สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

นโยบายเรื่องโลกร้อน... การร่วมรับผิดชอบลดก๊าซเรือนกระจกของไทย

ผู้เขียน: บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
หน่วยงาน: ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 26 พ.ย. 2553

            ในการพิจารณากำหนดนโยบายของประเทศไทยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยที่มีผลสำคัญ เป็นแรงกดดันต่อและมีผลเชื่อมโยงกัน ได้แก่ (หนึ่ง) การเจรจาจัดทำ ระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ. 2012 (สอง) การกำหนดมาตรการด้านการค้าที่เกี่ยวโยงกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ (สาม) ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา

            ประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดนโยบายของประเทศเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลานี้ค่อนข้างมีความยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากปัจจัยหลายประการยังไม่คงที่ ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการเจรจาจัดทำ ระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ. 2012 ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเจรจาได้จากการประชุม COP15 ในปี 2009 ตามแผน Bali Action Plan ที่กำหนดไว้ ต้องขยายเวลาเจรจามาอีก 1 ปีในช่วงปี 2010 และมีแนวโน้มว่าอาจต้องขยายเวลาเจรจาออกไปอีกครั้ง ปัจจัยในข้อนี้มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่องพันธกรณีลดก๊าซของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภายใต้ความตกลงฉบับใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ ในการกำหนดนโยบายยังขาดข้อมูลและความรู้ในอีกหลายด้านเกี่ยวกับผลกระทบทางกายภาพ (Physical Effects) ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการกำหนดนโยบายการปรับตัว (Adaptation) ที่เหมาะสม อย่างไรตาม จากข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยหลายโครงการในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมาโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สามารถประมวลจัดทำเป็นข้อเสนอต่อการกำหนดนโยบายของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีประเด็นท้าทายและเป็นโจทย์เชิงนโยบายในหลายมิติ โดยในที่นี้จะขอเสนอเฉพาะประเด็นเรื่องการร่วมลดผิดชอบลดก๊าซเรือนกระจกของไทย (ดูข้อเสนอทั้งหมดได้จาก www.measwatch.org)

            การร่วมรับผิดชอบลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทย เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการเจรจาซึ่งยังไม่มีข้อยุติ เป็นประเด็นที่จะส่งผลสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก (หนึ่ง) ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากรายงานของ IPCC เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในสภาวะสมดุลอยู่ที่ระดับประมาณ 2 องศาเซลเซียส ที่เสนอว่าทั้ง กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะต้องร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง (ในระดับที่แตกต่างกัน) และ (สอง) พิจารณาจากแนวโน้มการใช้มาตรการทางด้านการค้าที่เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนโดยประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย การดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าในท้ายที่สุดจะไม่มีพันธกรณีให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากความตกลงใดๆ ที่อยู่ในระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ. 2012 ก็ตาม แต่ผู้ประกอบการจะถูกแรงบีบ แรงกดดันจากมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศคู่ค้าเพื่อให้ลดก๊าซเรือนกระจก

            ในอีกด้านหนึ่ง ดร. ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล (คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.) มีข้อวิเคราะห์ว่า ความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงหรือผลักภาระการลดก๊าซของประเทศไทยออกไปให้นานที่สุดและมากที่สุด อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศไทย แม้ว่าจะพิจารณาเพียงเฉพาะมุมมองในเชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทย เพราะการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ของระบบเศรษฐกิจซึ่งมีความซับซ้อนอย่างสูงเพื่อตอบสนองต่อกฎระเบียบใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นการส่งสัญญาณที่ถูกต้องและชัดเจนแก่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เนิ่นๆ จะเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถปรับตัวได้ดีกว่าและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า การซื้อเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการปรับตัวแม้อาจจะให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวน่าจะก่อผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า เพราะจะทำให้ภาคเศรษฐกิจวางแผนการตัดสินใจลงทุนไปอย่างผิดพลาด และจะเหลือช่วงเวลาสำหรับการปรับตัวที่น้อยกว่า

            กฎระเบียบเรื่องโลกร้อนนอกเวทีเจรจาระดับพหุภาคีมีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมุ่งกำหนดนโยบายเพื่อตอบโจทย์เฉพาะในกรอบความตกลงขององค์การสหประชาชาติ เป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในโลกความเป็นจริง

ที่มาของข้อมูล : โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Watch)

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน
บอกข่าวเล่าความ - นโยบายเรื่องโลกร้อนของไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น