สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย

ตลาดสหภาพยุโรป - ความหวังของการส่งออกของไทยภายใต้ระเบียบ REACH

ผู้เขียน: รศ.สุชาตา ชินะจิตร
หน่วยงาน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 14 ก.ค. 2551

            ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไปขายในสหภาพยุโรปหรือ EU คุ้นเคยกับระเบียบมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย  ที่เริ่มมีการออกบังคับใช้เป็นระยะๆ ตามกลุ่มสินค้า  ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2002 มีระเบียบการจัดการซากยานยนต์ (End of Life Vehicle) เพื่อกำหนดสัดส่วนของการนำกลับมาใช้ การรีไซเคิล และเรียกคืนซาก  ต่อมาปี ค.ศ.2005 มีระเบียบว่าด้วยเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่รู้จักกันในชื่อระเบียบ WEEE ( Waste from Electrical and Electronic Equipment) ควบคู่กับระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ RoHs (Restriction of Use of Certain Hazardous Substances) และระเบียบที่เกี่ยวกับการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจกับสินค้าทุกชนิดที่ใช้พลังงาน  สำหรับระเบียบ REACH (Registration, Evaluation, Authorization of Chemicals) ที่เพิ่งออกบังคับใช้เมื่อ 1 มิถุนายน 2550 นับเป็นนวัตกรรมด้านระเบียบที่เกิดจากการนำสาระสำคัญของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่เดิมกว่า 40 ฉบับมาปรับปรุง  โดยไม่ให้มีความซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกับกฎหมายควบคุมสารเคมีอื่นๆ อีกหลายฉบับที่ยังบังคับใช้อยู่  วัตถุประสงค์หลักของกฎหมาย REACH ก็เพื่อคุ้มครองสุขอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากความเสี่ยงต่ออันตรายจากสารเคมี  และเพื่อดำรงส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเคมีของสหภาพยุโรป  ความชาญฉลาดของระบบ REACH คือ การผลักภาระความรับผิดชอบหลักไปสู่ผู้ประกอบการในการจัดการความเสี่ยง  ทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารเคมีไปในสหภาพยุโรป  ต้องให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับความเสี่ยงเพื่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย  ในขณะที่ร่างกฎหมายก็ได้มีการออกแบบระบบและเส้นทางเดินของเรื่องต่างๆ ไว้แล้วว่า  ผู้ประกอบการต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อไร บทบาทของใครอยู่ตรงไหน  โดยมีการเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้าได้ในช่วงระหว่าง 1 มิถุนายน 2550 ถึง 1 ธันวาคม 2551 หากพ้นกำหนดไปแล้ว  ถ้าไม่มีข้อมูลสารเคมีหรือแจ้งจดไว้ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหากผู้ประกอบการไทยอยู่ในส่วนหนึ่งส่วนใดของสายโซ่อุปทาน

            นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 ที่มีการแจ้งจาก สุภัฒ สงวนดีกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์)  ขณะนั้นว่า REACH กำลังจะกลายเป็นกฎหมายที่มีผลให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในสหภาพยุโรปต้องปรับตัวครั้งใหญ่ทีเดียว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็ได้สนับสนุนนักวิจัยกลุ่มหนึ่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์บริการ เฝ้าติดตามทำความเข้าใจกับระเบียบนี้และเผยแพร่เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการ  ( http://www.chemtrack.org/reachwatch/ หรือ http://siweb.dss.go.th/reach/) สนับสนุนให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอศึกษาผลกระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้สัมผัสและมองเห็นสถานการณ์และบรรยากาศที่เปลี่ยนไปดังนี้  ในช่วง 3-4 ปีก่อนเป็นการยากที่จะสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องหันมาเริ่มคิดเริ่มทำ แต่ด้วยความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคประกอบ  ทำให้ผู้ประกอบการเชื่อหรือถูกทำให้เชื่อว่าระเบียบนี้ไม่เกี่ยวกับตนเพราะตนไม่ได้ผลิตหรือขายสารเคมี  และที่ได้ยินบ่อยๆ แม้แต่จากคนที่มาจากสหภาพยุโรปเองก็บอกว่าไม่น่าจะกระทบไทย   เพราะระเบียบนี้ใช้บังคับกับประเทศสมาชิกเท่านั้น  แต่เขาลืมพูดต่อว่าถ้าคุณค้าขายกับสหภาพยุโรป   และใช้สารเคมีที่อยู่ในข่ายของ REACH ซึ่งอาจต้องแจ้ง  หรือต้องเตรียมข้อมูลที่ต้องใช้เป็นใบเบิกทางสู่ตลาดสหภาพยุโรปไว้   ยิ่งกว่านั้นความซับซ้อนและข้อกำหนดมากมายก็ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึง  อีกทั้งยังกำหนดให้การขึ้นทะเบียนสารเคมีต้องทำผ่านตัวแทนหรือ Only Representative เรียกย่อๆ ว่า OR ซึ่งต้องมีถิ่นพำนักในสหภาพยุโรปเท่านั้น  แล้วเขาก็ลืมบอกเราเหมือนอย่างที่เขาพูดกันในสหภาพยุโรปว่า REACH หมายถึง No Data No Market

