สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

กนอ. จ่อจับมือทหารตั้งนิคมกำจัดกาก

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
วันที่: 12 ม.ค. 2558


           กนอ.จ่อเอ็มโอยูกระทรวงกลาโหม ร่วมจัดหาพื้นที่ตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร 3 แห่ง ในภาคตะวันออก ตะวันตกและภาคกลาง ภายในม.ค.นี้ ยันต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ 5 พันไร่ถึง 1 หมื่นไร่ เพื่อเป็นพื้นที่กันชนลดปัญหาชุมชนต่อต้าน คาดลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีกว่า 40 โรงงาน ตั้งแต่รีไซเคิลยันถึงเตาเผาและฝั่งกลบ หากไม่สะดุดจะเปิดได้ภายในปี 2560

           นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมว่า ในช่วงเดือนมกราคมนี้ ทางกนอ.เตรียมที่จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับทางกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่รับผิดชอบความมั่นคงของประเทศ เพื่อจะร่วมกันจัดหาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทหาร ที่ราชพัสดุ พื้นที่ว่างเปล่าของกรมธนารักษ์ นำมาจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยเบื้องต้นได้วางกรอบที่จะจัดตั้งนิคมฯดังกล่าวขึ้นมา 3 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งแต่ละแห่งจะใช้พื้นที่ขนาด 5 พันไร่ ถึง 1 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่เพื่อจะใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดจัดทำเป็นเขตกันชนกับชุมชน ( Buffer Zone ) โดยการปลูกต้นไม้ลดปัญหาการขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาการต่อต้าน

           "ปัญหาใหญ่ของการจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากขณะนี้คือ ยังไม่มีพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะจัดตั้งนิคมฯได้ ดังนั้น หลังจากเซ็นเอ็มโอยูกับทางกระทรวงกลาโหมแล้ว ก็จะมีการตั้งทีมงานเพื่อไปเสาะแสวงหาพื้นที่ใดที่มีศักยภาพบ้าง แม้ว่าจะได้พื้นที่ว่างเปล่ามา แต่ก็ต้องคำนึงถึงพื้นที่นั้นๆ ว่าเหมาะที่จะตั้งเป็นนิคมฯได้หรือไม่ เพราะหากอยู่ห่างไกลมากๆ การขนส่งกากไปกำจัดก็จะแพง ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่เกิดขึ้น เพราะจะมีผู้ประกอบการสนใจค่อนข้างน้อย ดังนั้น ระยะทางก็เป็นสิ่งสำคัญในการจัดหากพื้นที่ด้วย ขณะเดียวกันในส่วนรับผิดชอบของกนอ.เมื่อได้พื้นที่การจัดตั้งนิคมฯที่เหมาะสมแล้ว ก็จะต้องไปดำเนินการออกแบบ จัดสรรพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค ว่าภายในนิคมฯจะต้องมีโรงงานประเภทใดอยู่บ้าง เพื่อให้การกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจรมากที่สุดภายในพื้นที่แห่งเดียว ซึ่งคราวๆ ที่มองว่า นิคมฯกำจัดกากแต่ละแห่งจะเน้นไปที่การนำกากอุตสาหกรรมมารีไซเคิล เมื่อเหลือกากที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้วจะนำไปเผาหรือฝั่งกลบ ดังนั้น ภายในนิคมฯจะประกอบไปด้วยโรงงานหลายประเภท คาดว่าไม่ต่ำกว่า 40 โรงงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานรีไซเคิลพลาสติก โลหะ โรงงานเตาเผาขยะ โรงงานปรับเสถียรกาก หลุมฝั่งกลบ หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้าและไอน้ำที่จะป้อนให้กับโรงงานต่างๆ ภายในนิคมฯ

           นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนงบลงทุนนั้นหากเป็นพื้นที่ขนาด 1 หมื่นไร่ และมีโรงงานจำนวนดังกล่าว คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้กนอ.อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่คาดว่าจะมาลงทุนในนิคมฯกำจัดกากนี้ว่า ต้องการอะไร และมีผู้ประกอบการรายไหนสนใจที่จะเข้ามาร่วมบ้าง สามารถร่วมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมาได้หรือไม่ หรือความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดกาก

           ทั้งนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่านิคมฯกำจัดกากแห่งแรกน่าจะเกิดขึ้นได้ในฝั่งภาคตะวันตกก่อน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะจัดตั้งในจังหวัดกาญจนบุรีหรือไม่ เพราะยังมีตัวแปรที่จะต้องนำมาศึกษาให้รอบด้าน แต่หากเป็นไปตามแผนคาดว่านิคมฯกำจัดกากแห่งแรกจะเกิดขึ้นภายในปี 2560 อย่างแน่นอน เพราะถือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ในการเร่งผลักดันในการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมที่ยังไม่สามารถเข้าระบบหรือนำมากำจัดได้ทั้งหมด ส่วนกรณีที่มีการเป็นห่วงว่านิคมฯกำจัดกาก จะไปแย่งการกำจัดกากอุตสาหกรรมของภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันนี้ จำนวน 3 ราย นั้น มองว่าปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมที่ออกมาจากโรงงานในแต่ละปีประมาณ 3 ล้านตัน ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าภายในปีนี้จะต้องนำกากที่เกิดขึ้นมาเข้าสู่ระบบการกำจัดให้ได้ 1.5 ล้านตัน จากปี 2557 ที่ผ่านมาสามารถเข้าระบบได้ประมาณ 1 ล้านตัน ดังนั้น ประมาณกากอุตสาหกรรมที่เหลือยังสามารถส่งไปกำจัดยังภาคเอกชนได้ โดยไม่ได้มีการแย่งกากไปกำจัดแต่อย่างใด อีกทั้งกรมโรงงานฯก็ไม่ได้สามารถไปบังคับให้ผู้ประกอบการต้องส่งกากไปกำจัดยังนิคมฯได้ เพียงแต่ควบคุมการนำกากออกจากต้นทางไปสู่ปลายทางที่กำจัดอย่างเข้มงวดเท่านั้น

           ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร อาจจะมีหลายแห่ง แต่จะมีการเริ่มดำเนินการที่บริเวณภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องและจะมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น