สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ปาล์มน้ำมัน... ทางเลือกพลังงานทดแทน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 27 ธ.ค. 2553

            ในปัจจุบันคนทั่วโลกวิตกกังวลกับสภาพราคาน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปจะมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก จะสร้างปัญหาให้กับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำมันในชีวิตประจำวัน แต่ในเมืองไทยนับว่าโชคดีที่มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาเล็งเห็นการณ์ไกลว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับน้ำมัน และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 ที่ผ่านมา พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ให้คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการจัดสร้างโรงงานสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำผลผลิตปาล์มจากแปลงทดลองของศูนย์ฯ มาทำการสกัดและแปรรูปให้ครบวงจร โดยทำเป็นเชิงการศึกษาเพื่อให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน จากนั้นเมื่อปี 2532 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาด 110 ลิตร ต่อวัน
    
            ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรพื้นที่ดำเนินงาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และได้ทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์มและอุปกรณ์การกลั่นน้ำมันปาล์ม ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งที่สามารถดำเนินการสนองพระราชดำริได้อย่างครบวงจร และในเดือนสิงหาคม 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสรับสั่งเป็นการเร่งด่วนผ่านไปยัง นายชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ในขณะนั้นให้คณะผู้วิจัยนำน้ำมันปาล์มดิบมาแปรรูปเป็นไบโอดีเซล ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีการนำไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มมาใช้กับรถแทร็ก เตอร์ รถไถดิน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองทำการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อ เป็นพลังงานทดแทน โดยให้นำผลผลิตที่ได้จากแปลงทดลองปลูกปาล์มน้ำมันของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ไปโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันไบโอดีเซล โดยผ่านขบวนการต่างๆ ที่มีขนาดกำลังผลิต 1,000 ลิตรต่อวัน พร้อมทั้งเป็นสถานีจ่ายน้ำมันไบโอดีเซลจำหน่ายให้กับเรือประมงขนาดเล็กและรถยนต์บุคคลทั่วไป
    
            ด้านนายปรีชา โพธิ์ปาน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ คนปัจจุบัน กล่าวถึงปาล์มน้ำมันที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริว่า นับเป็นพืชชนิดแรกที่ทางศูนย์ฯ ได้ทดลองปลูกเมื่อปี 2529 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาวิธี การปรับปรุงดินที่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อได้ผลก็ได้ขยายไปปลูกในพื้นที่พรุบาเจาะ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส 8,000 ไร่, พื้นที่พรุกาบแดง ตำบล ไพรวัน อำเภอตากใบ 814 ไร่, พื้นที่พรุ นิคมตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง 5,097 ไร่, พื้นที่พรุนิคมสหกรณ์บาเจาะ อำเภอเมือง 9,511 ไร่, และในพื้นที่ตำบลสุไหงปาดี 3,036 ไร่ ปัจจุบันปาล์มน้ำมันในบางพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว ยังมีการขยายการปลูกปาล์มม้ำมันเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นไร่
    
            นายปรีชา โพธิ์ปาน ยังกล่าวต่อไปอีกว่า พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีอีกมาก ที่ เกษตรกรประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำนาไม่ได้ผลทำให้เป็นพื้นที่ทิ้งร้าง ทางกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้มีการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน ในจังหวัดนราธิวาส รวม 43,842.38 ไร่, จังหวัดปัตตานี 22,663 ไร่ และจังหวัดยะลา 10,184 ไร่ และยังมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมสหกรณ์อีก 35,000 ไร่ ในการนำผลผลิตเข้าสู่โรงงานแปรรูปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 60,000 ไร่ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่นิคมสหกรณ์บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยก่อสร้างตั้งแต่ปี 2548 ขนาดกำลังผลิต 45 ตันทะลายต่อชั่วโมง และสกัดผลปาล์มดิบประมาณวันละ 350 ตัน และรองรับผลผลิตได้เต็มที่ประมาณ 200,000 ตันต่อปี และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา โรงงานเริ่มดำเนินการแล้ว
    
            ด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทำให้คนไทยทุกคนเบาใจเรื่องสภาวะน้ำมัน และประชาชนทุกคนให้ความสำคัญและรู้จักคุณค่าของพืชที่ให้พลังงานอย่างปาล์มน้ำมันแล้ว อนาคตประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันใช้เอง อาจไม่ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในประเทศอีกด้วย ปาล์มน้ำมันคือพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในอนาคต คาดว่าพื้นที่ร้างของพี่น้องเกษตรกร ให้หันมาสนใจการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวและช่วยประเทศชาติไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ และเกษตรกรต้องการเรียนรู้วิธีการต่างๆ ในการปลูกปาล์มน้ำมัน ศึกษาได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2553

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - นักวิจัยจุฬาฯ พบวิธีผลิตไบโอดีเซลคุณภาพดีมากกว่าเก่า
บอกข่าวเล่าความ - สศก. เตรียมศึกษาลดก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น