สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ระดมจุลินทรีย์บำบัดพื้นที่เพาะปลูก

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
วันที่: 18 พ.ย. 2554

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประเมินความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ณ เดือนตุลาคม 2554 พบว่ามีพื้นที่เกษตรเสียหายแล้วประมาณ 8,800,000 - 8,900,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเสียหาย 7,400,000 ไร่ พืชไร่ 1,000,000 ไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นพืชสวนและปศุสัตว์ อีกราว 400,000 ไร่ โดยผลผลิตข้าวเสียหายมากที่สุดถึง 3,000,000 ตัน ที่สำคัญผลจากความเสียหายของพื้นที่การเกษตรต่อผลผลิตทางการเกษตรแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือน้ำเน่าเสียในพื้นที่การเกษตรที่เป็นผลมาจากซากพืชและซากสัตว์ที่ล้มตายจากการจมน้ำและเกิดการเน่าเสีย ขณะเดียวกันพื้นที่เหล่านี้แม้น้ำโดยมวลรวมจะไหลลงสู่ทะเลไปแล้วก็ตาม แต่ก็จะยังมีน้ำอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพของความเน่าเสียที่ยังคงอยู่ที่เรียกกันว่าน้ำเน่าทุ่ง
       
            การที่น้ำเน่าเสีย หรือด้อยคุณภาพลง เนื่องมาจากเกิดการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เช่น สิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย ในเขตชุมชน เมือง หรือเศษซากพืช บริเวณพื้นที่เกษตร เช่น นาข้าว สวน ที่จมอยู่ใต้น้ำ โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในธรรมชาติ ซึ่งขณะที่เกิดการย่อยสลายนั้นจะเกิดการใช้ออกซิเจนในน้ำ ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ซึ่งเรียกว่าน้ำเริ่มเสีย หลังจากนั้นสารอินทรีย์ก็จะถูกย่อยสลายต่อโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้อากาศต่อไป ผลของการย่อยสลายครั้งนี้ จะเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าก๊าซไข่เน่า แอมโมเนีย หรืออาจเกิดกรดอินทรีย์ ซึ่งจะมีกลิ่นแบบเหม็นเปรี้ยว ที่ผ่านมาจุลินทรีย์ จะถูกนำมาใช้หลากหลายทั้งทางด้านการเกษตร การประมงและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อกรณีนั้นๆ คือมีอาหารที่เหมาะสมสำหรับจุลินทรีย์กลุ่มนั้น จะสามารถเจริญเติบโตได้ และสร้างสมดุลของกลุ่มจุลินทรีย์ใหม่ขึ้นทำให้การย่อยสลายสารอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
   
            อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่น้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรจึงน่าเหมาะสมอย่างยิ่งแก่การนำจุลินทรีย์เข้ามาบำบัด และล่าสุดได้มีหน่วยงานที่พอจะมีศักยภาพในการให้การช่วยเหลือสังคมได้ยื่นมือเข้ามาร่วมแก้ไข ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ นายธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ด้านกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อมว่า ทาง กฟผ.ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน จัดทำโครงการธนาคารจุลินทรีย์ขึ้นจำนวน 100 สถานี ใน 5 จังหวัดที่เกิดอุทกภัยและมีน้ำท่วมขัง โดย กฟผ.จะทำการผลิตน้ำจุลินทรีย์เดือนละ 1 ล้านลิตร ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ซึ่งจะได้จำนวน 3 ล้านลิตร และจะส่งมอบให้แก่จังหวัดต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมและมีการท่วมขัง โดยจะส่งมอบให้จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 เนื่องจาก 3 จังหวัดนี้สภาพน้ำเริ่มลดลงและมีพื้นที่น้ำท่วมขังที่กำลังเกิดการเน่าเสียและเป็นพื้นที่ที่เพาะปลูกพืชอาหารเป็นส่วนใหญ่ 
   
            สำหรับโครงการนี้ทาง กฟผ. ได้เริ่มต้นดำเนินการไปบ้างแล้วในบางส่วนของพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เช่น บางกรวย บางพลัด ซึ่งมีน้ำท่วมขัง และเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เป็นการบำบัดชั่วคราวก่อนเพื่อลดกลิ่นเหม็นให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และหลังจากน้ำลดแล้ว ก็จะนำจุลินทรีย์ตัวเดียวกันนี้เข้าไปบำบัดเพิ่มเติมเพื่อลดกลิ่นควบคู่กับการทำความสะอาดพื้นที่ต่อไป ที่สำคัญการใช้น้ำจุลินทรีย์กับพื้นที่การเกษตรภายหลังน้ำลด พื้นที่เหล่านั้นน่าจะมีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นด้วยมีอินทรีย์สารธรรมชาติตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อหน้าดินในการเจริญเติบโตของพืชได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากนี้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นผลผลิตอาจจะออกมาดีกว่าการใช้สารเคมีมาเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโตของต้นพืชก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายพื้นที่เกษตรกรได้นำเอาจุลินทรีย์ตัวเดียวกันนี้ไปใช้ผลปรากฏว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าพึงพอใจทีเดียว ที่สำคัญได้เกิดสัตว์ผิวดินที่เป็นมิตรต่อต้นพืชเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ภายหลังน้ำลดทาง กฟผ.ยังมีโครงการร่วมกับกระทรวงพลังงานแบบต่อเนื่อง โดยการนำนักศึกษาอาชีวะจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และพนักงานจิตอาสาของ กฟผ. ลงพื้นที่เพื่อช่วยดูแล ซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และเครื่องจักรกลทางการเกษตรของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายอีกด้วย

ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Ammonia
Hydrogen sulfide
Oxygen
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น