสัญญาบาเซล เป็นต้น

            จากข้อวิเคราะห์ข้างต้น การกำหนดนโยบายเรื่องโลกร้อนของไทยจึงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อมและโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในหลายลักษณะ ทั้งในเชิงการปะทะ ขัดแย้ง และในเชิงประสาน เสริมหนุน ในด้านความขัดแย้งนั้นเป็นผลเนื่องมาจากเป้าหมาย หลักการ และลักษณะสำคัญของระบอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ซึ่งเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม) มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทของรัฐ การแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐ ควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง การลดหย่อนระดับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหาโลกร้อน  สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับระบอบด้านการค้าเสรีที่มุ่งเน้นการจำกัดและลดบทบาทของรัฐ ถ่ายโอนอำนาจรัฐไปสู่ระบบตลาด และการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

            สำหรับในด้านการประสานหรือเสริมหนุน จะเห็นได้ว่ามีกลไกหรือมาตรการบางประเภทในระบอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของระบอบด้านการค้าเสรี ใช้กลไกตลาด  ใช้มาตรการทางการค้าเป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหา และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการนำมาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental-related Trade Measures) มาใช้แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ทั้งที่เป็นมาตรการในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภายใต้ระบอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ. 2012   และที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งก็อาจนำไปสู่ข้อพิพาททางการค้าและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน)

            การกำหนดนโยบายรวมทั้งการกำหนดจุดยืนในการเจรจาเรื่องโลกร้อนของไทยท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ของโลกาภิวัตน์ 2 กระแส จึงเป็นสภาวการณ์ที่ค่อนข้างสับสน วุ่นวาย หาจุดลงตัวได้ยาก ตัวแสดงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พยายามเรียกร้อง ผลักดันให้การตัดสินใจทางนโยบายเอนเอียงไปสู่จุดที่ตอบสนองฐานคิด ความเชื่อ และผลประโยชน์ตน และเป็นกรณีนโยบายสาธารณะสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์กระแสใดจะมีผลเหนือกว่า

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - REDD อีกแนวคิดประเทศอุตฯ โบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน
บอกข่าวเล่าความ - แนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหาโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย
บอกข่าวเล่าความ - REDD กับโจทย์ของประเทศไทย
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

เนื้อหา และความคืบหน้าของสถานการณ์และความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อน ดีมาก ๆ ขอขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ไว้ในสื่อนี้

โดย:  สุริยา แสงสุริยา  [11 มี.ค. 2554 11:00]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

My hat is off to your astute cmnomad over this topic-bravo!

โดย:  Chynna  [6 ต.ค. 2554 17:53]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:5

It's like you're on a missoin to save me time and money!

โดย:  Henrietta  [31 ต.ค. 2554 21:39]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น