สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

มลพิษบางปู... ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้

ผู้เขียน: พลาย ภิรมย์
หน่วยงาน: กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย
วันที่: 5 มี.ค. 2555

            มากกว่าสามสิบปีมาแล้วที่บริเวณริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบางปูจังหวัดสมุทรปราการซึ่งเคยติดอันดับสถานที่พักตากอากาศโด่งดังที่มีธรรมชาติป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ของคนไทยต้องกลับกลายเป็นบริเวณที่ถูกจัดว่ามีมลพิษทางน้ำและอากาศระดับรุนแรงแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเกิดจากการปล่อยปละละเลยให้อุตสาหกรรมกระทำชำเราสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างอำเภอใจ บริเวณนี้ได้กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้งเมื่อมีการโพสต์รูปมุมสูงที่เผยถึงน้ำทิ้งโรงงานที่มีสีดำสกปรก ปริมาณมหาศาลจากบริเวณประกอบอุตสาหกรรมฟอกหนังลงสู่ทะเลอ่าวไทย จนทำให้เกิดกระแสการตั้งคำถามของสังคมมากมายถึงกระบวนการดูแลควบคุมของภาค รัฐที่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น และข้อเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

            ทั้งนี้หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มทำงานเพื่อหยุดยั้งปัญหามลพิษในพื้นที่บางปูตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปีพ.ศ. 2548-2550 กรีนพีซได้ชี้ให้เห็นถึงการใช้และปลดปล่อยสารเคมีอันตรายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู และนำสู่การแก้ไขปรับปรุง แม้ปัจจุบันจะยังไม่ดีตามที่ควรจะเป็นก็ตาม แต่ทางนิคมบางปูก็ดีกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางน้ำยังคงอยู่ในระดับรุนแรงเช่นเดิม ซึ่งมาจากปัจจัยปัญหาโรงงานที่มีอยู่จำนวนมาก กระจัดกระจาย และส่วนใหญ่ขาดการให้ความสำคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นก็ไร้ความสามารถที่จะควบคุมดูแลได้ จึงเสมือนเป็นที่เข้าใจว่าได้ปล่อยให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ปล่อยมลพิษได้อย่างเสรี

            หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำได้ลงพื้นที่อีกครั้งเมื่อปีพ.ศ. 2552 ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบบริเวณชุมชนฟอกหนังดังกล่าว ซึ่งในตอนนั้นทุกโรงงานปล่อยน้ำเสียลงสู่อ่าวไทยโดยตรง ยังไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย (ขณะนั้นกำลังก่อสร้าง) การตรวจน้ำทิ้งจุดก่อนใหลลงสู่อ่าวไทยพบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักปริมาณสูงมาก โดยเฉพาะโครเมี่ยม แคดเมี่ยม สังกะสี และนิกเกิล และน้ำทิ้งมีลักษณะขุ่นและเหม็นเน่า ขณะนั้นชาวประมงพื้นบ้านเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบรูณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณแหล่งน้ำทั้งในคลองและบริเวณปากอ่าว สามารถออกหาปลาและกุ้งได้ในคลองใกล้ๆ บ้านไม่ต้องออกไปไกลเหมือนทุกวันนี้ น้ำทะเลบริเวณริมชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณโรงงานฟอกหนังมีความสกปรกมาก แทบไม่สามารถหาปลาหากุ้งได้เลย ซ้ำร้ายพื้นทะเลเต็มไปด้วยเศษหนังที่ปนออกมาจากน้ำทิ้ง ซึ่งติดแหขึ้นมาเป็นประจำ

            ชุมชนฟอกหนังเลียบทะเลอ่าวไทยบริเวณบางปูสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เคยพึ่งพาตัวเองได้ มีอาหารอยู่ในทุกที่รอบตัว มาบัดนี้ความเจริญที่มีชื่อว่าอุตสาหกรรมได้เกาะกินและปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำที่เคยเป็นเหมือนตู้กับข้าว ไม่เหลือเค้าเดิม บ่อยครั้งชุมชนบริเวณนี้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐ ซึ่งผลที่บอกกับชาวบ้านคือ คุณภาพน้ำอยู่ในมาตราฐาน ไม่มีสารพิษเจือปน มีเพียงสีเท่านั้นที่ปนออกมา การตรวจเก็บตัวอย่างน้ำโดยหน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำที่ผ่านมาพบว่า หลายจุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และคลองที่รองรับน้ำทิ้ง เช่นคลองหัวลำพูมีโลหะหนักที่มีความเป็นพิษเจือปนอยู่หลายชนิด ซึ่งได้ส่งผลไปยังหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ มีเสียงตอบรับแบบแผ่วเบากลับมาว่าเราจะปรับปรุงและแจ้งให้โรงงานทำบ่อบำบัดน้ำให้ดีขึ้น สุดท้ายก็เงียบหายไป หากมองในเบื้องต้นโดยไม่ต้องมีการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ สีของน้ำและกลิ่นสารเคมีที่รุนแรงขนาดนี้ ก็เป็นตัวชี้วัดว่าผิดตามมาตราฐานคุณภาพน้ำอุตสาหกรรมข้อหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า  น้ำทิ้งที่ปล่อยออกมาต้องไม่เป็นที่พึ่งรังเกียจ

            อะไรคือมาตราฐานที่แท้จริง??? เมื่อหน่วยงานที่ออกมาตราฐานเหล่านี้ไม่ได้นำเอาต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนในการดำรงชีวิต และความเสี่ยงต่อสุขภาพมาเป็นมาตราฐาน  เป็นเรื่องน่าเศร้ากับภาพที่เราเห็นกันในปัจจุบันที่เกือบทุกโรงงานปล่อยน้ำสีดำขุ่นข้น กลิ่นเหม็นรุนแรงอย่างชอบธรรม และกล่าวอ้างว่าถูกต้องตามมาตราฐาน กระแสข่าวจากสังคมออนไลน์เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเตือนและกดดันให้ภาครัฐและผู้ประกอบการไร้จิตสำนึก ออกมาแสดงความรับผิดชอบและปรับปรุงให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นบ่อที่ไม่เคยบำบัดถูกซุกซ่อนและปล่อยน้ำปนเปื้อนมลพิษออกมาอย่างชัดเจนครอบคลุมบริเวณกว้าง กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ได้นำน้ำไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพของน้ำเสียเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า เหตุใดจึงไม่มีการประกาศหยุดการปล่อยน้ำเสียต้องสงสัยนี้

            หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเรียกร้องต่อภาครัฐดังนี้ 1. หยุดการประกอบการของโรงงานบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน 2. ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย และยุติการอนุญาติปล่อยน้ำทิ้งของโรงงานอย่างอำเภอใจ 3. วางเผยการลด และเลิกใช้สารเคมีอันตรายในภาคอุตสาหกรรม 

ที่มาของข้อมูล : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Chromium
Nickel
Zinc
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น