รศ.ดร. วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกูล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในการศึกษาพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาจากจุลินทรีย์ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในโครงการผลิตเอทานอลจากพืชที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ เปิดเผยถึงการใช้พลังงานในบ้านเราว่า มีการใช้กันหลายประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเบนซินเริ่มจากเบนซิน ๙๑ เบนซิน ๙๕ แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันที่นับวันจะแพงมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการผลิตแก๊สโซฮอล์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยแก๊สโซฮอล์ จะเป็นสารผสมระหว่างน้ำมันเบนซินกับเอทานอล ซึ่งผลิตได้จากน้ำตาลอ้อยในประเทศไทย และจากข้าวโพดในอเมริกา แต่เดิมประเทศไทยใช้น้ำมันเบนซินที่มีการเติมสารเพิ่มค่าออกเทน เช่น สาร MTBE ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแก๊สโซฮอล์ขึ้นโดยการเติมเอทานอลซึ่งสามารถผลิตในประเทศผสมลงไปในน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนต่างๆ เช่น หากเป็นแก๊สโซออล์ ๙๐ หมายถึง มีการเติมเอทานอลลงไปผสมในเบนซิน ๑๐% จากการที่ผลิตเอทานอลได้เองในประเทศ จึงเกิดความสนใจที่จะนำเอาเอทานอลมาผสมเพิ่มเข้าไปในเบนซินทีละน้อยซึ่งช่วยให้เราประหยัดในการนำเข้าน้ำมันเบนซินจากต่างประเทศ พลังงานทดแทนดังกล่าว ได้แก่ E-20 ซึ่งหมายถึงน้ำมันที่มีสารผสมระหว่างเบนซิน ๘๐% เอทานอล ที่ได้จากพืช ๒๐% และ E-85 ซึ่งเป็นสารผสมระหว่างเบนซิน ๑๕% เอทานอล ๘๕% ผู้ที่สนใจจะหันมาใช้ E-85 จะต้องดูที่เครื่องยนต์ก่อนเป็นอันดับแรก คือรถที่ผลิตเพื่อใช้กับน้ำมันเบนซินเพียงอย่างเดียวยังไม่ควรใช้ E-85 ต้องเป็นรถใหม่ที่ปรับเครื่องและอะไหล่ให้เหมาะสมกับปริมาณของเอทานอลที่เพิ่มขึ้น และต้องเป็นรถที่ออกแบบมาใช้กับ E-85 โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามรถที่ใช้แก๊สโซฮอล์บางรุ่นก็อาจสามารถปรับมาใช้ E-85 ได้ แต่บริษัทรถที่ผลิตต้องระบุยืนยันและปรับเปลี่ยนอะไหล่บางส่วนให้เหมาะกับการใช้ E-85 ในขณะที่รถญี่ปุ่นยังไม่มีการผลิตเพื่อรองรับ E-85 เพราะจะเน้นในเรื่องรถยนต์อีโคคาร์เพื่อประหยัดน้ำมันมากกว่า ส่วนรถเก่าที่ผลิตเพื่อใช้เฉพาะกับเบนซินทุกรุ่นไม่เหมาะสมกับการใช้ E-85 ในส่วนของรถที่บริษัทผู้ผลิตรับรองการใช้กับแก๊สโซฮอล์ได้ จะต้องเป็นผู้ยืนยันรับรองหรือการปรับเปลี่ยนอะไหล่บางส่วนเพื่อใช้กับ E-85 เสียก่อน
ในเชิงเศรษฐกิจถ้ามีการสนับสนุนให้มีการใช้ E-85 อย่างจริงจัง รัฐบาลควรหารถที่ใช้กับ E-85 ที่มีราคาเท่าเทียมกับรถที่เติมแก๊สโซฮอล์หรือ E-20 รถเก่าที่ใช้อยู่ก็ต้องได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตเพราะแต่ละรุ่นจะมีอะไหล่แตกต่างกันซึ่งความแตกต่างอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ที่มีความแตกต่างจากเบนซินซึ่งยังไม่พร้อมรองรับกับการใช้เอทานอลเกิน ๕๐% ความแตกต่างระหว่างเบนซิน กับ E-85 จะสิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าเบนซินเล็กน้อย ในขณะที่อัตราการเร่งการขับเคลื่อนไม่แตกต่างกัน รถยนต์ที่ใช้ E-85 จะทำให้เครื่องแรงขึ้น เนื่องจากมีค่าออกเทนสูงขึ้น เครื่องยนต์สะอาด แต่น้ำมัน E-85 จะระเหยเร็วกว่าเนื่องจากมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า ฉะนั้นถังเก็บเชื้อเพลิงก็จะต้องมีความเฉพาะพิเศษเนื่องจากเอทานอลเป็นตัวทำละลายทำให้ระเหยได้ง่าย หัวฉีดท่อวาวล์ต่างๆ ที่เป็นยางก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ผสมลงไป
สุดท้าย รศ.ดร.วรวุฒิ กล่าวถึงข้อดีของการใช้พลังงานทดแทนว่า พลังงานทดแทนเป็นพลังงานที่ได้จากสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืชจึงส่งผลดีต่อสุขภาพมนุษย์มากที่สุด การปล่อยแก๊สที่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจะน้อยมาก พืชสามารถนำก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก กลับไปใช้ประโยชน์ได้หมดหรือเหลือน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันเบนซินซึ่งผลิตก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์มากจนพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ดังนั้นการใช้พลังงานทดแทนนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของตนเองแล้วยังประหยัดเงิน เกษตรกรมีงานเพิ่มขึ้นภาระหนี้ของครัวเรือนลดต่ำลง ถ้าเราผลิตใช้กับเครื่องยนต์ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศได้มาก ประเทศไทยก็จะไม่เสียดุลการค้าจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
ที่มาของข้อมูล : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.chula.ac.th |