สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ก.อุตฯ จัดระเบียบวัตถุอันตรายรองรับประตูสู่ประชาคมอาเซียน

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
วันที่: 23 มี.ค. 2558
          ประเทศไทยมีกฎหมายที่ใช้ควบคุมสารเคมีหลายฉบับแต่ฉบับที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นกฎหมายหลักในการควบคุมสารเคมีของประเทศ คือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดระเบียบวัตถุอันตราย หวังจะควบคุมการลักลอบนำเข้า ขณะที่เตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
          อุตฯ ออกกฎเหล็กคุมนำเข้า นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ไทยไม่สามารถควบคุมการจัดการสารเคมีได้เต็มระบบ การนำเข้าสารเคมีบางประเภทยังคงหลุดรอดเข้ามา เนื่องจากไม่สามารถตรวจพบจากด่านศุลกากร เพราะสารเคมีที่เป็นอันตรายบางประเภทมาในรูปแบบของสารผสม มักตรวจพบภายหลังและมีโทษตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะไม่รู้ว่าสารเคมีประเภทไหนเป็นอันตรายห้ามนำเข้ามาในไทยหรือต้องควบคุมเป็นพิเศษ เพราะสารเคมีบางประเภทศุลกากรจากฝั่งขาออกระบุว่าเป็นสารไม่อันตราย แต่พอมาไทยกลับเป็นอันตรายและถูกควบคุมโดยสารเคมีส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาเป็นสารตัวทำละลาย และเมทิลแอลกอฮอล์ ปัจจุบันสารเคมีขึ้นบัญชีที่ถูกกำหนดว่าเป็นอันตรายในประเทศไทยมีจำนวน 1,535 รายชื่อ
          "เดิมการบริหารจัดการของไทยยังไม่สามารถควบคุมสารเคมีนำเข้าจากต่างประเทศได้ ปัญหาที่ผ่านมาคือแต่ละหน่วยงานต่างเก็บข้อมูลของตนเอง ไม่มีการเผยแพร่ให้รู้ว่าสารเคมีประเภทไหนขึ้นบัญชีการห้ามนำเข้า และเป็นสารเคมีอันตราย"
          ดังนั้น หน่วยงานที่ควบคุมเรื่องวัตถุอันตราย คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับอีก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมประมง, กรมวิชาการเกษตร, คณะกรรมการอาหารและยา, กรมปศุศัตว์ และกรมธุรกิจพลังงาน ว่าด้วยการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 เพื่อควบคุมการนำเข้าสารอันตรายจากยุค Toxic Policy (หรือควบคุมบางประเภทเท่านั้น) มาเป็นยุค Chemicals Policy เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การจัดการสารเคมีของโลก เทียบเท่ากับในยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย สวีเดน หรือแม้กระทั่งในเอเชียที่เริ่มออกกฎหมายควบคุมอย่างเป็นระบบแล้วอย่าง จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำทำเนียบรวบรวมสารเคมีที่มีอยู่เดิม และจะระบุสารเคมีตัวใหม่ที่แจ้งว่ามีความเป็นอันตรายหากใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปริมาณเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ต้องแจ้งให้ทราบ
          ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย ประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และ ผู้มีไว้ในครอบครอง จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้นำเข้าจะต้องระมัดระวังอย่างสูง เนื่องจากการนำเข้าหากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดทั้งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ และพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับในอัตราสูงถึง 4 เท่าของมูลค่าสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อสอบถามหน่วยงานควบคุมก่อนนำเข้าว่า สินค้าเคมีภัณฑ์ที่จะนำเข้าถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่
          ในขณะนี้พบว่าการยื่นหารือวัตถุอันตรายผ่านระบบตอบข้อหารือ มีกว่า 30,000 เรื่องต่อปี และในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบการตอบข้อหารือ ให้ครอบคลุมถึงวัตถุอันตราย ในความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้รับผิดชอบทั้งหมด และเพื่อปรับปรุงกฎหมายการควบคุมสารเคมีให้นำไปสู่การมีทำเนียบสารเคมีต่อไป
          ดังนั้น จึงได้ออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อควบคุมสารเดี่ยวและสารผสม ที่ยังไม่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่มีอยู่เดิม โดยควบคุมสารที่มีคุณสมบัติ 10 ประการ ประกอบด้วย 1. สารที่สามารถระเบิดได้ 2.สารไวไฟ 3.สารออกซิไดซ์ สารเปอร์ออกไซด์ 4.สารมีพิษ 5.สารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 6.สารกัดกร่อน 7.สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ 8.สารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง 9.สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม 10.สารก่อมะเร็ง
          โดยจะถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเหล่านี้ที่มีปริมาณ มากกว่า 1 ตัน ต้องทำการแจ้งข้อมูลความเป็นวัตถุอันตรายและสถานที่นำไปใช้งาน ให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบ ตามแบบ วอ./อก. 20 ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาระบบการหารือ และการรับแจ้งดังกล่าวและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงได้มีมติ เมื่อการประชุมครั้งที่ 19-1/2557 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ทำข้อตกลงในการเข้าถึงข้อมูลร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและการควบคุมสารเคมีของประเทศ
          สำหรับข้อมูลจากการแจ้งจะเป็นทำเนียบสารเคมีของประเทศ ซึ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณา กำหนดนโยบายการจัดการสารเคมี บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรการควบคุมได้อย่างเหมาะสม การกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดระบบเครือข่ายประกอบการวัตถุอันตรายเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต ทั้ง 6 หน่วยงาน (Single Form) ต่อไป อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 4 พ.ศ.2555-2565
           พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
          พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แบ่งการควบคุมสารเคมีออกเป็น 4 ชนิดได้แก่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งแต่ละชนิดมีความเข้มงวดในการควบคุมแตกต่างกันอย่างที่ทราบแล้ว และยังคงมี 3 กระทรวงเดิมเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมสารเคมีที่ออกประกาศควบคุม
          พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์มาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2551 มีการควบคุมวัตถุอันตรายมากกว่า 1,500 รายการ มีทั้งสารเดี่ยว สารผสม กลุ่มสารที่ควบคุมตามลักษณะการใช้ประโยชน์ และควบคุมตามคุณสมบัติของสารมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบจำนวน 6 หน่วยงาน 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงอุตสาหกรรมโดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน โดย กรมธุรกิจพลังงาน
          ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย ประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และ ผู้มีไว้ในครอบครอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้นำเข้าจะต้องระมัดระวังอย่างสูง เนื่องจากการนำเข้าหากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีความผิดทั้ง พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ และ พระราชบัญญัติศุลกากรฯ ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับในอัตราสูงถึงสี่เท่าของมูลค่าสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อสอบถามหน่วยงานควบคุมก่อนนำเข้าว่าสินค้าเคมีภัณฑ์ที่จะนำเข้า ถูกควบคุมเป็นวัตถุอันตรายหรือไม่ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่
          จากภาระการหารือที่เพิ่มขึ้นทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ดังที่กล่าวแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้พัฒนาระบบการตอบข้อหารือวัตถุอันตราย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งพบว่ามีการยื่นหารือผ่านระบบเป็นจำนวนมากกว่า 30,000 เรื่องต่อปี และในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบการตอบข้อหารือ ให้ครอบคลุมถึงวัตถุอันตราย ในความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้รับผิดชอบทั้งหมดและเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ หลายประเทศได้มีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายการควบคุมสารเคมี เพื่อนำไปสู่การมีทำเนียบสารเคมี ดังตัวอย่างเช่น
          กฎหมาย REACH ของ สหภาพยุโรป ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 กำหนดให้มีการจดทะเบียนสารที่ผลิต หรือนำเข้า ในปริมาณมากกว่า 1 ตันต่อปี โดยให้ยื่นข้อมูลทางเทคนิคของสาร เช่น ข้อมูลความเป็นอันตราย การนำไปใช้ รายงานความปลอดภัย เป็นต้นมีการประเมินอันตราย สำหรับสารที่ผลิต หรือนำเข้ามากกว่า 100 ตันต่อปี และสารที่มีความเป็นอันตรายสูง เช่น สารก่อมะเร็ง สารก่อกลายพันธุ์และ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ หรือเรียกว่า CMR และมีการอนุญาต การจำกัดการใช้ สารที่มีอันตรายสูง เช่น CMR, สารที่มีพิษตกค้างยาวนานเป็นต้น
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น