สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นซ้ำ 7.4 ริกเตอร์

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 8 เม.ย. 2554

            เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.4 เขย่าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อคืนวานนี้ (7 เมษายน 2554) โดยที่ทางการยังได้ออกคำเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่ชายฝั่งแถบนี้ ซึ่งก็ได้รับความเสียหายย่อยยับอยู่แล้วจากธรณีพิบัติระดับ 9.0 และคลื่นสึนามิความสูงมหึมาในวันที่ 11 มีนาคม 2554 อันทำให้โรงไฟฟ้าปรมาณูแห่งหนึ่งเป็นอัมพาตและกลายเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ที่ยังควบคุมคลี่คลายไม่สำเร็จ
       
            ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ จากแผ่นดินไหวครั้งใหม่ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในระลอกอาฟเตอร์ช็อกของธรณีพิบัติคราวก่อน ขณะเดียวกันภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งทางการญี่ปุ่นก็สั่งยกเลิกเตือนภัยสึนามิ แต่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ แถลงว่า ได้สั่งอพยพคนงานที่กำลังต่อสู้คลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์อยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้า ให้ออกมายังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว และคนงานทั้งหมดก็ได้ออกมาจนหมดแล้ว
       
            ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่คราวนี้ เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เจ้าปัญหาแห่งนี้ ได้ลงมือปั๊มก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ที่อยู่ในสภาพอัมพาตเครื่องหนึ่ง เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดเหมือนที่ได้เคยอุบัติไปแล้วหลายครั้งในเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ขณะที่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยแสดงท่าทีว่าอาจจะขยายพื้นที่อพยพบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ในเวลาเดียวกับที่พวกชาติเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นก็แสดงความหวาดผวากันมากขึ้น เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดจากกัมมันตภาพรังสีซึ่งรั่วไหลออกมา
       
            ขณะที่วิกฤตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ กำลังจะดำเนินมาครบสี่สัปดาห์เต็มนั้น ทางบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็แสดงความกังวลถึงปัญหาการสะสมตัวของก๊าซไฮโดรเจนในอาคารของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เพราะเรื่องนี้สามารถบานปลายไปเป็นการระเบิดรอบใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้า ในเมื่อมวลของไฮโดรเจนที่มหาศาลในอาคาร อาจถึงจุดที่มากพอจะผสมกับออกซิเจน จนนำไปสู่การระเบิดได้ เพื่อป้องกันเรื่องนี้ เท็ปโกจึงกำลังอัดฉีดก๊าซไนโตรเจนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยเข้าสู่อาคารเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว โดยที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น
       
            พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดทวีสูงขึ้น ในเมื่อแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เริ่มเย็น และขณะเดียวกันไอน้ำภายในหม้อควบคุมความดันซึ่งหุ้มแกนกลางแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เอาไว้ก็กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ จึงทำให้ความดันภายในหม้อมีระดับลดลง พร้อมกับดูดเอาอากาศเข้าไปโดยผ่านทางรอยรั่วรอยร้าวต่างๆ ดังนั้น การปั้มไนโตรเจนเข้าไปเช่นนี้ เป็นไปเพื่อให้ก๊าซเฉื่อยจำนวนมหาศาลได้เข้าไปแทรกอยู่ในชั้นอากาศ ปิดโอกาสที่ออกซิเจนจะแผลงฤทธิ์ได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการอัดฉีด ณ อัตรา 6,000 ลูกบาศก์เมตรเข้าไปนี้ จะต้องใช้เวลาราว 6 วัน นอกจากนั้น เท็ปโกบอกว่ายังเตรียมจะอัดฉีดก๊าซไนโตรเจนเข้าสู่เตาปฏิกิริยาหมายเลข 2 และหมายเลข 3 เพื่อป้องกันเหตุวิกฤตแล้ว

            นับจากที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แหงนี้เผชิญกับการระเบิดหลายครั้ง เนื่องจากเกิดการสะสมตัวของไฮโดรเจนในบริเวณรอบๆ เตาปฏิกรณ์หลายต่อหลายเครื่อง แรงระเบิดส่งผลเป็นการทำลายอาคารด้านนอกที่ครอบเตาปฏิกรณ์เอาไว้ ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าแห่งนี้แพร่สารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ น้ำในมหาสมุทรใกล้ๆ โรงงาน และเข้าไปปนเปื้อนในน้ำดื่มกับผลิตภัณฑ์การเกษตรซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่แถบนั้น โดยที่มีตรวจพบกัมมันตรังสีไอโอดีนสูงเกินระดับที่ยอมรับได้ตามข้อกำหนดของกฎหมาย ปรากฏในพืชผัก นมเนย และเห็ดที่เป็นอาหารของผู้คน
       
