สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กรีนพีซเตือนนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออก

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 8 ก.พ. 2551

            จากกรณีที่กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เรียกร้องให้ยุบสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (สพน.) นั้น นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกก็มีการปรับปรุงเตาปฏิกรณ์ไปเยอะมาก แต่เมื่อทางกรีนพีชเข้าไปศึกษาโดยการเก็บข้อมูลเตาปฏิกรณ์ในฝรั่งเศศ ยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แล้วพบว่า
       
            "เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ แล้วเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไม่ได้ต้นทุนการสร้างพลังงานหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังงาน อีกทั้งยังพบอุบัติเหตุเล็กน้อยๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดระหว่างการทำงานทั้งในยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้ป้องกันได้บางระดับ แต่ก็ทำให้เกิดเป็นอุบัติภัยที่ใหญ่ได้" นายธารากล่าว
       
            นายธารายังกล่าวอีกว่าทางกรีนพีซได้ศึกษาโดยว่าจ้างนักวิจัยที่มีความรู้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำจืดเมื่อใช้น้ำในการระบายความร้อนนั้น หากน้ำแห้งก็ต้องปิดโรงไฟฟ้าไม่สามารถดำเนินงานได้ หรือบางแห่งที่อยู่ใกล้ทะเลก็พบว่ามีการสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสู่ทะเล โดยจากการศึกษาของกรีนพีซพบการรั่วไหลของซีเซียมจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเมื่อเก็บสาหร่ายมาตรวจก็พบการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี
       
            "ตรงนี้เป็นข้อมูลอีกด้านที่เราอยากบอกว่าแท้จริงแล้วโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สะอาดและปลอดภัยอย่างที่อ้างกัน" นายธารากล่าว พร้อมยกตัวอย่างการศึกษาอีกชิ้นที่คาดการณ์ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากมีรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฝรั่งเศสซึ่งผลการศึกษาระบุให้เห็นว่ามีคนนับล้านที่จะเดือดร้อน ดังนั้นการที่รัฐบาลตั้งสำนักงานเพื่อมาศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด และชี้ว่าเราจำเป็นต้องมีทางเลือกอื่น
       
            "คิดเล่นๆ ถ้าเขาสามารถอนุมัติ 1.38 ล้านบาทเพื่อศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ก็น่าจะสนับสนุนให้มีการศึกษาพลังงานทางเลือกในจำนวนเงินที่เท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงขนาดนั้น ซึ่งเงินจำนวนนี้นำไปศึกษาพลังงานทดแทน ลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนเบื้องต้น จะทำอะไรได้เยอะมาก และ 15 ปีจากนี้เราไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกทั้งพลังงานหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบก็เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีที่ผ่านมาก็มีพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ 3,000 เมกะวัตต์เทียบเท่ากับนิวเคลียร์ที่เขาจะสร้าง ตรงนี้เป็นข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเอง นับว่ามีศักยภาพเยอะแต่พอถึงจุดหนึ่งเขากลับปิดประตูไม่รับซื้อพลังงานหมุนเวียน" นายธารากล่าว

            "ส่วนข้อดีต่างๆ ของนิวเคลียร์ที่ผู้ผลักดันทั้งหลายยกขึ้นมาพูดนั้นเป็นเพียงแค่โวหารมากกว่าความเป็นจริง หลายแห่งทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์คือหายนะทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่ควรใช้งบประมาณ 1.38 พันล้านบาท เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว งบประมาณดังกล่าวควรนำไปใช้เพื่อรับมือกับความเร่งด่วนของภาวะโลกร้อนและความมั่นคงทางพลังงานที่ถูกทิศทาง” นายธารา กล่าวเสริม

            จากข้อมูลในรายงานสถานภาพของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลกปี 2550 (The World Nuclear Industry Status Report 2007) โดยไมเคิล ซไนเดอร์, แอนโทนี ฟรอกแกท (Greens EFA group in European Parliament) จำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 439 แห่งทั่วโลกที่ยังคงใช้การอยู่ ซึ่งลดลงจากเดิม 5 แห่งเมื่อเทียบกับ 5 ปี ที่ผ่านมา อีก 32 แห่ง
       
            สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่ายังอยู่ใน “ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง” ซึ่งจำนวนนี้ได้ลดลงไปจากที่มีอยู่ในช่วงปี 2533 ถึง 20 แห่ง สหภาพยุโรปมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 146 แห่ง ซึ่งลดลงจากในปี 2532 ถึง 20 แห่ง
       
            รายงานสถานภาพของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โลกปี 2550 ระบุอีกว่า นอกเหนือจากผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว การขาดกำลังแรงงานที่ได้รับการฝึกฝน การสูญเสียขีดความสามารถอย่างมหาศาล อุปสรรคปัญหาที่มีอย่างรุนแรงในเชิงของการผลิต การขาดความมั่นใจของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ และผู้แข่งขันจากระบบก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ยังได้ทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่อาจโงหัวขึ้นได้
       
            "พลังงานนิวเคลียร์คือฝันร้ายที่น่ากลัว มันไม่เพียงแต่ทำลายความสงบสุขและความมั่นคงของภูมิภาค ผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กับที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องหวาดระแวงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับเหตุการณ์เชอร์โนบิลในประเทศรัสเซีย” นายนารุดดิน อะมิน (Naruddin Amin) ประธาน Nahdhatul Ulamma แห่งเกาะชวา เมืองเจปารา ประเทศอินโดนีเซียกล่าว
       
            "ผู้คนในเมืองเจปาราได้ต่อสู้กับการเข้ามาของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในบริเวณภูเขาไฟมูเรีย (Mount Muria) ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและคำแนะนำจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ในวันที่ 1 กันยายน 2550 คณะ Nahdhatul Ulama แห่งเมืองเจปารา ได้ตัดสินใจให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองเจปาราเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากผลกระทบอันเลวร้ายของโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายของการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีและกากนิวเคลียร์นั้นมีมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ และถือเป็นการคุกคามการอยู่รอดของประชากรในพื้นที่” นายนารุดดินกล่าวสรุป


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ  ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551

 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

http://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_energy        ( Nuclear Energy )        
http://en.wikipedia.org/wiki/Nuclear_power        ( Nuclear Power )        
http://www.howstuffworks.com/nuclear-power.htm        ( How Nuclear Power Works ? )        
http://library.thinkquest.org/17940/texts/fission_power/fission_power.html        
( Nuclear Fission Power Plant  ;  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ )

โดย:  นักเคมี  [23 ส.ค. 2551 20:49]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น