สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

คุมไฟไหม้เตาปฏิกรณ์ 4 ได้แต่ยังคงวิกฤติ

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 16 มี.ค. 2554

            วันนี้ 16  มีนาคม 2554 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด  สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองโซมะ ประเทศญี่ปุ่นว่า เมื่อเช้าตรู่วันนี้ เกิดเพลิงไหม้ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง หนึ่งวันหลังจากโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา จนสร้างความตื่นตกใจไปทั่วญี่ปุ่น  และทำให้รัฐบาลต้องเร่งควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์ ที่มีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
    
            นายฮาจิมิ โมตูฟูกุ  โฆษกของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค.  ผู้ดำเนินการด้านโรงงานนิวเคลียร์เปิดเผยว่า  อาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ที่โรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ  เกิดไฟลุกไหม้  แต่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว โดยใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงเพลิงจึงสงบ 

            สำหรับเหตุแผ่นดินไหว 8.9 ริคเตอร์ในประเทศญี่ปุ่น นำไปสู่การถล่มของคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2 พันศพ หายสาญสูญอีก 15,000 คน ขณะที่ทั่วโลกต่างยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่นอย่างไม่ขาดสาย เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต และฟื้นฟูประเทศ แต่ปัญหาใหญ่ขณะนี้เป็นเรื่องวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดรอบที่ 2 โดยมีการรั่วไหลของกัมมันตรังสี ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งอพยพผู้คนออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมยืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ยอมรับเตาปฏิกรณ์ฯ วิกฤตหนัก

            ความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาการรั่วไหลของกัมตรังสี  วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา นายยูคิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล แถลงว่า วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิชิ หมายเลข 1 ได้แพร่ขยายไปถึง 4 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จากจำนวนทั้งหมด 6 เตา โดยเฉพาะการระเบิดที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เมื่อตอนเช้าวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดระเบิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 และ หมายเลข 3 เมื่อวันเสาร์และจันทร์ที่ผ่านมา จากก๊าซไฮโดรเจนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ นอกจากนั้นยังมีไฟไหม้อาคารคลุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 แต่ก็ดับได้ในเวลาต่อมา ทั้งหมดนี้มาจากสาเหตุมาจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการระเบิดครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมามีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ต่อมายังมีรายงานว่า อาคารคลุมเตาที่ 5 และ 6 ก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามที่จะควบคุมไม่ให้เกิดอันตราย

เตือนอยู่แต่ในที่พัก - ห้ามบิน

            นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ได้อพยพผู้คนออกไปแล้วประมาณ 2 แสนคนจากรัศมี 20 กม.โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนประชาชนที่อยู่ในรัศมีอีก 10 กม.หลังจากนี้ควรจะอยู่แต่ภายในที่พักอาศัยเท่านั้น ไม่ควรออกมาในที่กลางแจ้ง แล้วยังมีการประกาศเขตห้ามบินในรัศมี 30 กม.รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะเกรงว่ากระแสลมอาจพัดพาสารกัมมันตรังสี ส่วนในกรุงโตเกียว มีการตรวจพบปริมาณว่าระดับสารกัมมันตรังสีสูงเกินกว่าปกติ แต่ยังถือว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารและดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะข่าวออกทางทีวีแล้วว่า เกิดเหตุระเบิดขึ้นมา แต่รายงานยังไม่มีมาถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเลยแม้เวลาผ่านมา 1 ชั่วโมงแล้ว

เผยพบอัตราระดับรังสีสูง

            โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงต่อว่า สารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาจากโรงงานนั้นอาจรั่วออกมาพร้อมกับก๊าซไฮโดรเจน มีการตรวจวัดระดับของหน่วยวัดอัตราระดับรังสี เมื่อเวลา 10.22 น.เช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น พบว่า วัดได้ 30 มิลลิซีเวอร์ต ระหว่างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 กับ หมายเลข 3 ตามมาด้วย 400 มิลลิซีเวอร์ตใกล้กับเตาหมายเลข 3 และ อีก 100 มิลลิซีเวอร์ตใกล้กับเตาหมายเลข 4 อย่างไรก็ตามหากได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าไปหนึ่งโดสในอัตรา 1,000 มิลลิซีเวิร์ต หรือ 1 ซีเวอร์ต แสดงอาการป่วยออกมาให้เห็น เช่น คลื่นไส้ และ อาเจียน แต่ถ้ารับไป 1 โดส 5,000 มิลลิซีเวอร์ต อาจทำให้ผู้ได้รับสารกัมมันตรังสีเสียชีวิตได้ภายใน 1 เดือน โดยอัตราเสี่ยงอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง

