กรีนพีซตรวจพบน้ำบาดาลปนเปื้อนสารไนเตรตเกินมาตรฐาน 3 เท่า ที่ จ.กาญจนบุรี เหตุใช้ปุ๋ยมาก คพ. เตือนประชาชนในพื้นที่งดบริโภคน้ำบาดาล อาจเสี่ยงเป็นมะเร็ง
น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า กรีนพีซได้ติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน โดยมุ่งไปที่การปนเปื้อนของสารไนเตรต เนื่องจากพบว่ามีแหล่งเกษตรกรรมหลายแห่งที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยกับพืชในปริมาณสูงเกินความจำเป็น
โดยเฉพาะพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และเชียงใหม่ และพบว่าในพื้นที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ที่ จ.กาญจนบุรี มีสารไนเตรตปนเปื้อนในน้ำบาดาลสูงเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 3 เท่า
น.ส.ณัฐวิภา กล่าวว่า ปริมาณไนเตรตสูงมีความสัมพันธ์กับข้อมูลที่เจ้าของแปลงหน่อไม้ฝรั่งบอกว่ามีการใช้ปุ๋ยมากกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี เพราะมีความเชื่อว่า ยิ่งใส่ปุ๋ยมากก็ยิ่งทำให้หน่อไม้ฝรั่งเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยและทดลองของกรีนพีซ มหาวิทยาลัยเอ็กเซ็ทเตอร์ ประเทศอังกฤษ ทำการศึกษาความเสี่ยงพบว่า จะทำให้เกิดโรค blue baby โดยเฉพาะในกลุ่มทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน ที่ดื่มน้ำปนเปื้อนสารไนเตรต มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ ทำให้เกิดอาการผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เนื่องจากขาดออกซิเจน ปวดหัว มึนงง อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หมดสติ กล้ามเนื้อเกร็ง หายใจติดขัด และอาจเสียชีวิตได้ และยังทำให้เกิดโรคมะเร็งด้วย ทั้งนี้ กรีนพีซต้องการให้กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป
นายอนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เพิ่งทราบข้อมูลการตรวจสอบของกรีนพีซ โดย คพ.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในเร็วๆ นี้ เพราะน่าเป็นห่วงว่า หากมีการปนเปื้อนไนเตรตในบ่อบาดาลสูงมาก และชาวบ้านยังบริโภคอยู่ โดยเฉพาะเด็กอ่อนจะมีอันตรายมาก จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่งดการบริโภคน้ำบาดาลไปก่อน
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 |