สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

เร่งฉีดน้ำสกัดเตาปฏิกรณ์ 6 เพื่อลดความร้อน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 17 มี.ค. 2554

            วันนี้ 17 มีนาคม 2554 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศได้แนะนำพลเมืองของตนที่ไม่มีความจำเป็นให้เดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยห่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดปัญหาในเมืองฟูกุชิมะในรัศมี 80 กิโลเมตร และกรุงโตเกียวไปที่เมืองโอซากาทางตะวันตก หรือเดินทางออกจากญี่ปุ่น นอกจากนั้นหลายประเทศยังได้ปิดสถานทูตในกรุงโตเกียวชั่วคราว และไปเปิดสถานทูตที่เมืองอื่นๆ แทน ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังมีรายงานว่าสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองฟูกุชิมะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความพยายามในการฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวก่อนที่จะเริ่มใหม่อีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ รวมทั้งกระแสข่าวของกัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายเข้าไปถึงกรุงโตเกียวแล้ว
         
            ขณะที่สายการบินหลายสายก็ได้จับตาดูสถานการณ์การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเตรียมแผนฉุกเฉิน รวมทั้งกำหนดเส้นทางการบินใหม่ โดยที่ได้เลี่ยงกรุงโตเกียวไปยังเมืองอื่น เพื่อไม่ให้การใช้บริการหยุดชะงัก และป้องกันความเสี่ยงของผู้โดยสารและพนักงานการบินด้วย ในขณะที่องค์การบริหารการบินของญี่ปุ่นได้กำหนดเขตห้ามบินในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองฟูกุชิมะ
        
            ขณะเดียวกันกระแสข่าวลือจากข้อความในอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสี ยังคงสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั่วโลก ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ แคนาดา รวมทั้งที่เกาะฮาวาย ซึ่งอยู่ห่างจากญี่ปุ่นถึง 6,500 กิโลเมตร โดยประชาชนยังคงแห่ไปกักตุนซื้อยาเม็ดไอโอดีนตามร้ายขายยา โดยทางองค์การสาธารณสุขประกาศเตือนว่า แม้ยาเม็ดไอโอดีนจะมีผลลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ แต่ว่าอาจทำให้ผู้ใช้ยาเสี่ยงต่ออาการแพ้และมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้เหมือนกัน
 
ญี่ปุ่นเร่งโปรยน้ำลงเตาปฏิกรณ์ 6               
               
            ความพยายามครั้งล่าสุดในการลดความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใน จ.ฟูกุชิมะ คือการนำเฮลิคอปเตอร์ชีนุกบรรทุกน้ำทะเลและโปรยลงมาเหนือเตาปฏิกรณ์หมายเลข 6 นอกจากเพื่อลดความร้อนแล้ว ยังเป็นการเติมน้ำในบ่อของเตาปฏิกรณ์ด้วย ภาพของสถานีโทรทัศน์ NHK ที่ตั้งกล้องห่างโรงไฟฟ้า 35 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นระยะปลอดภัย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้คนอพยพออกมาจากรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และประชาชนที่อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรถัดมาไม่จำเป็นต้องอพยพ แต่ขอให้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน และห้ามใช้เครื่องปรับอากาศ  ล่าสุดคณะกรรมการกำกับนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ หรือ NRC ออกคำเตือนให้ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในรัศมี 80 กิโลเมตรอพยพออกมา หลังพบว่าบ่อน้ำของเตาปฏิกรณ์ตัวที่ 4 น้ำแห้งหมดแล้ว ซึ่งส่งผลให้ระดับของกัมมันตรังสีเพิ่มสูงอย่างมาก และ NRC ได้แจ้งเรื่องนี้ให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับทราบก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชน
 
ฉีดน้ำสกัดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 และ 4 ความร้อนพุ่ง

            สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด่วนว่า  เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 และ 4 เกิดมีอุณหภูมิความร้อนพุ่งสูงสู่อากาศ  มองเห็นได้ในระยะไกล  เจ้าหน้าที่ต้องนำ เฮลิคอปเตอร์ พ้นและฉีดน้ำสกัดความร้อนที่พุ่งระอุ  เพราะหวั่นว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 และ 4 จะเกิดระเบิดขึ้นและทำให้สารกัมมันตภาพรังสี แผ่ระบาด ไปยังโตเกียวสูง

            เว็บไซท์ NHK รายงานว่า กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ได้เริ่มใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยน้ำลงไปที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่า เพื่อพยายามยับยั้งการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี  ด้านนายยูคิยะ อามาโน่ ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA จะเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ได้รับผลกระทบหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันศุกร์

