สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

จุดกันยุงในหน้าฝนวางที่อับ เสี่ยงรับสารพิษมาก!!!

ผู้เขียน: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 5 ส.ค. 2557

           ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า โรคที่น่าห่วงช่วงฤดูฝนคือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ โดยหนึ่งในวิธีป้องกันคือ การใช้ยาจุดกันยุง ทั้งนี้ ยาจุดกันยุงส่วนใหญ่นิยมใช้สารไล่หรือป้องกันยุง กลุ่มไพรีทรอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารไพรีทรินส์ที่สกัดได้จากพืชตระกูลเบญจมาศ เช่น ดี-อัลเลทริน เอสไบโอทริน เมโทฟลูทริน เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าวจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตกลงมาหงายท้อง ดังนั้น ควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงที่มีส่วนผสมของไพรีทรอยด์ จึงช่วยลดอัตราการกัดของยุงและป้องกันการรบกวนจากยุงได้
      
           ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยาจุดกันยุงมีการพยายามปรับแต่งกลิ่นให้หอมเลียนแบบธรรมชาติเพื่อกลบกลิ่นเผาไหม้และกลิ่นสารเคมี โดยทั่วไปสารไพรีทรอยด์มีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่น การใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้ปกติมักไม่พบการเกิดพิษ อย่างไรก็ตาม หากสูดดมควันที่ปล่อยออกมาจากยาจุดกันยุงในปริมาณมาก เช่น อยู่ในบริเวณที่คับแคบ ไม่มีอากาศถ่ายเทติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ได้รับ หากได้รับในปริมาณสูงจะมีอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติ ส่วนอาการพิษอื่นๆ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนัง คัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้
      
           “ผู้บริโภคควรจุดยากันยุงในห้องที่มีอากาศถ่ายเทและเก็บให้มิดชิด ไม่ควรวางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหารและวางให้พ้นมือเด็ก หลังจากสัมผัสยาจุดกันยุงทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด นอกจากนี้ เพื่อป้องกันอัคคีภัย ควรใช้ขาตั้งหรือถาดรองยาจุดกันยุงที่ทำด้วยโลหะหรือวัสดุที่ไม่ติดไฟ ขณะใช้ควรวางให้ห่างวัตถุไวไฟหรือของที่เป็นเชื้อไฟได้ ” รองเลขาธิการ อย. กล่าวปิดท้าย
         

ที่มาของข้อมูล : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2557

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น