สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

พ.ร.บ. วัตถุอันตรายฉบับใหม่ ยึดความปลอดภัยและประโยชน์เป็นหลัก

ผู้เขียน: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันที่: 8 ก.พ. 2551

            ร่างพ.ร.บ. วัตถุอันตรายฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ผ่าน สนช. แล้ว รอแค่ประกาศบังคับใช้ อย. เผยในส่วนของวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนมีการเพิ่มเติมข้อบัญญัติเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค และทำให้การกำกับดูแลของภาครัฐเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มเรื่องของการประกันความเสียหายด้วย

            ภก. วัฒนา อัครเอกฒาลิน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คือ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัย คุณภาพมาตรฐาน และความสมประโยชน์จากการใช้วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและทางสาธารณสุข เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลง เห็บ หมัด หนู ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นหรือไล่แมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องสุขภัณฑ์ และวัสดุอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ ผลิตภัณฑ์ซักผ้าขาว ผ้าแห้ง ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด กาว เป็นต้น โดยมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายที่ใช้เป็นหลักในการกำกับดูแลได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 จึงมีข้อบัญญัติบางข้อที่อาจไม่เหมาะสมและไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

            ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไข คือ การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 10 คน และอย่างน้อย 5 คนให้แต่งตั้งจากตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์ที่มีประสบการณ์ เพื่อขยายการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนเพิ่มขึ้น และเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการกำหนดนโยบายมาตรการและแผนการกำกับดูแลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มอำนาจนี้ทำให้การกำกับดูแลมีการบูรณาการและประสานการทำงานไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น รวมทั้งยังมีการเพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการกำหนดปริมาณวัตถุอันตราย เพื่อควบคุมหรือป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น กำหนดระดับความเข้มข้นวัตถุอันตรายที่ควบคุม หรือปริมาณวัตถุอันตรายที่อนุญาตให้ดำเนินการผลิต นำเข้า หรือครอบครอง ตามความจำเป็นในการควบคุม เช่น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดว่ากรดซัลฟิวริค > 50 % ต้องให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ดำเนินการต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

            ที่สำคัญ ยังกำหนดให้มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย เช่น การจัดให้มีฉลากหรือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับบริการ หรือผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลและจัดการวัตถุอันตรายได้อย่างปลอดภัย และให้มีการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ชีวิต หรือทรัพย์สิน เช่น การขนส่งวัตถุอันตรายต้องทำประกันภัย กรณีเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย จะได้มีการชดเชยความเสียหายแก่บุคคล หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น กิจการเกี่ยวกับการกำจัดปลวก เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพิ่มเติมการกำหนดอายุใบรับแจ้งดำเนินการวัตถุอันตรายและใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ทำให้มีการทบทวนข้อมูล หรือการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายให้เป็นปัจจุบัน และสามารถเฝ้าระวังความปลอดภัยได้อย่างทันสถานการณ์

            ภก. วัฒนา อัครเอกฒาลิน กล่าวต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกเป็นกฎหมายและประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเนื้อหาข้อกฎหมายที่มีการปรับปรุงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้บริโภค และทำให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลวัตถุอันตรายได้อย่างเป็นระบบ ครอบคลุม และทันเหตุการณ์


ที่มาของข้อมูล
: กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น