สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ไฟไหม้รง.ยางเจ๊ง1.5พันล้านหยุดผลิต 30 วัน

ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่: 4 ก.พ. 2558
เหตุเพลิงไหม้เผาวอดโกดังคลังเก็บสินค้า6หลัง โรงงานผลิตยางรถยนต์ในนิคมฯ เหมราช มูลค่า 1.5 พันล้าน

กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้คลังสินค้าโรงงานผลิตยางรถยนต์ ของบริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บริษัทหลิงหลง ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (เหมราช) หมู่ 5 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เขตติดต่อพื้นที่หมู่ 1 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เมื่อคืนวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพลิงได้ลุกไหม้อย่างรุนแรง แต่การควบคุมเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนลามไปทั่วอาคารโรงงาน เจ้าหน้าที่ต้องระดมรถดับเพลิง และรถโฟมจาก จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง กว่า 20 คัน ระดมฉีดสกัดเพลิงที่ลุกโหมอย่างหนักใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงจึงสามารถควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดได้ โดยเพลิงลุกไหม้ในส่วนของโกดังทั้ง 6 หลังเท่านั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ฉีดน้ำเลี้ยงไว้ไม่ให้เพลิงลุกไหม้ลามยังตัวอาคารอื่นๆ ของโรงงานที่อยู่ติดกับโกดัง โดยเฉพาะอาคารปฏิบัติการ อาคารซ่อมบำรุง และอาคารอำนวยการ

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบต้นเพลิงได้ลุกไหม้บริเวณโกดังเก็บยางรถยนต์ โดยมีเสียงระเบิดดังขึ้น 8 ครั้ง ก่อนที่เปลวเพลิงจะปรากฏขึ้นภายในโกดังเก็บยาง และลุกลามไปยังโกดังที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างรวม 6 หลังอย่างรวดเร็ว ในจำนวนนี้เป็นโกดังที่เก็บยางรถยนต์สำเร็จรูปเตรียมส่งลูกค้า 4 หลัง และโกดังอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 หลัง ขณะเกิดเหตุคาดว่ามีคนงานกำลังทำงานอยู่ประมาณ 200-300 คน และทุกคนต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดอย่างโกลาหล

อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างไร และยังไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้ ระบุได้แต่เพียงว่าโกดังที่เก็บยางรถยนต์ มีเพียงระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในโกดังเท่านั้น ไม่มีเครื่องจักรที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้

ขณะที่นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ฝ่ายปกครองอำเภอศรีราชา ทหารจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ตำรวจภูธรบ่อวิน และฝ่ายบริหารบริษัท แอลแอลไอทีฯ ได้ร่วมกันแถลงถึงเหตุเพลิงไหม้ นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้เพลิงสงบลงแล้ว คงเหลือเพียงกลุ่มควันใต้อาคารเพลิงไหม้

สำหรับการควบคุมเพลิงเพื่อให้ดับสนิท จะใช้วิธีการนำทรายมาปิดล้อมที่เกิดเหตุและฉีดน้ำขังไว้ เพื่อดับไฟให้สนิทภายใน 3 วัน พร้อมนำรถตรวจสภาพอากาศ มาทำหน้าที่เฝ้าระวังมลภาวะสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน เพื่อรับมือหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ขณะเดียวกันได้สั่งระงับการประกอบกิจการกับสถานประกอบการแห่งนี้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงงาน มาตรา 39 โดยจะต้องหยุดประกอบการเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 30 วัน

จากนี้ไปจะมีการตรวจสภาพความปลอดภัยของอาคาร ขบวนการผลิต หากมั่นใจว่าปลอดภัย จึงจะอนุญาตให้มีการเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น พบส่วนใหญ่เกิดกับส่วนอาคาร และสินค้ายางรถยนต์ที่เตรียมส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยรวม 1,500 ล้านบาท คาดว่าการฟื้นฟูโรงงานน่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 45 วัน เพราะเป็นความเสียหายกับตัวอาคารและสินค้า ส่วนสายการผลิตทั้งหมดไม่ได้รับความเสียหาย สำหรับพนักงานประจำโซนนี้รวม 300 คน จะให้ไปทำงานโรงงานในเครือจนกว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริง

"ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สถานีเหมราชพบว่า ค่าเฝ้าระวังหลัก ฝุ่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์สูงขึ้น แต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาการสำลักควัน ส่วนการป้องกันมลภาวะ ทาง กนอ.ได้ปิดกั้นรางระบายน้ำบริเวณโดยรอบสถานประกอบการ เพื่อไม่ให้น้ำจากการดับเพลิงไหลออกสู่ภายนอกได้ และจะนำไปบำบัดตามกระบวนการมาตรฐานอย่างถูกวิธีต่อไป นอกจากนี้ กนอ.ได้จัดส่งรถโมบาย ยูนิตตรวจวัดคุณภาพอากาศจากนิคมฯ มาบตาพุด ไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังคุณภาพอากาศและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานดังกล่าว" ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

ด้านนายพรชัย ถมกระจ่าง นายอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวภายหลังเข้าอำนวยการดับเพลิง พร้อมฟังบรรยายสรุปสถานการณ์จากตัวแทนโรงงานว่า เบื้องต้นสาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร โดยมีคนงานภายในโรงงานเห็นประกายไฟปะทุขึ้นที่สายไฟเมนหลักของโรงงาน ก่อนที่เปลวไฟจะหล่นใส่แท่นตั้งยางรถยนต์จนเกิดเพลิงลุกไหม้ และไฟได้ลามถึงกองยางรถยนต์ในโรงงาน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

จากการนับยอดจำนวนคนงานล่าสุด พบว่ายังอยู่กันครบ ไม่พบผู้เสียชีวิตตามที่ปรากฏในช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ มีเพียงผู้บาดเจ็บจากการสำลักควันเท่านั้น สำหรับสถานการณ์ ขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ในวงจำกัด หลังจากเผาผลาญอาคารภายในโรงงานเสียหาย 6 หลัง มียางกว่า 7 แสนเส้น ถูกไฟลุกไหม้เสียหาย

ขณะที่ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ (สถานีเหมราชฯ) ของเจ้าหน้าที่การนิคมฯ พบว่าค่าเฝ้าระวังหลัก ฝุ่น/ SO2, NO2 สูงขึ้นแต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ กนอ.ได้จัดส่งรถ Mobile Unit สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากนิคมฯ มาบตาพุด ไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังคุณภาพอากาศและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานดังกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลตรวจวัดคุณภาพอากาศเบื้องต้น พบว่าบริเวณจุดเกิดเหตุกึ่งกลาง 2 อาคาร ตรวจไม่พบค่าของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือVolatile Organic Compounds :VOCs แต่พบค่าของละอองซัลเฟอร์ไดออกไซด์ :SO2 ในช่วง 0.0 -1.0 ppm. ส่วนที่บริเวณริมรั้วท้ายลมของบริเวณไฟไหม้ ตรวจไม่พบค่า VOCs แต่พบค่า SO2 ในช่วง 0.0-0.7 ppm. (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ชั่วโมงไม่เกิน 0.3 ppm.) แสดงว่าคุณภาพอากาศบริเวณกึ่งกลาง 2 อาคาร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สูงกว่าบริเวณริมรั้วท้ายลม ซึ่งอากาศทั้งสองแหล่งจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง และระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น หลอดลม ทั้งนี้จะตรวจวัดพื้นที่ชุมชนต่อไป ส่วนการเก็บตัวอย่างน้ำจากการดับเพลิง จะถูกเก็บไว้ในบ่อพักจำนวน 2 บ่อ ไม่มีการระบายออกนอกนิคม

@กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

@ Thai PBS News

@NewsthaiCh8
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น