สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ทำงานเกี่ยวกับรังสี เสี่ยงเป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 20 ก.พ. 2551

            กลุ่มงานประเมินค่าปริมาณรังสีจากภายในร่างกาย สำนักงานสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณู (สส.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดสัมมนาการสร้างความตระหนักเชิงรุกในการตรวจวัดปริมาณรังสีจากภายในร่างกาย สำหรับผู้ที่ทำงานกับสารรังสีชนิดไม่เปิดผนึกในเขตภาคกลาง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ โดยกำหนดจัดสัมมนาขึ้น 3 ครั้งคือครั้งที่ 1 วันที่ 18 - 19 กุมภาพันธ์ ครั้งที่ 2 วันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน และครั้งที่ 3 วันที่ 6 - 7 พฤษภาคม 2551
       
            ทั้งนี้ นางดารุณี พีขุนทด ผู้อำนวยการประเมินค่าปริมาณรังสีจากภายในร่างกาย ปส.ซึ่งเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจวัดปริมาณรังสีจากภายในร่างกายกล่าวถึงการจัดสัมมนาดังกล่าวว่า อยากให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารรังสีโดยเฉพาะที่ไม่ปิดผนึกนั้นได้ทราบถึงความสำคัญในการตรวจดูว่ามีสารรังสีเข้าสูร่างกายในปริมาณมากน้อยเพียงใด รวมถึงตรวจและประเมินเองได้คร่าวๆ ได้ว่าร่างกายได้รับผลกระทบจากรังสีไปเท่าไหร่ เนื่องจากถ้าไม่ตรวจจะไม่ทราบเลยว่ามีสารรังสีเข้าสู่ร่างกายหรือไม่เพราะประสาทไม่สามารถรับรู้ได้ ไม่ร้อน ไม่หนาว แต่รังสีจะทำลายอวัยวะเรื่อยๆ ซึ่งจะตรวจเจอเมื่อมีการทำลายมากแล้วถึงขั้นทำลายระบบโครโมโซมทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งได้
       
            "ผู้ที่ทำงานกับสารรังสีที่ไม่ปิดผนึกนั้นส่วนมากเป็นบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากและมีบุคลากรทางด้านศึกษาวิจัยอยู่น้อย โดยสารรังสีที่ใช้งานบ่อยๆ คือ ไอโอดีน - 131 ที่ใช้ในการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษซึ่งคนไข้ยินยอมที่จะได้รับรังสีอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ผู้ให้ยาแก้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับสารรังสีกล่าว จึงจำเป็นต้องตรวจดูว่าได้รับบ้างหรือไม่ โดยการใช้ยาผู้ป่วยนั้นเป็นแบบเปิดคือให้ผู้ป่วยกินซึ่งสารรังสีมีโอกาสฟุ้งกระจายและไอโอดีนก็ฟุ้งได้ง่าย"
       
            นางดารุณีกล่าวพร้อมระบุว่า ปส.เป็นแห่งเดียวในเมืองไทยที่สามารถตรวจวัดสารรังสีที่เข้าสู่ร่างกาย โดยมีขีดความสามารถวัดปริมาณรังสีที่เข้าสู่อวัยวะต่างๆ ได้ 10 นาทีต่อคน ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจวัดปริมาณสารรังสีให้กับบุคลากรภายในสำนักงานที่มีหน้าที่ผลิตสารไอโซโทป แต่บุคลากรภายนอกที่เกี่ยวข้องกับสารรังสีกลับไม่ได้ตรวจวัดเลย จึงจัดสัมมนาขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนัก
       
            ปริมาณรังสีในร่างกายที่บุคลากรซึ่งทำงานกับสารรังสีจะรับได้คือไม่เกินปีละ 20 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจากปริมาณที่จะรับได้ 100 มิลลิซีเวิร์ตในเวลา 5 ปี ซึ่งหากได้รับสารรังสีถึงปริมาณนี้ก็ไม่สามารถทำงานเกี่ยวกับสารรังสีได้อีก เนื่องจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมแล้วมีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งได้ โดยขีดจำกัดสูงสุดใน 1 ปีไม่ควรเกิน 50 มิลลิซีเวิร์ต และหากปีแรกได้รับสารรังสี 30 มิลลิซีเวิร์ต ปีถัดไปก็สามารถรับสารรังสีได้เพียง 10 มิลลิซีเวิร์ต
       
            ด้าน นางนันทวรรณ ยะอนันต์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งแห่งชาติ (สทน.) ซึ่งเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่าการทำงานของเธอนั้นต้องสัมผัสกับสารรังสีทุกชนิดนี้จากการจำกัดขยะที่เป็นสารรังสีซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลที่ใช้สารรังสีในการรักษาคนไข้ โดยจะคัดแยกตามความแรงรังสี ครึ่งชีวิต และสถานะของกากกัมมันตรังสีนั้นๆ ทั้งนี้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสารรังสีมีความจำเป็นต้องตระหนักและระวังในการป้องกันตัวเองจากสารรังสี และต้องตรวจปริมาณสารที่เข้าสู่ร่างกายเพื่อเป็นบันทึกการทำงานของคนที่ทำงานกับสารรังสีด้วย
       
            "แม้เราไม่ได้ทำงานในเหมืองซึ่งทำให้ได้รับสารรังสีจากธรรมชาติเป็นเวลานาน โดยเราป้องกันตัวเองอยู่แล้วในการทำงานแต่ก็ควรทราบวิธีในการตรวจ เพราะเป็นอันตรายที่มองไม่เห็น" นางนันทวรรณกล่าว


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Iodine
  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
บอกข่าวเล่าความ - โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แผ่รังสีอำมหิต เล่นงานเด็กบ้านใกล้ให้เป็นมะเร็ง
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

คงไม่มีความคิดเห็นแต่มีคำถาม
อยากรู้จังว่าไอโซโทปคืออะไร

โดย:  king  [14 ก.ค. 2553 18:41]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น