สนับสนุนโดย    
สนับสนุนโดย    
   
สนับสนุนโดย    
บอกข่าวเล่าความ

จุลินทรีย์ ตัวช่วยต้นไม้สู้โลกร้อน

ผู้เขียน: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่: 4 มิ.ย. 2552

            ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อระบบการเพาะปลูกของประเทศไทย โดยตรงด้วยอุณหภูมิที่แปรปรวน และโดยทางอ้อมต่อปริมาณน้ำฝนและธาตุอาหาร โดยเฉพาะเมื่อฝนแล้งพืชจะดูดธาตุอาหารจากดินได้ยากขึ้น หากมีการจัดการในระบบเกษตรนิเวศให้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลงก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้ทางหนึ่ง

            ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่กลุ่มวิจัยทรัพยากรพันธุกรรมและธาตุอาหารพืช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำโดย ศ.ดร. เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่ได้ศึกษาถึงจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพากับพืช และพบว่าทั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่อยู่ร่วมกับพืชในท้องถิ่นหลายชนิด สามารถช่วยสู้โลกร้อนได้ทั้งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยพืชดูดน้ำดูดอาหารในดินเลวยามที่เกิดแล้ง

            จุลินทรีย์ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ มีทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย เชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่าที่อยู่ร่วมกับไม้พื้นเมืองโตเร็วซึ่งเป็นพืชบำรุงดินในที่สูง เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่าต้นปะดะ หรือตีนเต้า หรือตองเต้า ช่วยในการสะสมธาตุอาหาร ประชากรของเชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่าพื้นเมืองที่หลากหลาย ช่วยให้ต้นปะดะเจริญเติบโตได้ดี เท่ากับดินที่อุดมด้วยฟอสฟอรัส และดีกว่าเมื่อไม่มีเชื้อ และขาดฟอสฟอรัส ทำให้ป่าในพื้นที่ที่มีดินเลวฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสะสมมวลชีวะได้มากกว่าที่ไม่มีตัวช่วยถึงหนึ่งเท่าตัว

            ศ.ดร. เบญจวรรณ กล่าวว่า จุลินทรีย์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต้นอ้อย ซึ่งสามารถดึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยอ้อยได้ จึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนในอ้อยให้เหลือเพียงหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ของที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ อ้อยเป็นพืชพลังงานที่หลายคนหวังว่าจะช่วยลดการเผาผลาญพลังงานปิโตรเลียมได้ส่วนหนึ่ง การลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอ้อยนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตพลังงานเอทานอลแล้ว ยังจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งมีฤทธิ์ในการก่อภาวะเรือนกระจกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 320 เท่า

            ในชั้นต้นนี้กลุ่มวิจัยฯ กำลังพัฒนาระบบการคัดเลือกท่อนพันธุ์อ้อย ให้มีความสามารถสูงในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และร่วมมือกับโครงการปรับปรุงพันธุ์อ้อย เพื่อคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ประหยัดปุ๋ยไนโตรเจนและช่วยลดโลกร้อนไปพร้อมๆ กับการเลือกลักษณะดีอื่นๆ เช่น การให้ผลผลิตน้ำตาลสูง ทนต่อโรคและแมลงสำคัญ และการปรับตัวต่อพื้นที่ปลูกเฉพาะถิ่น

            การปรับระบบการเพาะปลูกเพื่อสู้โลกร้อนอีกทางหนึ่ง คือ การลดผลกระทบจากภูมิอากาศที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มวิจัยฯ ได้พบว่าเชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่า ช่วยให้ต้นกล้าไม้ยืนต้นหลายชนิด ตั้งแต่พืชในตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว ส้มโอ ตลอดจนกาแฟ และยางพารา เจริญเติบโตได้ดี นอกจากทำให้กล้าไม้โตเร็วแล้ว เชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่าที่อยู่ตามรากจะมีส่วนช่วยในการดูดน้ำและอาหาร ช่วยการตั้งตัวและอยู่รอดเมื่อนำกล้าออกลงปลูกในแปลง และช่วยให้ต้นไม้ทนต่อการขาดน้ำและขาดธาตุอาหารในยามฝนแล้งในปีต่อๆไป

            การผลิตหัวเชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่าเพื่อใช้ในการเพาะกล้าไม้ทำได้ง่ายๆ ในรากของพืชพื้นบ้านหลายชนิดที่ให้ผลดีไม่ต่างจากรากของต้นปะดะ ที่แม้จะปลูกยากเล็กน้อย เพราะเมล็ดงอกยากและต้นกล้าโตช้า แต่มีข้อดีคือเป็นไม้ยืนต้น อยู่ได้หลายปี อีกทั้งใบยังเป็นปุ๋ยอย่างดีด้วย เช่น ไมยราบเลื้อย หรือ ถั่วพุ่ม แต่บางพืชก็อาจไม่เหมาะสำหรับใช้ผลิตหัวเชื้อสำหรับเพาะกล้าไม้บางชนิด เช่น หัวเชื้อที่ผลิตในรากลูกเดือยไม่เหมาะกับกล้ายางพารา เพราะให้ผลแทบจะไม่ต่างจากการไม่ได้ปลูกเชื้อ จึงจำเป็นต้องทดลองก่อนว่าพืชชนิดใดเหมาะกับการผลิตกล้าของไม้ชนิดใด สำหรับภาคเหนือ ไมยราบเลื้อยที่ขึ้นอยู่ดาษดื่นนับว่ามีศักยภาพในการผลิตหัวเชื้อดีมากอย่างหนึ่ง เพราะหาง่าย ขึ้นง่ายติดเชื้อเร็ว และสร้างสปอร์ของสายพันธุ์เชื้อราที่หลากหลาย