วิกฤตโรงไฟฟ้าญี่ปุ่น 4 เตาปฏิกรณ์เสียหาย

            เว็บไซท์หนังสือพิมพ์ อาซาฮี รายงานว่า วิกฤติที่โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ฟูกูชิม่า หมายเลข 1กำลังจะอยู่เหนือการควบคุมมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเกิดการระเบิดและไฟไหม้ และมีสารกัมมันตรังสีรั่วออกมาในระดับอันตรายจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 แห่ง จากทั้งหมด 6 แห่ง ขณะที่  นายยูคิโอะ เอดาโน่ รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล แถลงว่า ระดับของสารกัมมันตรังสี ได้ขึ้นไปอยู่ที่ 400 มิลลิซีเวิร์ทรอบเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 แห่ง และเป็นระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยหน่วยวัดระดับสารกัมมันตรังสีที่นายเอดาโน่ระบุนั้น มหาศาลกว่าหน่วยไมโครซีเวิร์ทที่เคยใช้ในการแถลงหลายพันเท่า

            นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ได้แถลงแสดงความวิตกต่อสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิม่า และขอให้ประชาชนในรัศมี 20-30 กิโลเมตรอยู่แต่ในบ้าน หลังจากที่แนะนำให้ประชาชนในรัศมี 20 กิโลเมตร อพยพไปก่อนหน้านี้ ด้านนายคันไซ นากาโน่ ประธานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ แถลงว่า นับตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา มีผู้ป่วย 96 คน ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัศมี 20 กิโลเมตร รอบโรงงานนิวเคลียร์

ติดตั้งสายไฟเรียกคืนทำงานระบบหล่อเย็น

            สำนักข่าว NHK รายงานล่าสุดว่า ทางบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก จะพยายามติดตั้งสายไฟเพื่อเปิดใช้งานระบบหล่อเย็นอีกครั้งที่โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ-ไดอิจิ   เทปโก กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการติดตั้งสายไฟในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาการวางสายไฟฟ้าเข้าสู่โรงไฟฟ้าโดยตรงจากโรงไฟฟ้าใกล้ เคียง และหวังว่าจะเปิดใช้ระบบหล่อเย็นได้ด้วยการเชื่อมต่อสายไฟไปยังแผงไฟชั่ว คราว เพื่อใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฉุกเฉิน
        
            ทั้งนี้ เครื่องผลิตไฟฟ้าดีเซลฉุกเฉิน ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์หมายเลข 1 ประสบความล้มเหลวในการทำงานเพราะกระแสไฟดับ จากเหตุแผ่นดินไหว และได้รับความเสียหายจากสึนามิ ขณะที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลที่มีปัญหาเกิดจากระบบทำความเย็นล้มเหลว จนส่งผลกระทบต่อเตาปฏิกรณ์ที่ 1, 2 และ 3 รวมถึงแท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ทั้ง6 ของโรงไฟฟ้าด้วย เป็นผลให้แท่งเชื้อเพลิงร้อน และน้ำหล่อเย็นลดลงจนแท่งเชื้อเพลิงผุดขึ้นสัมผัสอากาศจนเกิดความเสียหายจาก การหลอมละลาย และความสำคัญสูงสุดในขณะนี้ คือ การเรียกคืนการทำงานของระบบหล่อเย็น ในขณะที่รังสียังคงรั่วออกมาจากโรงไฟฟ้า ซึ่งทางบริษัท กล่าวว่า จะพยายามติดตั้งเสร็จสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด หลังจากการตรวจสอบขั้นตอนเพื่อที่ให้คนงานได้รับสารกัมมันตรังสีน้อยที่สุด

            รถฉีดน้ำของตำรวจถูกส่งเข้าประจำการใกล้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเมื่อวันพุธ(16) เตรียมพร้อมสำหรับฉีดน้ำเข้าใส่บ่อแช่แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อป้องกันการระเบิด โดยมีสหรัฐฯ ยื่นมือเข้าช่วยส่งปั๊มน้ำแรงดันสูงร่วมปฏิบัติการที่มีวัตถุประสงค์ลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ พร้อมกับเตือนพลเมืองถอยห่างรัศมี 80 กิโลเมตร ขณะที่อังกฤษแนะให้ออกจากกรุงโตเกียว อ้างอาจเกิดความวุ่นวายด้านเสบียง การขนส่งและติดต่อสื่อสาร
       