            ดังนั้นสภาพและบรรยากาศ ณ ตอนนี้จึงถือว่าหมดช่วงเวลาสร้างความตระหนักรู้ไปแล้ว  ประเด็นร้อนคือ เราจะจดทะเบียนล่วงหน้าสารเคมีได้อย่างไรถ้าเรายังไม่รู้ว่าใช้อะไรอยู่ ซื้อมาจากไหน มีข้อมูลที่จำเป็นหรือยัง ที่สำคัญคืออยู่ในเงื่อนไขใดของ REACH หรือไม่  เมื่อ 3 ปีก่อนเขาบอกว่าเราไม่น่าจะเกี่ยวเพราะไม่ใช่ประเทศภาคีสมาชิก  แต่ ณ วันนี้ ธุรกิจใหม่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา  สำนักกฎหมายหรือ OR ผู้ที่จะทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสารเคมีที่เดินกันขวักไขว่มากขึ้นในเมืองไทยล้วนเป็นชาวต่างประเทศทั้งสิ้น จากการติดตามทางเว็บไซด์พบว่าแต่ละแห่ง บริษัท “OR” เกิดขึ้นนับร้อย มีอัตราค่าบริการหลากหลายชนิดที่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถทำได้  เช่น ค่าดำเนินการในการจดทะเบียนต่อสาร 1 ตัวอยู่ระหว่าง 150-300 เหรียญยูโร  นอกจากนี้ยังจะมีธุรกิจขายและแลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกิจด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ  และอาจถึงขั้นธุรกิจพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการจัดการอะไรบางอย่าง  ซึ่งล้วนหมายถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายในโครงสร้างต้นทุนทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ REACH บอกว่าช่วงการจดทะเบียนล่วงหน้านี้ไม่มีค่าธรรมเนียม  แต่ไม่ได้บอกต่อไปว่าก่อนหน้านั้นต้องไปช่วยตัวเองจ่ายค่าจ้าง OR หรืออื่นๆ ปัญหาของเราไม่ได้อยู่ที่ “เขาบอกว่า” เท่านั้นแต่เราไม่คิดต่อและมองให้เชื่อมโยงจนครบวงจร  เพื่อวางตำแหน่งของตัวเองให้ถูกต้อง

                        จากข้อมูลที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม  ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 1-2 ปี ผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มเข้าใจและเห็นปัญหาแล้ว  มีการตั้งหน่วย REACH ขึ้นภายใน  มีการมองหาวิธีการหรือหา OR มาช่วย  บริษัทที่เป็นเครือข่ายกับต่างประเทศมักจะเตรียมความพร้อมไปได้ก่อนแล้ว  ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับทราบจากการสัมมนาเริ่มขยับตามคำแนะนำ  หลายรายเพิ่งจะเริ่มรู้ว่าที่มีการขอข้อมูลจากลูกค้านั้นคงจะเกี่ยวกับ REACH ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อเริ่มดำเนินการจดทะเบียนสารชนิดเดียวกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย เมื่อเข้าไปในกลุ่มจะสามารถทราบว่ามีใครจดทะเบียนสารตัวเดียวกันบ้างในสหภาพยุโรป   จะได้มีโอกาสเข้าไปต่อรองการใช้ข้อมูลและค่าใช้จ่ายด้วย จะเห็นได้ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องอาศัยผู้ชำนาญการจากหลายด้านทำงานเป็นทีม มีทั้งนักเคมี นักพิษวิทยา นักพิษนิเวศ นักเทคโนโลยีสารสนเทศ นักกฎหมาย นักเจรจา นักการตลาด ฯลฯ สำคัญที่สุดคือผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายของธุรกิจนั้นๆ

