สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ตามรอยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 7 เม.ย. 2554

            วิกฤติการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาที่ประเทศญี่ปุ่น อ้นเนื่องมาจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเองและชาวโลกเกิดความสบายใจจากปัญหากัมมันตรังสีที่แพร่กระจายออกมา ทำให้ประเทศต่าง ๆ หวั่นการปนเปื้อนของนิวเคลียร์ของอาหารทะเล ผัก ผลไม้ที่มาจากญี่ปุ่นด้วยความไม่ไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง

            อย่างไรก็ดี เหตุเกิดระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้ประชาชนทั่วโลกต่างนึกถึงเรื่องราวของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล  ได้มีสื่อมวลชนนำข้อมูลออกมานำเสนอตีแผ่ทุกแง่ทุกมุมให้สาธารณชนได้รับรู้อีกครั้งกับเรื่องราวฝันร้ายของโลก เมื่อ 20 กว่าปีก่อน พร้อมทั้งลุยเข้าไปถ่ายทำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่กลายเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ร้าง และบ้านเมืองที่อยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลก็เป็นบ้านเมืองร้างไร้ผู้คนมาอาศัยอยู่มาเผยแพร่ทางยูทูบให้ผู้ที่คลิกเข้ามาได้เห็นกันจะจะ
    
            โดยเฉพาะเรื่องราวการปิดตำนานของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ที่ประเทศรัสเซีย ยุคนั้นมีการแก้ไขสถานการณ์ด้วยวิธีอะไร เมื่อย้อนรอยกลับไปดูทำให้ทราบว่า หลังเกิดอุบัติเหตุ บริเวณหน่วยที่ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2529 จนทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ฝาปิดของเครื่องปฏิกรณ์ระเบิดออก ทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลาย ตะกั่วดำที่ใช้เคลือบเครื่องปฏิกรณ์ติดไฟ และลุกไหม้เป็นเวลา 9 วัน ทำให้รังสีปริมาณมหาศาลกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ความพยายามในช่วงแรก ๆ ที่จะดับไฟที่กำลังลุกไหม้เครื่องปฏิกรณ์ คือ การฉีดน้ำเย็นไปที่เครื่องปฏิกรณ์  ตั้งแต่ในวันที่ 27 เม.ย. - 5 พ.ค.

            จากนั้นเฮลิคอปเตอร์ของทหารรัสเซียมากกว่า 30 ลำบินขึ้นเหนือเครื่องปฏิกรณ์ที่กำลังลุกไหม้ และทิ้งตะกั่ว 2,400 ตัน และทราย 1,800 ตันลงไปจุดประสงค์เพื่อพยายามดับไฟและดูดซับรังสี  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หนำซ้ำยังทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะความร้อนได้ทับถมใต้วัสดุที่ถูกทิ้งลงไป ทำให้อุณหภูมิของเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นอีกครั้ง รวมถึงรังสีปริมาณมากถูกปล่อยออกมา ในช่วงสุดท้ายของการดับไฟ แกนของเครื่องปฏิกรณ์ถูกทำให้เย็นลงด้วยไนโตรเจน หน่วยดับเพลิงทั้งของโรงไฟฟ้า ทีมกู้ภัย บุคลากร และกำลังทหารที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมปฏิบัติการ ต่างได้รับรังสีเกินขีดสูงสุด กันแทบทั้งสิ้น มีรายงานว่าหลังเกิดเหตุบรรดานักกู้ภัยต่างต้องสังเวยชีพค่อย ๆ ล้มตายยอดถึง 2.5 หมื่นคน

            สำหรับการปิดตำนานหายนะ บรรดานักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตสมัยนั้น ตัดสินใจทำสิ่งห่อหุ้มครอบเตาปฏิกรณ์ หน่วยที่4  โดยตั้งชื่อว่า “โลงศพโบราณ” ถูกออกแบบมาเพื่อหยุดการปล่อยรังสีเพิ่มขึ้นขึ้นสู่บรรยากาศ เริ่มจากภาระกิจแรกในการควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ลูกทำลายคือการสร้าง "แผ่นหินหนาสำหรับทำความเย็น" ใต้เครื่องปฏิกรณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเพลิงที่ยังร้อนอยู่เผาไหม้ผ่านหลุมที่ฐานเครื่องปฏิกรณ์ มีการระดมคนงานเหมืองถ่านหิน 400 คนถูกเกณฑ์ไปขุดอุโมงค์ใต้เครื่องปฏิกรณ์

            กระทั่งวันที่ 24 มิ.ย.29 คนงานสามารถสร้างอุโมงค์ยาว 168 เมตรใต้เครื่องปฏิกรณ์ได้สำเร็จ จากนั้นจึงเร่งก่อสร้างโครงเหล็กและคอนกรีตรูปร่างแบบ โลงศพโบราณ ห่อหุ้มไว้ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ราวๆเดือนพ.ย.จึงสร้างเสร็จใช้เหล็กกล้ามากกว่า 7,000 ตัน และคอนกรีต 410,000 ลูกบาศก์เมตร  อย่างไรก็ดีไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ในเครื่องปฏิกรณ์มีปริมาณเท่าใดแน่ นอกจากนี้ สิ่งที่ถูกทิ้งไว้ในโลงศพ คือ กากนิวเคลียร์เป็นพันคิวบิกเมตรที่เกิดจากชิ้นส่วนของเครื่องปฏิกรณ์ที่ถูกทำลาย

            เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว โลกได้รับบทเรียนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่รัสเซีย ปัจจุบันฝันร้ายกำลังตามมาหลอกหลอนหมู่มวลมนุษยชาติอีกครั้งว่า วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ในดินแดนดอกซากูระจะคลี่คลายลงได้อย่างใด แม้ว่าญี่ปุ่นจะสามารถดับวิกฤติการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีนิวเคลียร์ได้สำเร็จ  แต่บ้านเมืองที่อยู่รอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ก็คงจะต้องเป็นบ้านเมืองร้างเฉกเช่นเดียวกับบ้านเมืองที่ตั้งอยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 7 เมษายน 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen
Uranium
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - เจาะลึกมหันตภัยร้ายนิวเคลียร์
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น