            สำนักข่าวจิจิเพรสรายงานว่ายานพาหนะสำหรับภารกิจควบคุมฝูงชนจากตำรวจนครบาลโตเกียว ได้รับคาดหมายว่าจะเดินทางไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี(17) และจะเริ่มปฏิบัติการอย่างเร็วที่สุดเมื่อพร้อม
       
            เจ้าหน้าที่ ณ โรงไฟฟ้าดังกล่าวซึ่งดำเนินการโดยบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์(เทปโก) กำลังทำงานอย่างหนักในความพยายามเพิ่มระดับน้ำขณะที่ความร้อนของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ทำให้น้ำเดือดและค่อยๆระเหยไป ซึ่งจะทำให้แท่งเชื้อเพลิงสร้างก๊าซไฮโดรเจน พร้อมจุดชนวนให้เกิดการระเบิดของก๊าซดังกล่าวและอาจนำไปสู่การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี   ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของเทปโก ยืนยันว่าตำรวจได้ส่งรถฉีดน้ำเข้าช่วยในความพยายามลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ แต่เขาไม่มีรายละเอียดไปมากกว่านี้

            เซาอิริ โคกะ เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสี ที่สูงกว่าระดับปกติในเมืองหลวงของญี่ปุ่นแล้ว แต่ยืนยันว่า ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่เตือนว่า ระดับกัมมันตรังสี บริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียว ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 250 กิโลเมตร เป็นอันตรายต่อมนุษย์แล้ว หลังเกิดเหตุระเบิด และไฟไหม้อาคารเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้ ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในเมืองหลวงของญี่ปุ่น ที่วัดได้ 0.809 ไมโครซีเวิร์ต ระหว่างเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปริมาณ ในวันจันทร์ที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ถึง 20 เท่าตัว
 
            เอเอฟพี รายงานว่า แม้ที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้แพร่ภาพคลื่นสึนามิถล่มบ้านเรือนและกวาดรถยนต์เหมือนตุ๊กตา แต่ข่าวดังกล่าวยังสะท้อนภาพอีกด้าน นั่นคือ การที่ญี่ปุ่นได้แสดงความนิ่งในขณะที่พวกเขากำลังค้นหาบุคคลที่รัก หรือการเข้าแถวรอรับข้าวของเครื่องใช้และสิ่งจำเป็น โดยไม่มีสัญญาณของเหตุการณ์ปล้นสะดมบ้านเรือนหรือสินค้า หรือความรุนแรงต่าง ๆ แต่อย่างใด นอกจากนี้ ประชาชนญี่ปุ่นยังเข้าแถวยืนอย่างมีระเบียบซื้อสินค้าตามร้านค้าต่าง ๆ แม้สินค้าจะหมดแล้วก็ตาม 
 
            นายโจเซฟ เนย์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ภัยพิบัติครั้งนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นได้รับพลังแห่งความอ่อนโยน หรือการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการสร้างความประทับใจให้แก่ผู้อื่น โดยแม้ว่าประเทศจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมขนาดมหึมา เหตุการณ์น่าเศร้านี้ยังแสดงภาพน่าประทับใจของญี่ปุ่น และนอกจากความเห็นอกเห็นใจจะเกิดขึ้น ญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่มีรูปแบบอย่างดีในการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติเช่นนี้ ในฐานะที่ประเทศสมัยใหม่ควรจะเป็น และญี่ปุ่นสามารถรับมือกับวิกฤตอย่างนิ่งสงบและมีระเบียบด้วย

            นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า สหรัฐไม่ได้แนะนำให้ชาวอเมริกาเดินทางออกจากโตเกียว เพียงเตือนให้ติดตามคำเตือนจากกระทรวงการต่างประเทศ ท่ามกลางกระแสหวดวิตกเรื่องวิกฤติพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen
Uranium
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เตาปฏิกรณ์ 3 ส่อบึ้ม เร่งอพยพสองแสนคนหนี
บอกข่าวเล่าความ - เตาปฏิกรณ์ 3 ควบคุมไม่อยู่บึ้มแล้ว
บอกข่าวเล่าความ - ระเบิดแล้ว!!! เตานิวเคลียร์หมายเลข 2
บอกข่าวเล่าความ - ญี่ปุ่นอพยพหนีตายสารกัมมันตรังสี
บอกข่าวเล่าความ - คุมไฟไหม้เตาปฏิกรณ์ 4 ได้แต่ยังคงวิกฤติ
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น