สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
สารเคมีที่เป็นข่าวระดับโลก

กรมวิทย์ เผยผลตรวจกล่องอาหารพลาสติกสีดำ มีมาตรฐานทุกตัวอย่าง หลังอังกฤษตรวจพบสารโบรมีน ตะกั่ว ปนเปื้อน แนะเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารให้เหมาะกับคุณสมบัติของวัสดุ ได้มาตรฐาน

ผู้เขียน: ผู้จัดการออนไลน์
วันที่: 16 ต.ค. 2561

วันนี้ (7 ก.ย.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยของสหราชอาณาจักร ที่ตรวจพบสารโบรมีน ตะกั่ว พลวง ปนเปื้อนภาชนะใส่อาหารที่ทำจากพลาสติกสีดำเกินเกณฑ์ ว่า ประเทศไทยมีการกำกับดูแลความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำด้วยพลาสติก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ซึ่งพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน ได้แก่ สะอาด ไม่มีสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับอาหารในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร และต้องมีคุณภาพตามที่กำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติก และห้ามใช้พลาสติกที่ทำจากพลาสติกใช้แล้ว (พลาสติกรีไซเคิล) มาบรรจุอาหาร

ทั้งนี้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ภาชนะพลาสติกสีดำที่ใช้บรรจุอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการนำส่งเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) จำนวน 84 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ถาด ถุง ถ้วย กล่องทั่วไป และกล่องสำหรับใช้กับไมโครเวฟ กระบวย และตะหลิว ตรวจวิเคราะห์โลหะอันตราย เช่น ตะกั่ว แคดเมียม และตรวจการเคลื่อนย้ายของสารเคมี ที่อาจออกมาจากพลาสติก เช่น โลหะหนัก สารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ทุกตัวอย่างได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยในการใช้ภาชนะบรรจุอาหาร ประชาชนควรใช้ให้ถูกประเภท เหมาะกับคุณสมบัติของวัสดุ เช่น หากใส่อาหารร้อน ควรใช้พลาสติกชนิดทนความร้อนได้ และใช้พลาสติกแบบที่ทนความเย็นได้สำหรับอาหารแช่แข็ง หากต้องการใช้กับเตาไมโครเวฟ ควรเลือกชนิดที่รับรองว่า ใช้กับเตาไมโครเวฟ และเลือกใช้ของที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เช่น มีเครื่องหมาย มอก. มีฉลากแจ้งข้อมูลผู้ผลิต มีวิธีใช้ และจะต้องใช้งานให้ถูกวัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย เช่น ถุงใส่ขยะ กะละมังซักผ้า กระป๋องใส่สี ตะกร้าใส่ของ สิ่งเหล่านี้ห้ามนำมาใช้ใส่อาหาร

นอกจากนี้ ควรดูแลรักษา ล้าง ขัดถูอย่างระมัดระวัง ไม่ขูดทำลายผิวภาชนะ ซึ่งอาจทำให้เป็นที่สะสมของเศษอาหาร ควรล้างให้ดี ผึ่งให้แห้ง และต้องสังเกตภาชนะว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สีเปลี่ยนไปหรือไม่ มีรอยแตก ร้าว เปราะเสื่อมสภาพหรือไม่ ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจควรเปลี่ยนใหม่ดีกว่า

อ่านต่อได้ที่ : https://mgronline.com/qol/detail/9610000089776

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Lead
ของเสียประเภทกากสังกะสี (Zinc residues) ที่มีสารตะกั่วและแคดเมียม
 
  ข้อคิดเห็น
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น