            ประเทศไทยร่ำรวยทรัพยากรพันธุกรรมทั้งพืชและจุลินทรีย์ที่รอให้นำมาใช้ เพียงแต่ตัวช่วยอาจซ่อนเร้นอยู่ไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด เหมือนในกรณีของเชื้อราอาร์บัสคูล่าร์ไมโคไรซ่า ที่ช่วยดูดน้ำดูดธาตุอาหาร หรือแบคทีเรียที่ดูดไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นปุ๋ยอ้อยได้โดยไม่ต้องซื้อ ความรู้วิชาการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของเรา จึงสำคัญยิ่งในการปรับระบบการเพาะปลูกของประเทศในยุคโลกร้อน ศ.ดร. เบญจวรรณ กล่าวสรุป

ที่มาของข้อมูล : ฝ่ายงานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย www.trf.or.th

  สารเคมีที่เกี่ยวข้อง:
Carbon dioxide
Ethyl alcohol
Nitrogen
Nitrous oxide
Phosphorus
 
  ข้อคิดเห็น
   
ข้อคิดเห็นที่ 1:1

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม บางทีผมเองก็แปลกใจว่าทำไมคนที่เกี่ยวข้องและคนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายจึงไม่ช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่เขาคือผู้ทำลาย เช่น เหมืองแร่โรงปูน บริษัทนำเข้าสารเคมี โฟมทุกชนิด พลาสติคทุกอย่าง แต่วันนี้ไม่ต้องโทษใครแล้ว เราทุกคนต้องร่วมแรงกันแล้ว เพื่อฝ่าออกไป ไม่ต้องบอกให้ไครทำ เริ่มที่ตัวเราก่อนแล้วทุกอย่างจะกลับคืน

วันนี้ผมเองเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาศร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ผมก็เรียนแค่ป.4 แต่ผมห่วงสิ่งแวดลอ้ม ห่วงลูกหลานวันหน้า สิ่งที่หลายคนคิดวันนี้คือกลัวน้ำมันแพง น้ำมันหมดโลก แต่สิ่งที่ผมกลัว คือ พวกเราที่อยู่ในโลกนี้ไม่มีน้ำกินต้องซื้อน้ำกิน หรือต้องแบ่งปันน้ำกันกินเพราะน้ำที่เรามีมันกินไม่ได้เพราะมีสารเคมี วันนี้ผมจึงมีแนวความคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง และไม่โยนความรับผิดชอบให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง

ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ก็ขอให้ปลูกไม้ที่มีชีวิตยาวนาน เช่น ไม้ยางนา ให้ปลูกจากต้นเล็กอย่าขุดจากต้นใหญ่ไปปลูก เพราะถ้าขุดต้นใหญ่ไปปลูกรากแก้วไม่มีพอเมื่อโดนลมแรงก็อาจล้มได้ ไม้ยางนาเป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่ให้ความร่มเย็นได้ดี มีอายุยาวนาน เคยมีหลายคนบอกว่า ถ้าปลูกไม้ยางนาก็คงรุ่นเหลนนั่นแหละถึงจะได้ใช้ แต่ผิดกับความคิดของผมอย่างสิ้นเชิง  เพราะตอนนี้ผมมีไม้ยางนาเกินหมื่นต้นไปแล้วทั้งไม้สักไม้ตะเคียนไม้มะค่า และไม้หายากอีกเป็นร้อยชนิดได้ (เดาเอานะ) เพราะที่จริงก็ห้าหน้ากระดาษเอสี่ ผมอยากเสนอให้ทุกคนช่วยกันสร้างอนาคตให้ลูกหลานของเราใหม่อย่างนี้แหละครับ

โดย:  เนียม บุญรมย์  [25 ส.ค. 2552 10:30]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 2:2

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม
ผมมีจุลินทรีย์มาเเนะนำ  อะนา-อี พลัส
เป็นจุลินทรีย์ ช่วยขจัดกลิ่น ไขมัน น้ำเสีย ใช้ขจัดกลิ่นที่เกิดทำตามธรรมชาติ เช่น ตลาดสด ห้องน้ำ กองขยะ
เเละสุดท้ายนี้ ดูละเอียดได้ที่ www.maximizeinter.com คับ


โดย:  นัด  [18 ก.พ. 2553 13:54]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 3:3

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม
แต่เซ็งพวกชอบมั่วเข้ามาโฆษณาขายของ

โดย:  SENG  [27 มี.ค. 2553 04:09]
 
   
ข้อคิดเห็นที่ 4:4

เห็นหัวข้อน้อยแต่มีคนสนใจ ผมยินดีแทนโลกด้วยผมคนหนึ่งชอบปลูกต้นไม้ไม่ต้องให้ใครมารณณรงค์ เพื่อโน้นเพื่อนี้หรอกครับ ขอให้มันมีในจิตรสำนึก ลึกๆอย่างน้อยก้เพื่อตัวเอง เพื่อผู้อื่น และสุดท้ายมันก็เพื่อโลกเรานี้เอง FOR WORLD FOE LIFE

โดย:  รุ่งศักดิ์  [7 ก.ย. 2553 09:44]
 
   

ขอเชิญร่วมแสดงข้อคิดเห็น