สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

ชาวเมืองมินามาตะให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
วันที่: 17 ก.พ. 2551

            ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดระยองว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมืองระยอง รองศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญคณะผู้บรรยายจากประเทศญี่ปุ่นกรณีเกิดโรคมินามาตะ เมืองแห่งมลพิษ มาให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชนมาบตาพุด 25 ชุมชน ชาวบ้านฉางและมีประชาชนเดินทางมาจาก อ.จะนะ จ.สงขลา มาร่วมรับฟังกว่า 100 คน โดยมีนายสมพงษ์ โสภณ นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุดและรองนายกฯ ร่วมรับฟังการบรรยาย
       
            คณะผู้บรรยายจากประเทศญี่ปุ่นได้แจกเอกสารแปลเป็นภาษาไทยจาก มาซาสีมิ โยชิอิ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมินามาตะ ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับโรคมินามาตะ ว่า เมืองมินามาตะ ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล หลังจากชาวบ้านป่วยเป็นโรคซึ่งมีอาการต่อระบบประสาทส่วนกลางจนในที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2499 เป็นวันค้นพบโรคดังกล่าวคือโรค มินามาตะ ผู้ป่วยจะมีอาการวิกลจริตอย่างอ่อนๆ ลิ้นแห้ง แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีอาการกระตุกตัวแข็ง จนกระทั่งแขนขาบิดงออย่างรุนแรง และเสียชีวิต
       
            ทางเมืองได้ประกาศสู่สาธารณชนทราบ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1956 สาเหตุมาจากน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทของโรงงานผลิตสารเคมี และเป็นโรงงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศญี่ปุ่น มีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ชาวบ้านที่บริโภคอาหารทะเลกลายเป็นเหยื่อโรคมินามาตะ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม
       
            จากมลพิษครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของโลก จนกระทั่งมีการปรับการสร้างเมืองมินามาตะเป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ป่วยกับการฟื้นฟูท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ซึ่งทางคณะผู้บรรยายอยากจะให้มีการนำประสบการณ์ของเมืองมินามาตะไปปรับใช้กับมาบตาพุด โดยหวังว่าจะมีประโยชน์กับชาวมาบตาพุด
       
            ด้านนายสมพงษ์ นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ได้ตั้งคำถามว่าปัจจุบันรูปแบบการจัดการปัญหาเรื่องมลภาวะที่เกิดขึ้น อย่างไร และนำไปใช้กับอุตสาหกรรมแห่งอื่นหรือไม่ และหลังเกิดเหตุการณ์ ในเรื่องของกฎหมายทางรัฐบาลกลางจะเข้ามารับผิดชอบ ทางมินามาตะดำเนินการไปถึงไหน ผลคดีมีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหามลภาวะเนื่องจากสารปรอทที่ทับถมบริเวณปากแม่น้ำ
       
            เนื่องจากได้ทำการขุดขึ้นมาฝังเทปูนซีเมนต์ทับ ด้านบนปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ ส่วนในทะเลอาจจะมีสารปรอทตกค้างอยู่บ้าง แต่อยู่ในขั้นที่ไม่เป็นอันตรายแล้ว ฝ่ายบริหารก็ยังมีการตรวจวัดค่าสารปรอทปีละ 2 ครั้ง มีการวัดในตัวคนพบว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ถ้าเทียบกับที่เมืองโตเกียว ปรากฏว่าเมืองโตเกียวมีค่าที่วัดได้มากกว่า 2 เท่านับว่าปลอดภัยแล้ว
       
            ส่วนเรื่องน้ำเสีย มีการตรวจเช็คอย่างเข้มงวดขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว
       
            สำหรับการจัดการมาตรการปัญหามลภาวะที่มินามาตะ ทำให้มีผลต่อที่อื่นด้วย เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับในการดูแลการปล่อยน้ำเสีย การปล่อยมลพิษ หลังเกิดเหตุการณ์รัฐบาลได้ออกกฎหมาย สิ่งแวดล้อมพื้นฐาน น้ำเสีย และมีการตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขึ้นมา นับว่าเป็นแห่งแรกของโลก ด้านประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น สนใจเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม หากท้องถิ่นไหนมีปัญหาเรื่องมลพิษ ประชาชนท้องถิ่นอื่นก็จะลุกขึ้นมาช่วยกัน ช่วงที่เกิดปัญหาโรคมินามาตะช่วงนั้นสื่อได้เสนอข่าวออกไปผิดๆ มาก เพราะขณะนั้นยังไม่ทราบว่าโรคเกิดจากอะไรจนมีเสียงล่ำลือว่าเป็นโรคนี้เป็นโรคติดต่อ ทำให้เสียชื่อเมืองมินามาตะ ประชาชนที่ป่วยก็จะถูกรังเกียจ
       
            สำหรับเรื่องความรับผิดชอบตกเป็นของบริษัทชิสโสะ ซึ่งปล่อยน้ำเสียออกมา ทางรัฐบาลกลางก็จะต้องรับผิดชอบเนื่องจากไม่มีการควบคุมความเสียหายให้อยู่ในวงแคบ ปล่อยปะละเลยทำให้มีความเสียหายมีมากกว่าที่ควรจะเป็น เดิมรัฐบาลกลางปฏิเสธมาตลอด ไม่มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ มีการฟ้องร้องยืดเยื้อกันมานานจนกระทั่งศาลสูงสุดของญี่ปุ่นตัดสินเมื่อปี 2004 ว่าทางส่วนจังหวัดและส่วนกลาง มีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ และจะมีความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่งของส่วนกลางในเรื่องระบบช่วยเหลือผู้ป่วย
       
            สำหรับจังหวัดระยอง เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง มีชุมชนอาศัยโดยรอบรวม 25 ชุมชน ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม มานานกว่า 25 ปี มีสภาพคล้ายเมืองมินามาตะ
       
            นายสุทธิ อัชฌาศัย แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่าโรงงานซิสโสะที่เป็นโรงเหล็กนั้น ท้ายสุดก็ยอมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดแต่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ถึง 50 ปี ส่วนที่มาบตาพุดตั้งแต่ 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 25 ปี เราหวั่นว่าจะเกิดซ้ำรอยเมืองมินามาตะ ถ้าหากไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ ซ้ำรอยเมืองมินามาตะ คนมาบตาพุดหรือคนระยองอาจจะถูกสบประมาทเยาะเย้ยแบบมินามาตะก็ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องเร่งและยอมรับปัญหาแก้ระบบการจัดการอย่างดีที่สุด หากจะมีการลงทุนเพิ่มก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี และต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เอาจริงกับโรงงานที่ทำผิด
       
            นายสุทธิ กล่าวว่าในเร็วๆ นี้จะมีการประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต.แม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง ซึ่งจะมีการตั้งโรงงานถลุงและหลอมเหล็ก ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วยและคัดค้านไม่ให้มีการก่อสร้าง


ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551


คณะผู้บรรยายที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น

ผู้นำและแกนนำชุมชนต่างๆ เข้ารับฟังการบรรยาย
  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Mercury
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น