            ก่อนหน้านี้ราว 1 สัปดาห์ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษของสหประชาชาติในด้านพลังงานนิวเคลียร์ ได้เคยเสนอแนะว่า เขตสั่งอพยพประชาชนที่ทางการญี่ปุ่นประกาศออกมา ซึ่งครอบคลุมบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ในรัศมี 20 กิโลเมตรนั้น น่าจะน้อยเกินไปและควรจะขยายให้กว้างขวางกว่านี้ ทว่าทางการญี่ปุ่นแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยยืนกรานว่าพื้นที่ซึ่งกำหนดเอาไว้เดิมก็น่าจะเพียงพอกับการป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีแล้ว
       
            อย่างไรก็ดี เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นกลับแถลงเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการขยายเขตอพยพ มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้พำนักอาศัยในพื้นที่ซึ่งเราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น กำหนดเอาไว้ว่าจะออกคำสั่งให้อพยพเมื่อมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะได้รับปริมาณรังสีตั้งแต่ระดับ 50 มิลลิซีเวิร์ตขึ้นไป แต่มาตรฐานดังกล่าวนี้กำหนดขึ้นโดยใช้สมมุติฐานที่ว่ารังสีระดับสูงที่ถูกปล่อยออกมานั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว สิ่งที่เรากำลังพิจารณาถกเถียงกันอยู่ก็คือ ควรจะออกคำสั่งอพยพอย่างไรถึงจะเป็นผลดีที่สุด โดยอิงกับข้อมูลและมาตรฐานของการที่เกิดการแผ่รังสีในแบบสะสมและยืดเยื้อ เอดาโนะ กล่าวชี้แจง

            ขณะที่วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาอยู่ในความควบคุมได้เมื่อใด บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของแดนอาทิตย์อุทัยต่างกำลังแสดงความหวั่นผวากันเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ในประเทศจีน สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีในระดับต่างๆ กันปะปนอยู่ในอากาศใน 22 มณฑลของจีน ทว่าปริมาณยังไม่ถือว่าเป็นการคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขจีนแจ้งว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในผักขมสปีแนช ซึ่งผลิตใน 3 มณฑลของแดนมังกร
       
            ส่วนที่เกาหลีใต้ ฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศทำให้โรงเรียนหลายสิบแห่งพากันปิดเรียน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองวิตกว่าฝนเหล่านี้จะปนเปื้อนรังสีซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกหลานของพวกตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของแดนโสมขาวผู้หนึ่งแจ้งว่า เราได้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนต่างๆ ว่า ควรพยายามหลีกเลี่ยงการให้นักเรียนทำกิจกรรมกลางแจ้ง นอกจากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามถนนหนทางใกล้ๆ โรงเรียนหลายแห่ง การจราจรเมื่อวานนี้หนาแน่นแออัดกว่าปกติ สืบเนื่องจากพวกพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ไว้วางใจให้ลูกหลานเดินไปโรงเรียน แต่ตัดสินใจที่จะขับรถไปส่งเอง
       
            ทางด้านสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้รายงานว่า ได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีไอโอดีนและซีเซียมปริมาณเพียงเล็กน้อยมากในน้ำฝนที่ตกลงมา ทว่ารายงานข่าวนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนชาวโสมขาวคลายความวิตกกังวลได้

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 8 เมษายน 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Hydrogen
Nitrogen
Uranium
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - ระเบิดแล้ว!!! เตานิวเคลียร์หมายเลข 2
บอกข่าวเล่าความ - ญี่ปุ่นอพยพหนีตายสารกัมมันตรังสี
บอกข่าวเล่าความ - คุมไฟไหม้เตาปฏิกรณ์ 4 ได้แต่ยังคงวิกฤติ
บอกข่าวเล่าความ - เร่งฉีดน้ำสกัดเตาปฏิกรณ์ 6 เพื่อลดความร้อน
บอกข่าวเล่าความ - เทปโก... ชี้รังสีนุกแผ่ลงมหาสมุทร
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

Kewl you sholud come up with that. Excellent!

โดย:  Christina  [4 มิ.ย. 2554 17:07]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น