สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ทำงานเกี่ยวกับสารอันตรายต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม

ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่ยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศสอ.
วันที่: 15 พ.ค. 2558
 ข้อบังคับ-สารอันตราย
วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สชวท) ได้จัดสัมมนาเรื่อง การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2557 ขึ้นที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตรายได้รับทราบและทำความเข้าใจรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติตามข้อบังคับฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ที่จะถึงนี้

ข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2557 ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2551 โดย พ.ร.บ. นี้มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมและควบคุมการประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำหรับสาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตรายนี้เป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับการส่งเสริมคุ้มครอง (ตามกฎหมายใช้คำว่า “วิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม”) อีก 3 สาขาคือ สาขานิวเคลียร์ สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ และสาขาการเพาะเลี้ยงจุนลินทรีย์และการใช้จุนลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค

ในส่วนของข้อบังคับฯ ของสาขาการผลิต การควบคุมและการจัดการสารเคมีอันตรายได้กำหนดให้ลักษณะและประเภทของงานที่ผู้รับผิดชอบต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมไว้ดังนี้

ลักษณะงาน :
1.งานวิเคราะห์ตรวจสอบ ได้แก่ การปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ การศึกษาค้นคว้าการวิจัยข้อมูลและสถิติต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์หรือประกอบการตรวจสอบวินิจฉัย ในสาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย
2. งานออกแบบและการควบคุม ได้แก่ การออกแบบและการควบคุมการใช้สารเคมีอันตรายพร้อมทั้งการวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสม ให้ถูกต้องและปลอดภัย
3. งานอำนวยการ ได้แก่ การดูแลการจัดการสารเคมีอันตรายตามข้อ 1 และ 2
4. งานให้คำปรึกษา ได้แก่ การให้คำแนะนำ การให้ข้อมูล การตรวจวินิจฉัย และการรับรองการจัดการสารเคมีอันตรายตาม ข้อ 1  2 และ 3

ประเภทงาน:
1. การผลิต การใช้ การแปรรูป การบรรจุ การเก็บรักษา การบำบัด การขจัด หรือการปลดปล่อยสารเคมีอันตราย
2. การวิเคราะห์ การวิจัย การทดสอบ และการตรวจสอบสารเคมีอันตราย
3. การนำ เข้า การส่งออก การขนส่ง การขนถ่ายและการจัดการสารเคมีอันตรายและผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนผสม
4. การตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยทางเคมีของห้องปฏิบัติการ ยานพาหนะและบรรจุภัณฑ์

ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบงานตามลักษณะและประเภทข้างต้นต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมจึงจะประกอบการได้ สำหรับผู้ที่ประกอบการโดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รายละเอียดเพิ่มเติม
สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สชวท.) www.cstp.or.th
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น