            อย่างไรก็ดีเราต้องยอมรับว่าสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  โดยออกเป็นกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักการที่ดีชนิดเทียบไม่ได้  และใช้กฎหมายเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น กรณีระเบียบ RoHs ที่จำกัดการใช้สารอันตรายไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ บัดนี้เครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายก็สามารถงดการใช้สารอันตรายดังกล่าวได้แล้ว ดังนั้นหากเรามองว่า REACH คือโอกาส  ผู้ประกอบการไทยจะรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองได้อย่างไร การปรับตัวภายในเองก็จะทำให้ธุรกิจไม่สะดุด  และถ้าสามารถยกระดับมาตรฐานของซัพพลายเชนได้  ก็จะคงความอยู่รอดของ SME ไปด้วยได้  ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในสายโซ่อุปทานนั้น เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตสารเคมีรายใหญ่ทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่มสหภาพยุโรปจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  และต้องผลักภาระให้ผู้ผลิตสินค้า ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการไทยรวมอยู่ด้วย  ผู้ผลิตสารเคมีรายเล็กอาจผันตัวไปเป็นผู้นำเข้าสารเคมีจากผู้ผลิตรายใหญ่  เพราะไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปได้  มีแนวโน้มที่จะนำสารเคมีที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกสู่ตลาดมากขึ้น  ผลต่อผู้ประกอบการไทย คือ การหาซื้อสารเคมีที่เคยใช้อาจต้องปรับเปลี่ยนจากเดิม  และอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตด้วยเมื่อสารที่ใช้เปลี่ยนไป  ผู้ผลิตสินค้าส่งสหภาพยุโรปจะมีผลกระทบสูงหรือไม่  ขึ้นอยู่กับสัดส่วนต้นทุนสารเคมีในต้นทุนการผลิตทั้งหมด  ขณะที่ภาระอื่นจะกระทบมากเนื่องจากขาดการเตรียมการด้านองค์ความรู้ด้านการจัดการ ด้านการทดสอบและวิจัย รวมถึงด้านการจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้า  และการยื่นขอจดทะเบียนสารเคมีในสินค้า 

            หลักการของ REACH ได้ผลักภาระให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสารเคมีต้องดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม  ภาครัฐของญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เชื่อว่า REACH มีอิทธิพลและส่งผลต่อระบบควบคุมสารเคมีของเอเชียแน่ๆ จึงได้มีการขยับตัวปรับปรุงข้อกำหนดและมาตรการภายในของตนไปแล้ว  ภาครัฐของไทยก็สามารถใช้ REACH เป็นโอกาสมาสังคายนาระเบียบมาตรการการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายในบ้านเรา   โดยใช้หลักการหรือปรัชญาเดียวกัน  แผนการจัดการสารเคมีจึงมิได้มีเฉพาะส่วนของความปลอดภัยเท่านั้น  ยังกินความไปถึงความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยในตลาดยุโรปด้วย

  เนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง:
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - REACH ระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - อุปสรรคของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้ระเบียบ REACH ของสหภาพยุโรป
เคมีทรรศนะเชิงนโยบาย - REACH  เรื่องของใคร ?
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

http://en.wikipedia.org/wiki/CAS_registry_number        CAS Registry Number        
http://www.cas.org/expertise/cascontent/registry/regsys.html        
http://en.wikipedia.org/wiki/EC_number_(chemistry)        EC Number  ( Chemistry )        
http://msds.chem.ox.ac.uk/eu_to_cas_converter.html        Cross-Referencing List of EU Numbers and CAS Numbers

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:21]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

http://www.chemtrack.org/ReachWatch/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reach/

http://www.chemtrack.org/ReachCoach/        หรือ         http://siweb.dss.go.th/reachcoach/

โดย:  นักเคมี  [1 ส.ค. 2552 08:27]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น