ไอเออีเอย้ำต่างจากเชอร์โนบิล

            นายยูกิยะ อมาโนะ หัวหน้าทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร้องขอความช่วยเหลือสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตพลังงานนิวเคลียร์ในขณะนี้ แต่ทางหัวหน้าไอเออีเอ พยายามอย่างยิ่งที่จะคลายความวิตกจากทั่วโลก โดยย้ำว่า สถานการณ์นั้นไม่มีทางที่จะเลวร้ายไปเหมือนกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่ประเทศยูเครน เมื่อปี 2529 ส่วนคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ของสหรัฐ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์อีก 8 คน เข้าไปช่วยญี่ปุ่น

ยันโตเกียวไม่อันตราย

            ที่กรุงโตเกียว สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศญี่ปุ่น ได้ยอมถอดแถลงการณ์ที่ออกไปก่อนหน้านี้ว่า มีสารกัมมันตรังสีลอยมาถึงในกรุงโตเกียว โดยยืนยันว่า โตเกียวไม่อยู่ในภาวะความเสี่ยงแต่อย่างใด “ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับเมื่อช่วงเช้ายังไม่ได้รับการยืนยัน และ ได้ถอดจากเว็บไซต์ของสถานทูตแล้ว การพยากรณ์อากาศแสดงให้เห็นว่า กระแสลมเปลี่ยนทิศทางไปแล้ว ดังนั้น โตเกียวจึงไม่มีอันตรายจากสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด” เว็บไซต์สถานทูตฝรั่งเศสระบุ ซึ่งก็ตรงกับรายงานพยากรณ์อากาศที่ระบุว่า การพยากรณ์อากาศสำหรับเมืองฟูกูชิมา พบว่า มีหิมะตกและมีกระแสลมพาดผ่านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่กรุงโตเกียว จากนั้นกระแสได้เปลี่ยน พัดจากทิศตะวันตกไปลงสู่ทะเลญี่ปุ่น

ปรับแรงสั่นสะเทือน 9.0 ริกเตอร์

            บรรดาผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ(ยูเอสจีเอส) ได้ปรับตัวเลขของแผ่นดินไหวที่กระหน่ำญี่ปุ่นอย่างรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 8.9 ริกเตอร์เป็น 9.0 ริกเตอร์   ทำให้แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นครั้งนี้ มีความรุนแรงเป็นอันดับ 4 ของโลกนับตั้งแต่ปี 2443   ยูเอสจีเอสระบุว่า  เป็นเรื่องบ่อยครั้งที่มีการปรับตัวเลขของแรงสั่นสะเทือน ภายหลังแผ่นดินไหว และว่า  แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังถือเป็นการสั่นสะเทือนครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกเมื่อ 130 ปีก่อน  สำหรับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดของโลกเกิดที่ชิลี เมื่อ 5 พ.ค.ปี 2503   วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 9.5 ริกเตอร์  คร่าชีวิตผู้คนกว่า 1,600 ราย และไร้ที่อยู่ 2 ล้านคน

ยอดผู้เสียชีวิตพุ่ง 2,700 ศพ

            ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิกระหน่ำชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น พุ่งขึ้นถึง  2,700 ศพ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่า  มีการยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิต 2,700 ศพ และสูญหาย 3,118 ราย บาดเจ็บ 1,885 คน  เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันจันทร์ ซึ่งมีคนตายอยู่ที่ 1,647 ศพ  ก่อนหน้านี้  เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมิยากิ  ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง กล่าวคาดหมายว่า  ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเกิน 10,000 ศพ เฉพาะในเมืองมิยากิแห่งเดียว  นอกจากนี้ บ้านเรือนกว่า 3,000 หลังถูกน้ำท่วมจากสึนามิ  ขณะที่ บ้านอีกราว 130 หลังเกิดไฟลุกไหม้  และมีดินถล่ม 68 ครั้ง

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen
Uranium
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เตาปฏิกรณ์ 3 ส่อบึ้ม เร่งอพยพสองแสนคนหนี
บอกข่าวเล่าความ - เตาปฏิกรณ์ 3 ควบคุมไม่อยู่บึ้มแล้ว
บอกข่าวเล่าความ - ระเบิดแล้ว!!! เตานิวเคลียร์หมายเลข 2
บอกข่าวเล่าความ - ญี่ปุ่นอพยพหนีตายสารกัมมันตรังสี
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น